ยุทธการฮุบ... “บริษัทต่างชาติ”

ยุทธการฮุบ... “บริษัทต่างชาติ”

ช่วงนี้มีข่าวคราว..ที่บริษัทไทยเข้าไปซื้อกิจการบริษัทต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผมติดตามอ่านเรื่องราวดังกล่าวมากเพราะมีมุมมองที่น่าสนใจ

ผมจึงอยากมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจถึงเหตุการณ์ดังกล่าวที่ชวนติดตาม ดังนี้ครับ

หนึ่ง ยุทธการฮุบบริษัท “เอฟแอนด์เอ็น”

เอฟแอนด์เอ็น เป็นบริษัทชั้นนำของสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านเครื่องดื่มของภูมิภาค โดยมีสินค้าที่เป็นที่นิยมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์ดริงก์ ผลิตภัณฑ์นม โยเกิร์ต นมข้นหวาน รวมถึงยังมีพอร์ตลงทุนในเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และเป็นผู้ประกอบการห้างค้าปลีก 9 แห่งในสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงเดอะเซ็นเตอร์พอยท์ แหล่งช็อปปิ้งชั้นนำของสิงคโปร์

ดังนั้น จึงทำให้บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” ที่มีเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นเจ้าของ..สนใจเป็นอย่างยิ่ง โอกาสเปิดขึ้นในปี 2550 เมื่อรัฐบาลสิงคโปร์ออกกฎให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขายกิจการที่ไม่เกี่ยวโยงกับธนาคารออกไป เป็นเหตุผลให้ธนาคารโอซีบีซีที่ถือหุ้นเอฟแอนด์เอ็นอยู่ 22% ต้องขายหุ้นดังกล่าวออกไป

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวดำเนินไปอย่าง...ชิงไหวชิงพริบ โดยวันที่ 17 ก.ค. 2555 ไทยเบฟ เสนอขอซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นจากผู้ถือหุ้นเดิม 22% มูลค่ารวม 2,780 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 7 แสนล้านบาท วันที่ 20 ก.ค. 2555 ไทยเบฟเปิดศึกชิงซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นที่ถือในบริษัท เอเชียแปซิฟิค บริวเวอรี่ (เอพีบี) ผู้ผลิตเบียร์ไทเกอร์และไฮเนเก้น จำนวน 40% ส่งผลให้บริษัทแม่ไฮเนเก้น เนเธอร์แลนด์ ออกโรงขอซื้อหุ้นดังกล่าวในราคาหุ้นละ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ มูลค่ารวม 5,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

วันที่ 19 ก.ย. 2555 ไทยเบฟยอมถอยจากสงครามชิงหุ้นเอพีบี โดยออกมาสนับสนุนให้ไฮเนเก้นซื้อหุ้น 40% ซึ่งไทยเบฟ เปิดทางให้..ไฮเนเก้นซื้อเอพีบี เพื่อแลกกับการที่ไฮเนเก้นจะเปิดทางให้..ไทยเบฟซื้อเอฟแอนด์เอ็น

วันที่ 3 ม.ค. 2556 กลุ่มโอยูอี เจ้าของบริษัทโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์จากอินโดนีเซีย ปิดคำเสนอซื้อหุ้นในราคา 9.08 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค. 2556 ไทยเบฟเพิ่มราคาซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นเป็น 9.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ วันที่ 21 ม.ค. 2556 กำหนดเส้นตายการเสนอซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็น ไทยเบฟประกาศผลการซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นรวมทั้งหมดกว่า 612 ล้านหุ้น สัดส่วนกว่า 42.5% ขณะที่กลุ่มโอยูอีได้ประกาศยุติการเสนอซื้อ

เราไปดูกันหน่อยว่า ราคาของหุ้นในกลุ่มไทยเบฟคือ BJC หรือเบอร์ลี ยุคเกอร์ ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากดีลนี้ว่า..ราคาเป็นยังไงบ้าง? ราคาปิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 อยู่ที่ 45.50 บาท ราคาปิดเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 87.50 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 42 บาทหรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 92% ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน แต่..สิ่งที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้นก็คือ ค่า P/E หรือ ราคาหุ้นต่อผลกำไรซึ่งควรจะอยู่ต่ำกว่า 15 เท่าจึงจะน่าซื้อหุ้น ในเวลานี้ ค่า P/E ของ BJC อยู่มากกว่า 58 เท่า ไปแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในหุ้นที่มีค่า P/E “สูงที่สุด” ในตลาดหลักทรัพย์ฯ บ้านเรา

