คำเตือนของจีน เรื่องการลงทุนต่างประเทศ

คำเตือนของจีน เรื่องการลงทุนต่างประเทศ

อัตราดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงินโลกขณะนี้ ทำให้ต้นทุนการเงินของธุรกิจทั่วโลกค่อนข้างถูก สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจอยากลงทุน

ขณะที่แบงก์พาณิชย์เองก็อยากปล่อยกู้ เพราะสามารถหารายได้และทำกำไร การลงทุนประเภทหนึ่งที่ได้ขยายตัวมาก ก็คือ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของบริษัทเอกชน เพื่อซื้อกิจการและเป็นเจ้าของกิจการในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นมาก ทั้งโดยบริษัทไทยเองและบริษัทในประเทศอาเซียนอื่นๆ การลงทุนต่างประเทศเป็นโอกาสทางธุรกิจแต่ก็มีความเสี่ยง ในแง่เศรษฐกิจมหภาค การกู้ยืมเพื่อลงทุนในต่างประเทศ เป็นการกู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีหนี้ต่างประเทศมากขึ้น ในกรณีที่การลงทุนเหล่านี้ประสบความสำเร็จทุกอย่างก็จะดี และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ แต่ถ้าเงินที่กู้มาถูกนำไปลงทุนผิดพลาด บริษัทที่กู้ก็จะมีปัญหาการชำระหนี้ และถ้าปริมาณเงินกู้มีมาก ปัญหาก็อาจกระทบมาถึงฐานะของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ หรืออาจกระทบถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนช่วงก่อนวิกฤติปี 40 ที่บริษัทเอกชนไทยกู้ยืมมากจากต่างประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีบทความเผยแพร่ในจีนโดย สำนักข่าวไคซิน (CaiXin) เป็นบทความที่เขียนโดย นาย ยิ กัง (Yi Gang) รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ในหัวข้อ “จะดำเนินยุทธศาสตร์การออกข้างนอกอย่างไร” หรือ How to implement the “Going out Strategy”? ที่ได้ให้คำแนะนำบริษัทจีนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ในข้อที่ควรระมัดระวัง ผมอ่านแล้วคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ถ้ามีการถ่ายทอดสาระของคำแนะนำเหล่านี้ให้ภาคเอกชนไทยได้ทราบ เพราะในบ้านเราขณะนี้บริษัทไทยเองก็ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น วันนี้ก็เลยเขียนเรื่องนี้

การลงทุนต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมากในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาโดย นาย ยิ กัง วิเคราะห์ว่าปัจจุบันจีนเข้าสู่ช่วงที่สามของการลงทุนต่างประเทศ โดยในช่วงแรก คือระหว่าง ปี 1980 - 2000 เป็นช่วงที่จีนได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศจีน ขณะที่การลงทุนของบริษัทจีนในต่างประเทศมีน้อย คือ รวมแล้วมีวงเงินไม่ถึงสามหมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐในช่วงยี่สิบปีดังกล่าว ช่วงที่สอง คือ ระหว่าง ปี 2000 - 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าระหว่างประเทศ และเริ่มมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยบริษัทจีน ทั้งเพื่อการสร้างตลาดและเพื่อเสาะหาแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งได้ถูกจัดให้เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ช่วงที่สาม ก็คือ ช่วงหลังปี 2008 ถึงปัจจุบัน ที่ความสนใจของบริษัทจีนที่จะลงทุนในต่างประเทศมีมาก ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนการเงินที่ถูก และส่วนหนึ่งเพราะผลของวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศถูกลง เฉพาะปี 2008 ปีเดียว การลงทุนต่างประเทศของจีนมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขช่วงระหว่างปี 1980 ถึงปี 2005 รวมกัน และ ณ สิ้นปี 2011 การลงทุนต่างประเทศโดยตรงของจีนมีมูลค่ารวมกว่า สามแสนหกหมื่นห้าพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (US$ 365 billion) กระจายอยู่ใน 178 ประเทศทั่วโลก

คำเตือนหรือคำแนะนำของรองผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกับการลงทุนต่างประเทศของบริษัทจีนที่เขียนในบทความจะมีอยู่หกเรื่อง

หนึ่ง การตัดสินใจที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศควรเป็นการตัดสินใจที่มาจากเหตุผลและความจำเป็นทางธุรกิจเท่านั้น

สอง ขนาดของการลงทุนและการกู้เงินเพื่อลงทุนควรอยู่ในขอบเขตของความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และเหมาะสมกับความสามารถของบริษัทที่จะชำระคืน โดยเฉพาะเรื่องกระแสเงินสดเพื่อไม่ให้เกิดการก่อหนี้ที่สูงเกินตัว

