ฉลองตรุษจีนด้วยงิ้ว “ไทยแลนด์ สไตล์”

ฉลองตรุษจีนด้วยงิ้ว “ไทยแลนด์ สไตล์”

“ข้าคือ ไทเฮาพลัดวัง...น้ำตาข้าราวสายธาร หลั่งไหล… ท่านเปาฯ ผู้สัตย์ซื่อ... ท่านคือโชคใหญ่หลวงของราชวงศ์ซ้อง...”

งิ้วพูดไทยของ อาเม้ง ป.ปลา (อาจารย์ อำพล เจริญสุขลาภ) เมื่อตรุษจีนที่ผ่านไปจับใจผู้ชมที่เป็นชาวไทย-ไทก็ไม่น้อย รวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนที่ส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่พูดภาษาจีนก็น่าจะมากเอาการอยู่

ท่านเปาฯ หน้าดำผู้มีจันทร์เสี้ยวอยู่บนหน้าผากยังคงความขลัง เป็นที่เชิดชูและแสวงหา เป็นสัญลักษณ์ความยุติธรรมที่คนไทยส่วนหนึ่งคุ้นเคยอยู่แล้ว ขนาดองค์ไทเฮาราชินีของฮ่องเต้ ก็มีวันตกทุกข์ได้ยาก เพราะการกลั่นแกล้งใส่ร้ายในปราสาทราชวัง ทนทรมาน 18 ปี “...ข้าขอทานได้ตามมี โชคยังดีลูกจุงหัว รู้คุณ...” กว่าจะพบโอกาส “ร้องทุกข์” กับท่านเปาบุ้นจิ้น

โอกาสได้ร้องทุกข์จึงสำคัญยิ่งนัก และงิ้วพูดไทยก็เล่นตรงนี้ได้ดีมาก

ผู้ชมนั่งข้างๆ เป็นสตรีวัยราวๆ 60 บอกว่าเธอเป็นคนไทย พ่อแม่ไม่มีเชื้อสายจีนเลยสักคน แต่ลูกเขยเธอคนหนึ่งมีเชื้อสายจีนสยาม บอกว่าสนุกดี เล่นเก่ง นั่งชมจนจบ ส่วนหลานสาว 7 ขวบที่มาด้วยบอกว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เห็นด้วยกับเธอที่ว่า “เล่นเก่ง” ทั้งไทเฮา ทั้งท่านเปาฯ ทั้งลูกบุญธรรมไทเฮา ฝั้นจุงหัว ผู้กตัญญูต่อแม่ “ไทเฮา” ตาบอด

“เล่นดี” อันดับแรกของงิ้ว คือ ผู้แสดงเล่นตามขนบ (conventions) ภาษากายภาษาท่าทางของงิ้วจีนได้ดี เรียกว่าจังหวะท่วงทีลีลา การออกท่าทาง สอบผ่านเป็น “งิ้ว (จีน)” ไม่ว่าจะเป็น การยืน การเคลื่อนไหว การเดิน การขยับคอ แขน ขา มือ นิ้ว การหยิบจับ การคุกเข่า การน้อมไหว้ โดยเฉพาะภาษาตา ฯ มีความระมัดระวังละเอียดถี่ถ้วนที่จะรักษาไว้ตามต้นฉบับงิ้วจีน

อันดับที่สอง คือ การร้อง การพูด ผู้แสดงทุกคนฝึกหัดการเปล่งเสียงมาอย่างดี ทั้งการพูดการร้อง เพียงแต่ว่าในศูนย์การค้าที่ไม่ได้ทำไว้เพื่อการนี้ ก็จึงหาใช่ที่จะฟังดนตรีหรือละครร้องไม่ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องถึงขั้น “ร้องทุกข์” (ท่านเปาฯ) ได้เลยในเรื่อง การได้ยินที่ดี (acoustics) เพราะไม่ว่าผู้ร้องผู้เล่นจะร้องเล่นได้ดีขนาดไหน ก็ถูกเสียงอื่นๆ สะท้อนรบกวนเสียจนน่าเห็นใจทั้งคนเล่นคนดูที่พยายามเล่นและดูกันจนจบอย่างสมัครสมานสามัคคี ท่ามกลาง “อั่งเปา” จากผู้ชมแน่นขนัดที่มีไปถึงผู้แสดงอย่างอุ่นหนาฝาคั่งทันทีที่มีโอกาส เช่น เด็กหนุ่มฝั้นจุงหัวร้องขายผัก ผู้ชมก็ "ซื้อ" ผักต้นสองต้นด้วยธนบัตรสีม่วงสีน้ำตาลสีแดง

เมื่อเป็นบทพูด การเปล่งเสียงที่ดี และ การได้ยินอยู่ระดับพอใช้ได้ ทำให้เรื่องดำเนินไปได้ค่อนข้างดี บทพูดเชิงกวีนิพนธ์ที่ถ่ายทอดไว้ต้นบทความนี้ ก็มาจากการฟังสด แต่พอเริ่มร้อง ก็ยากจะฟังได้อย่างเป็นคำไทยชัดถ้อยชัดคำ จึงจับคำจับความได้บ้างไม่ได้บ้าง

