ฟัง2ซือแป๋เศรษฐกิจถกเรื่อง ‘ดอกเบี้ย’

ฟัง2ซือแป๋เศรษฐกิจถกเรื่อง ‘ดอกเบี้ย’

ถ้าใครติดตามสถานการณ์ “เงินบาท” ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ คงทราบดีว่า ข้อถกเถียงในเรื่องดังกล่าว ถูกแปรเปลี่ยน

เป็นประเด็นในเรื่องของ “ดอกเบี้ย” ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะขณะนี้ “ดอกเบี้ย” ถูกชี้เป้าให้เป็นต้นเหตุของ “เงินร้อน” ที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมามี “วิวาทะ” เด็ดๆ จากนักเศรษฐศาสตร์ ระดับ “ซือแป๋” ของวงการออกมามากมาย จนเกิดเป็นสงครามทางความคิดระหว่างฟากที่ “เห็นด้วย” กับการ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดทุนไหลเข้า ซึ่งจะช่วยดับฟองสบู่ในตลาดทุนลงได้ด้วย ..กับฟากที่ “ไม่เห็นด้วย” เพราะมองว่า การลดดอกเบี้ยจะยิ่งเป็นการตีฟองสบู่ในตลาดทุนให้เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีผลต่อฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจแท้จริงด้วย

คู่ความเห็นที่น่าสนใจสุด คงจะเป็นคู่ระหว่าง “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” กับ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ..ซึ่งทั้ง 2 ท่าน แสดงความ “เป็นห่วง” ในเรื่องเดียวกัน คือ “ฟองสบู่” ในตลาดทุน เพียงแต่ “หลักคิด” ในการจัดการกับฟองสบู่นั้น ไปคนละทางอย่างชัดเจน!

ดร.วีรพงษ์ ยอมรับว่า ประเด็นที่น่าห่วงในขณะนี้ คือ การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่อาจสร้างปัญหาฟองสบู่ในหลายตลาด โดยเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ต่างจากดอกเบี้ยนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะของสหรัฐ ซึ่งของไทยอยู่ที่ 2.75% แต่ของสหรัฐอยู่ที่ 0.25% จึงเป็นเหตุผลที่มีเงินทุนไหลเข้ามากินส่วนต่างตรงนี้

เงินที่ไหลเข้ามา ยังเข้าไปในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ทำให้ราคาหุ้นกับราคาตราสารหนี้ขึ้นไปเป็น 100% ทั้งที่ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดย “ดร.วีรพงษ์” ลงความเห็นตรงนี้ไว้ชัดเจนว่า เป็นเพราะแรงซื้อเก็งกำไรที่ทำให้ราคาหุ้นและตราสารหนี้ปรับขึ้น ซึ่งการเก็งกำไรนั้น หากพูดภาษาชาวบ้าน ก็คือ ฟองสบู่ นั่นเอง

ดร.วีรพงษ์ ระบุไว้ชัดเจนว่า วิธีจะหยุดยั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นที่เข้ามาปั่นฟองสบู่ในตลาดทุนไทยนั้น มีทางเดียวที่เป็นสาระ คือ “ลดดอกเบี้ยลง” เพื่อไปลด Incentive ที่เป็นมูลเหตุจูงใจการไหลเข้าของเงินลง เพราะเขามั่นใจว่า “อัตราดอกเบี้ย” กับ “เงินทุนเคลื่อนย้าย” มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน

แต่ในฟากของ “ดร.ประสาร” มองว่า มูลเหตุจูงใจที่ดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้ายเหล่านี้ น่าจะเป็นเพราะ “พื้นฐานทางเศรษฐกิจ” มากกว่าที่จะเป็นเรื่อง “ดอกเบี้ย” ซึ่งดอกเบี้ยอาจเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” หรือปัจจัยรองเท่านั้น ดังนั้นถึงแม้จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง ก็คงไม่ช่วยลดการไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้มากนัก พร้อมยกตัวอย่าง “ฮ่องกง” ที่ดอกเบี้ยนโยบายต่ำเท่าสหรัฐ แต่ทว่ายังมีเงินทะลักเข้ามาจำนวนมาก เพราะเศรษฐกิจเติบโตดี

นอกจากนี้ “ดร.ประสาร” ยังมองว่า ถ้าไปลดดอกเบี้ยนโยบายลง จะยิ่งเป็นการตีฟองสบู่ในตลาดหุ้น เพราะทำให้ “กระแสเงินสด” ของบริษัทจดทะเบียนดูดีขึ้น ดึงดูดให้นักลงทุนยิ่งเข้าไปซื้อเก็งกำไรมากขึ้น จนปั่นฟองสบู่ให้โตขึ้นตามไปด้วย ..หากถึงวันที่ ดอกเบี้ย จำเป็นต้องปรับขึ้น กระแสเงินสด เหล่านั้นก็จะถูกบีบให้แฟบลง ถึงตอนนั้นฟองสบู่จากราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นอาจถูกเจาะให้แตกก็เป็นได้ รวมทั้งดอกเบี้ยที่ต่ำ ก็จะยิ่งเร่งกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของ “2 ซือแป๋” เศรษฐกิจไทย ที่มีเป้าความเป็นห่วงเดียวกัน คือ “ฟองสบู่” แต่หลักคิดในการดับต่างกัน ที่เหลือคงต้องขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละท่านในการรับฟัง!