สอง กรณี ซีพี ซื้อหุ้นบริษัท ผิงอัน ประกันภัย

ดีลนี้ผู้ซื้อคือ ซีพีกรุ๊ป ซึ่งนำโดย ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจการเกษตรของจีนเมื่อปี 2522 จากนั้นก็ขยายครอบคลุมธุรกิจการเกษตร ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจค้าปลีกโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ ธุรกิจการเงิน และการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เกือบทุกมณฑลของประเทศจีน

ฝ่ายผู้ขายคือ ธนาคาร เอสเอชบีซี ธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ ซึ่งประสบกับปัญหาการเงินมานับตั้งแต่ปี 2551 จากปัญหาดังกล่าวก็ทำให้เอชเอสบีซีต้องขายหุ้นของบริษัท ผิงอันประกันภัย โดยตกลงขายหุ้นในบริษัท ผิงอัน อินชัวแรนซ์ (Ping An Insurance (Group) Co) ให้แก่ บริษัทไทยคือ เจริญ โภคภัณฑ์กรุ๊ป หรือซีพีกรุ๊ป เป็นมูลค่า 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 15.6% ในราคาหุ้นละ 59 ดอลลาร์ฮ่องกง ทันทีที่ข่าวนี้แพร่กระจายไป ราคาหุ้นของผิงอันในตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้นไปทันที 4% อยู่ที่หุ้นละ 60 ดอลลาร์ฮ่องกง

ผิงอันก่อตั้งเมื่อปี 2531 และเติบโตขึ้นเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยลูกค้า 74 ล้านราย พนักงาน 175,000 ชีวิต และตัวแทนขาย 500,000 คน ข้อตกลงซื้อขายหุ้นในผิงอันครั้งนี้ เป็นการซื้อขายหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียในปีนี้

สาม กลยุทธ์การเทคโอเวอร์ ของ CPF : ปรัชญา “3 ประโยชน์”

อดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่มีธุรกิจ เช่น ซีพี เฟรชมาร์ท ไก่ย่างห้าดาว เป็นต้น กล่าวถึงจุดยืนในการซื้อกิจการของ CPF ว่า "เราจะไม่ทำธุรกิจที่จะไม่เชื่อมต่อกับเรา" ภายใต้ปรัชญา “3 ประโยชน์” ของ CPF ที่ว่า “เพื่อประเทศ..ที่ไปลงทุน เพื่อประชาชน..ในประเทศนั้น และเพื่อ..ตัวบริษัทเอง” ทำให้ได้รับการต้อนรับจากนานาชาติ

ทั้งนี้ ธุรกิจในประเทศกัมพูชา ถือหุ้นผ่าน บริษัท ซีพี กัมพูชา จำกัด ในสัดส่วน 25% CPF ถือหุ้น 100% ของธุรกิจในลาวและฟิลิปปินส์ และลงทุน 100% ในธุรกิจสัตว์น้ำในมาเลเซีย และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซีพี เวียดนาม ทั้งนี้ CPF ยังมีการลงทุนในหลายประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง เช่น อินเดีย จีน และรัสเซียยังมีโรงงานแปรรูปไก่ในตุรกีด้วย ศูนย์จัดจำหน่ายและโรงงานแช่แข็ง (chilled plant) ในประเทศอังกฤษ และโรงงานอาหารสัตว์บก ฟาร์ม และโรงงานแปรรูปอาหารในไต้หวัน

การลงทุนของ CPF ในปัจจุบันเป็นการดำเนินการ เพื่อผลิตอาหารป้อนประชาชน 3 พันล้านคนในตลาดเป้าหมายดังกล่าว จากประชากรทั้งโลกราว 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน

และนั่นคือ “ยุทธการฮุบ...บริษัทต่างชาติ” โดยฝีมือของ..บริษัทไทย ฝีมือของ..คนไทย ในโอกาสหน้าถ้ามีเรื่องดีๆ เหล่านี้ คงจะมาเล่าให้ฟังใหม่นะครับ