อุปสรรคน่าจะมาจาก 2 อย่าง อย่างแรก คือ ยากที่จะประสานเสียงภาษาไทยเข้ากับทำนองร้องจีนอย่างไร้รอยต่อ แม้ว่าจะพยายามอย่างมาก ซึ่งคณะผู้เล่นงิ้วพูดไทยคงรู้แก่ใจดีอยู่ แต่เห็นว่าจำเป็นและคุ้มค่าเมื่อ “แลก” กับการที่ผู้ชมจะเข้าใจติดตามงิ้วได้สนุกกว่าถ้าฟังรู้เรื่อง

อย่างที่สอง เครื่องขยายเสียงคุณภาพไม่ดี และไม่มีเจ้าหน้าที่เทคนิคฝ่ายเสียง (sound engineer) มาช่วยเลย ทำให้ทั้งการร้องและดนตรีซึ่งบรรเลงสดหมดความไพเราะไปแทบจะเกลี้ยงเมื่อส่งผ่านเครื่องขยายเสียงที่ว่านี้มาถึงหูเรา

งิ้วกว่าชั่วโมง ตัวละครหลักเพียง 3 ตัว เล่นอย่างไร้ฉากไร้เครื่องแต่งกายอลังการ ไร้การได้ยิน (acoustics) ที่เป็นปกติสุข ในสถานการณ์อย่างนี้ ถ้าหาก “เล่นไม่ดี” แล้วละก็ จะไม่มีอะไรเลยที่จะสะกดผู้ชมไว้ได้ ลุกได้ทุกวินาทีเพราะเป็นที่นั่งฟรีแบบเปิดโล่ง

แต่เนื่องจากผู้แสดง “เล่นดี” ได้อารมณ์ นี่เอง จึงจับตัวผู้ชมไว้ได้ การดำเนินคดีเรื่องต่างๆ ตามแบบฉบับเปาบุ้นจิ้นที่สังคมไทยพอคุ้นเคยอยู่แล้วรวดเร็ว กระชับ ตัวบทรักษาเนื้อหาสาระคุณค่าทางด้านบันเทิง คติสอนใจแบบจีนไว้อย่างเหนียวแน่น บทพูดได้ประพันธ์มาอย่างให้คนร่วมสมัยเข้าใจได้อย่างไม่มีช่องว่าง เป็นข้อดีของงิ้วพูดไทยอย่างยิ่ง

เพียงแต่ในตอนร้อง ถึงจะรู้สึกขาด “รส” ไปมากเมื่อเทียบกับงิ้วจีนพูดจีนที่ถึงแม้ฟังภาษาจีนไม่เข้าใจ แต่ฟังแล้วทุกอย่างจะรื่นหู ไม่รู้สึกถึง “รอยต่อ” ระหว่างภาษากับดนตรี

เอาเป็นว่า งิ้วพูดไทย เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ไม่รู้ภาษาจีนอย่างที่ อาเม้ง ป.ปลา ตั้งใจไว้ (ซึ่งถ้างิ้วที่ร้องอยู่เล่นอยู่เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว คนรู้ภาษาจีนอื่นๆ เช่น แคะ ไหหลำ ก็ฟังไม่รู้เรื่อง อนุโลมเป็นกลุ่มผู้ชมที่ไม่รู้ภาษาจีนเช่นกัน) แต่ถ้าใครรู้ภาษาจีน ถ้าเลือกได้ ก็คงดูงิ้วพูดจีนต้นฉบับ จึงจะได้ทั้ง อรรถ-รส คือ ทั้ง เนื้อหาและรสชาติ

สังคมไทยเรามาไกลมาก จากเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว ช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2480 ที่เป็นช่วงตกต่ำของภาษาจีนวัฒนธรรมจีน ปิดโรงเรียนจีน ห้ามเรียนห้ามสอนภาษาจีน ฯ วันนี้ คนไทยไม่มีเชื้อสายจีนก็เรียนภาษาจีนและดูงิ้วพูดไทยได้สนุก เป็นทั้งกำไรและ "ทุน" อีกอย่างหนึ่งให้ชีวิต

อาเม้ง ป.ปลา อยู่ในสองภาษาสองวัฒนธรรม สามารถ “แปล” ตัวเองกลับไปกลับมาในสองภาษาสองวัฒนธรรมได้อย่างดี

โลกสมัยใหม่จะเป็นโลกที่พหุภาษาพหุวัฒนธรรมเป็น “ทุน” ชนิดหนึ่ง สังคมไทยมีภาษาและวัฒนธรรมหลากหลาย ต้องช่วยกันทำให้มีโอกาสได้ผลิบานเต็มที่