สาม การพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน และผลตอบแทนที่จะได้ ควรพิจารณาตามข้อเท็จจริงของการดำเนินธุรกิจตามกลไกตลาด ไม่ควรคาดหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อไม่ให้การคำนวน “ต้นทุนทางการเงิน” บิดเบือนจากความเป็นจริง

สี่ บริษัทจีนที่ไปลงทุนต่างประเทศควรปฏิบัติตามกฏระเบียบและข้อกฏหมายในต่างประเทศอย่างเคร่งครัด

ห้า การลงทุนควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศที่จะไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพนักงาน สิ่งแวดล้อม ประชากรท้องถิ่น และภาพลักษณ์การทำธุรกิจของบริษัทจีนในต่างประเทศ

หก บริษัทที่จะไปลงทุนควรให้ความสำคัญประเด็นเรื่องความมั่นคง ทั้งความมั่นคงระหว่างประเทศ การเมืองของประเทศที่ไปลงทุน ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ที่อาจมาจากการก่อการร้าย ปัญหาโจรสลัด และการลักพาตัว

คำเตือนหรือคำแนะนำทั้งหกเรื่องนี้ ผมคิดว่าสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรต้องบอกให้รู้ แม้บริษัทเอกชนที่ไปลงทุน หรือธนาคารที่ให้กู้เงินอาจมองว่าเป็นเรื่องของภาคเอกชนหรือเป็นเรื่องที่ตระหนักอยู่แล้ว ที่ต้องบอกให้รู้ เพราะประสบการณ์ในอดีตชี้ชัดว่า ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนการเงินถูก การตัดสินของธุรกิจอาจละเลยประเด็นเหล่านี้ เพราะเงินถูกมักทำให้เราตาบอด ลงทุนด้วยความอยากมากกว่าด้วยเหตุผล นำไปสู่การลงทุนที่ผิดพลาดหรือไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทตามมา ในบทความได้พูดถึงความผิดพลาดของบริษัทญี่ปุ่นในช่วงปี 1985 - 1990 ที่ไปลงทุนในสหรัฐในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นบูมมาก แต่การลงทุนเหล่านี้ในที่สุดก็ผิดพลาดและสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่อมา ตัวอย่างเช่น กรณีการเข้าซื้อตึก Rockefeller ของ บริษัท Mitsubishi Estate ในปี 1989 ในวงเงินกว่า 1.37 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือกรณีบริษัท Sony ซื้อกิจการบริษัท Columbia Pictures ในวงเงิน 3.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทางการจีนคงไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับบริษัทจีน จึงได้ให้คำแนะนำอย่างเปิดเผย

ในกรณีของเรา ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทั้งบริษัทเอกชน ธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจจะต้องระมัดระวัง เพราะปัจจุบันสภาพคล่องมีมาก และบริษัทธุรกิจไทยก็กู้ยืมมากขึ้นเพื่อลงทุนในต่างประเทศ ตัวเลขล่าสุดก็คือ วงเงินลงทุนสุทธิในต่างประเทศของบริษัทเอกชนไทยเพิ่มจากประมาณสี่พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในช่วงปี 2008 - 2010 เป็นแปดพันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2011 และคงสูงขึ้นเป็นประมาณสิบสองพันล้านดอลล่าร์สหรัฐปีที่แล้ว หรือประมาณสามแสนหกหมื่นล้านบาท ซึ่งพอๆกับวงเงินลงทุนในโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศของรัฐบาลทั้งหมด เงินลงทุนเหล่านี้เป็นการลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมของบริษัทเอกชนไทยจากธนาคารในต่างประเทศ หรือ กู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศที่ต้องไปกู้จากธนาคารในต่างประเทศมาให้อีกทอดหนึ่ง เงินกู้เหล่านี้ คือหนี้ต่างประเทศใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย และอย่างที่เรียนไปแล้ว ในกรณีที่ทุกอย่างออกมาดี ก็ดี แต่ถ้าการลงทุนเกิดผิดพลาด ผลกระทบก็จะมีทั้งต่อบริษัทที่กู้ ต่อสถาบันการเงินในประเทศที่ปล่อยกู้ และอาจมีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย คือ บริษัทเอกชน ธนาคารพาณิชย์ และทางการไทยต้องตระหนัก ให้ความสำคัญ และระมัดระวัง

วันนี้จึงขอให้ความเห็นเรื่องนี้ โดยใช้คำเตือนของธนาคารกลางจีนแทน เพราะคำเตือนหรือคำแนะนำจากทางการไทยยังไม่มี