สภาพคล่องที่ล้นโลก

สภาพคล่องที่ล้นโลก

ในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงนาย Mark Carney ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาที่กำลังจะมารับตำแหน่งใหม่เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ

ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยสรุปว่ารัฐบาลอังกฤษมองว่านาย Carney มีความสามารถที่โดดเด่นอย่างยิ่งและจะเป็นผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของอังกฤษ

จากการติดตามการดำเนินการของธนาคารกลางอังกฤษที่ใช้นโยบายการเงินที่อิงเป้าเงินเฟ้อ (inflation targeting หรือไอที) โดยผู้ว่าการธนาคารกลางคนปัจจุบันคือ Sir Mervyn King นั้นก็ต้องยอมรับว่าได้ดำเนินนโยบายในกรอบของไอทีอย่างยืดหยุ่นมากอยู่แล้ว กล่าวคืออังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ที่ทำการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล (หรือที่เรียกกันว่าคิวอี) พร้อมไปกับการลดดอกเบี้ยต่ำลงใกล้ศูนย์ แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอังกฤษก็ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างไม่ลดละ ผมคิดว่ารัฐบาลอังกฤษคงต้องการให้นาย Carney เข้ามาหาแนวทางที่จะทำให้นโยบายการเงินของอังกฤษผ่อนปรนมากกว่านี้ ซึ่งเข้าใจว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษมองไม่เห็นว่าจะทำอะไรได้มากกว่าการลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์และการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 375,000 ล้านปอนด์และสัญญาว่าจะคงปริมาณดังกล่าวเอาไว้ (พันธบัตรที่หมดอายุจะถูกนำไปต่ออายุเพื่อคงปริมาณซื้อเอาไว้) ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงถึง 25% ของจีดีพีของอังกฤษสูงกว่าคิวอีของสหรัฐที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 13% ของจีดีพีสหรัฐ

นาย Carney กล่าวกับรัฐสภาอังกฤษว่านโยบายไอทีที่ยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) เป็นนโยบายที่พิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพที่สูง ดังนั้น การยกเลิกนโยบายดังกล่าวจึงไม่น่าจะทำได้โดยง่าย (ทั้งนี้เป็นการ “ถอย” จากการที่เขาเคยกล่าวที่ World Economic Forum เมื่อปลายปีที่แล้วเกี่ยวกับข้อดีของการเปลี่ยนเป้านโยบายการเงินจากเงินเฟ้อมาเป็นจีดีพีที่รวมเงินเฟ้อ) คำถามคือความยืดหยุ่นที่นาย Carney กล่าวถึงนั้นหมายถึงอะไร กล่าวคืออะไรจะยืดหยุ่นยิ่งกว่าการพิมพ์เงินเป็นจำนวนมากเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล

ตรงนี้นาย Carney น่าจะหมายถึงการผูกคิวอีเอาไว้กับตัวแปรทางเศรษฐกิจบางตัว เช่นที่นาย เบอร์นันเก้ผู้ว่าการธนาคารสหรัฐผูกคิวอีเอาไว้กับสภาวะการจ้างงาน กล่าวคือตราบใดที่การจ้างงานไม่ดีขึ้นจนเป็นที่พอใจของธนาคารกลาง ก็จะไม่มีการลดคิวอีหรือปรับขึ้นดอกเบี้ย การผูกนโยบายการเงินไปในอนาคตหลายปีโดยไม่มีกรอบเวลา (เพราะไม่ทราบว่าการจ้างงานจะดีขึ้นเมื่อใด) เป็นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของอังกฤษยังไม่ยอมทำ กล่าวคือ กนง. อังกฤษยอมพิมพ์เงินแต่ไม่ยอมให้คำมั่นกับตลาดและนักลงทุนว่าจะคงสภาวการณ์เช่นนี้ไปในอนาคตอีกหลายปี ซึ่งผมเข้าใจว่านาย Carney คงจะถูกว่าจ้างมาเพื่อโน้มน้าวให้ กนง. อังกฤษยอมคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกับที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังทำอยู่ เรื่องนี้น่าสนใจมากว่า นาย Carney จะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะ กนง.ของอังกฤษนั้นมีอยู่ 9 คน โดยเป็นผู้บริหารธนาคารกลางอังกฤษ 5 คน (รวมผู้ว่าการฯ) และ “คนนอก” 4 คนโดยหนึ่งในนั้นคือเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลังอังกฤษ

ประเด็นสำคัญคือในการมอง “ภาพใหญ่” ของเศรษฐกิจการเงินของโลก คือ มีความชัดเจนมากว่าแนวคิดของประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจโลกคือสหรัฐ ยุโรป แคนาดา อังกฤษและญี่ปุ่นคือ

1. เงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา เป็นห่วงเงินฝืดมากกว่า เช่น กรณีของญี่ปุ่นที่มีปัญหาเงินฝืดยืดเยื้อ จนกระทั่งธนาคารกลางถูกกดดันทางการเมืองให้ปรับเป้าเงินเฟ้อจาก 1% เป็น 2% และต่อมาผู้ว่าการธนาคารกลางก็ต้องชิงลาก่อนหมดสมัย ในขณะที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐก็ประกาศว่าหากเงินเฟ้อเกินเป้า (2%) ไปบ้างก็จะยังคงมาตรการคิวอีและดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์ต่อไป ส่วนอังกฤษนั้นเงินเฟ้อเกินกว่าเป้า 2% มานานติดต่อกัน 37 เดือนแล้ว แต่ก็จะมีผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ที่มีหน้าที่หาทางเพิ่มการกระตุ้นทางการเงิน จะมีเพียงกลุ่มประเทศเดียวคือยุโรปที่ธนาคารกลางยังให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ (โดยกล่าวถึงเสมอ) และยังคงดอกเบี้ยที่ 0.75% แต่เศรษฐกิจยุโรปก็ยังอ่อนแออยู่มากจึงอาจต้องลดดอกเบี้ยหรือเพิ่มมาตรการคิวอีหากเศรษฐกิจทรุดตัวลงอีก

2. คงจะมีการพิมพ์เงินออกมาท่วมระบบอีกเป็นปี ในกรณีของสหรัฐนั้นให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะพิมพ์เงินออกมาใหม่เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ หากทำไปอีก 2 ปีก็จะมีเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นอีก 2.04 ล้านล้านดอลลาร์จากเดิมมีอยู่ 9 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2008 และเพิ่มในปี 2009 ถึง 2012 (รวม 4 ปี) รวมทั้งสิ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ในปลายปี 2012 ส่วนญี่ปุ่นนั้นตัวเก็งที่จะเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ คือนาย Kuroda ให้สัมภาษณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจเพิ่มการพิมพ์เงินใหม่มาซื้อพันธบัตรเร็วกว่าปี 2014 ที่ได้เคยตกลงเอาไว้กับนายก อาเบะ ก็ได้ ซึ่งน่าจะหมายความว่าหากเขาได้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่เขาอาจจะสั่งพิมพ์เงินเพิ่มในปีนี้เลย

3. เรื่องค่าเงินไม่พูดถึง แต่อ่อนก็ไม่ว่า ชัดเจนที่สุดคือกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างน่าใจหายคืออ่อนค่าลงไป 17% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในระยะเวลา 2-3 เดือน (และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทไปเกือบ 20%) แต่นักลงทุนตอบสนองเป็นอย่างดีผลักให้หุ้นญี่ปุ่นราคาปรับตัวขึ้น 20% และส่งผลให้ความนิยมในนายก อาเบะ ดีวันดีคืนเพิ่มขึ้นเป็น 71% และในส่วนของสหรัฐฯ นั้นรัฐมนตรีคลังเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์แต่ว่าที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่คือ นาย Jack Lew นั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและมีปัญหารีบเร่งที่จะต้องแก้ไข คือการขาดดุลการคลัง ดังนั้น คงจะไม่คิดอยากให้ดอลลาร์แข็งค่า ในตรงกันข้ามผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ แสดงความพึงพอใจที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงช่วยให้สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าน้อยลง และเมื่อไม่นานมานี้เมื่อถูกถามว่าการเพิ่มเงินออกมามากๆ น่าจะทำให้เงินอ่อนค่าและเป็นการทุ่มสภาพคล่องออกมาทำให้เศรษฐกิจการเงินโลกผันผวน นายเบอร์นันเก้ตอบว่าเขาพิมพ์เงินอเมริกันออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน (ไม่ได้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอื่น) ที่ผ่านมาต่างชาติมารุมซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น ผลกระทบข้างเคียงนั้นเป็นภาระที่เกิดขึ้นกับต่างชาติที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ฟังดูแล้วก็รู้สึกขำที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ (รวมทั้งไทย) ที่รุมกันซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลสหรัฐฯ กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สร้างปัญหา ดังนั้นจึงอย่ามากล่าวโทษธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งไม่เห็นจะได้ทำอะไรผิดเลย

กล่าวโดยสรุป คือ นโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว คือจะพิมพ์เงินจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น แนวทางสมัยก่อนที่พยายามรวมตัวกันประสานนโยบายการเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลกถูกนำไปเก็บไว้ในลิ้นชัก ปัจจุบันมองได้ว่าเป็นนโยบาย “ตัวใครตัวมัน” ซึ่ง เมอร์ริลลินช์ประเมินว่าสภาพคล่องของโลก (ประเมินจากงบดุลของธนาคารกลางของประเทศเงินสกุลหลักบวกกับทุนสำรองของธนาคารกลางอื่นๆ) ได้เพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2008 มาเป็น 21 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะนี้ จึงจะไม่น่าแปลกใจอะไรหากจะมี “เงินร้อน” หรือเงินทุนระยะสั้นไหลเวียนเป็นจำนวนมากทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความผันผวนอย่างมากในอนาคต