อารอน สวาร์ตซ กับเสรีภาพที่แลกกับความตาย

อารอน สวาร์ตซ กับเสรีภาพที่แลกกับความตาย

จากเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของนายอารอน สวาร์ตซ (Aron Swartz) อัจฉริยะและนักต่อสู้ในแวดวงอุตสาหกรรมออนไลน์เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา

ได้ตั้งคำถามที่ท้าทายให้กับเสรีภาพของความรู้ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มทุนในโลกอินเทอร์เน็ต

การตายของเขาเป็นผลพวงมาจากความเครียดจากการที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลจากการฟ้องร้องของคู่กรณีคือ สถาบัน MIT และบริษัทฐานข้อมูลวารสารวิชาการที่ชื่อว่า JSTOR ซึ่งนำไปสู่การตัดสินคดีความที่เอาผิดเขาฐานขโมยข้อมูลด้วยโทษจำคุก 35 ปีและปรับอีก 1 ล้านดอลลาร์

การตัดสินดังกล่าวดูจะรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ก็ยากที่จะกล่าววิพากษ์ได้ภายใต้ระบบระเบียบโลกที่พยายามใช้อำนาจศาลในการปกป้องลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มทุนที่ใช้อำนาจถือครอง ปกป้อง และไม่ยอมให้ผู้ใดเข้ามาใช้ผลงานความคิดสร้างสรรค์ขององค์กรเขาได้อย่างฟรีๆ ด้วยอ้างว่ากระบวนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว คือการช่วยผู้ที่ลงทุนมันสมองและสองมือในการคิดและสร้างสรรค์ได้ตักตวงผลประโยชน์ที่ตนพึงมีพึงได้ โดยไม่ถูกชุบมือเปิบโดยนักก๊อปของโลกออนไลน์

แน่นอนว่า เรื่องปกป้องลิขสิทธิ์และการละเมิดลิขสิทธิ์ดูจะอยู่ในวังวนของการหาสมดุลระหว่างการปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของบรรดานักคิด นักประดิษฐ์ กับการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นได้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นจากองค์ความรู้ที่นักคิด นักประดิษฐ์เหล่านั้นได้คิดค้นมา ทั้งนี้ผลสุดท้ายของกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นมาก็ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ได้รับการปกป้องและถูกต่อยอดไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในคราวเดียวกัน

ความสลับซับซ้อนของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูเหมือนเป็นงูกินหางกันเองส่งผลให้กฎหมายนี้ยังคงวิ่งวนหาสมดุลระหว่างเสรีภาพกับการควบคุมอยู่เรื่อยไป ทั้งนี้ คงจะไม่ดราม่าเกินไปหากจะยกการกล่าวอ้างของนายคาร์ล มาลามูด ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ public.resource.org อีกหนึ่งนักต่อสู้เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ที่กล่าวว่า นายอารอน สวาร์ตซ คือวีรบุรุษที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกอินเทอร์เน็ตที่กำลังจะมีแนวโน้มไปสู่การถูกควบคุมมากขึ้นทุกๆ วันโดยการใช้เครื่องมือทางกฎหมายและศาลทำลายเสรีภาพของอินเทอร์เน็ตที่พึงมีพึงเป็น กล่าวคือ เมื่อการเข้าถึงความรู้และการเข้าถึงความยุติธรรมกำลังถูกตีค่าให้กลายเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เป็นตัวเงินแล้วละก็ เสรีภาพของอินเทอร์เน็ตที่เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้แชร์และเข้าถึงกันโดยเสรีก็กำลังจะถึงจุดอวสาน ซึ่งนายอารอนคือคนหนึ่งที่ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น

หากสืบดูประวัติของอารอน สวาร์ตซก็จะเห็นว่า เขาคนนี้คืออัจฉริยะที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ในแง่ของความฉลาดปราดเปรื่องนั้น แน่นอนว่าเขาคือหนึ่งในอัจฉริยะด้านไอทีที่หาตัวจับยาก ดังจะเห็นได้จากผลงานการสร้างสรรค์เว็บไซต์ theinfo.org ให้เป็นแหล่งรวมข้อมูลความรู้คล้ายๆ วิกิพีเดียได้ตั้งแต่อายุ 13 ตามมาด้วยการเป็นหนึ่งในทีมที่พัฒนาระบบ RSS 1.0 ได้ตั้งแต่อายุ 14 ซึ่งด้วยอัจฉริยภาพเหล่านี้สามารถผลักดันให้เขากลายเป็นเศรษฐีไอทีระดับโลกได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินเงินทองดูเหมือนจะไม่ใช่คำตอบของชีวิตที่เขาแสวงหา เพราะท้ายที่สุดจุดหมายที่เขาต้องการ คือการทำให้โลกนี้ดีขึ้น เสรีขึ้น และก้าวหน้าขึ้นด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

เขาปฏิเสธการเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างสแตนฟอร์ดและการทำงานบริษัทไอทีที่มีชื่อเสียงอย่างกูเกิล แต่หันมาให้ความสนใจกับการรณรงค์ให้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งความรู้เสรีที่ไม่ถูกปิดกั้นโดยกลุ่มทุนหรือกลุ่มชนชั้นนำ เพียงเพื่อให้ช่องว่างของความมีและไม่มีในโลกดิจิตอลหมดสิ้นไป

ปฏิบัติการป่วนประท้วงออนไลน์ของเขาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2006 ที่เขาเข้าไปเอาข้อมูลหนังสือจากห้องสมุดรัฐสภามาเผยแพร่สู่สาธารณชนแบบฟรีๆ ตามมาด้วยในปี 2009 ที่เขาดาวน์โหลดเนื้อหาการตัดสินของศาลกลางสหรัฐกว่า 19.9 ล้านหน้าเพียงเพื่อเอาไปเผยแพร่ต่อผู้คนผ่านระบบคลาวน์ และสุดท้ายคือปฏิบัติการดาวน์โหลดบทความวิชาการกว่า 4.8 ล้านบทความจาก JSTOR จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ สถาบัน MIT อันนำมาสู่กรณีการฟ้องร้องในชั้นศาล และการจบชีวิตการต่อสู้ของนักเรียกร้องออนไลน์ในที่สุด

แม้บทสรุปจะจบลงด้วยการถอนฟ้องของคู่กรณี และบริษัท JSTOR ก็ได้หันกลับมาทบทวนบทบาทตนเองในฐานะของการเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการแบบไม่ทำกำไรตามปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ส่งผลให้ JSTOR ได้ประกาศอนุญาตให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลวิชาการออนไลน์ได้ถึง 1,200 ฉบับแบบฟรี ๆ ไม่มีชาร์ตก็ตาม แต่การสูญเสียปูชนียบุคคลที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตอย่างอารอน สวาร์ตซก็ดูจะเป็นความทรงจำที่ขมขื่นเกินกว่าที่จะหาอะไรมาทดแทนได้

หารู้ไม่ว่าการตัดสินใจปลิดชีพตนเองของอารอน สวาร์ตซ จะสามารถกระตุกต่อมความคิดให้กลุ่มทุนผู้หิวโหยหรือลดความอหังการของศาลได้มากน้อยเพียงใด แต่ก็หวังใจว่าอย่างน้อยการสูญเสียในครั้งนี้คงจะนำมาสู่การคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ในโลกดิจิตอล ที่การคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์คงไม่ได้หมายถึงการหยุดคิด หยุดสร้าง หรือปลิดชีวิตใครๆ ให้ตายไปจากโลกนี้