ลดการบ้านเด็ก เพื่อบูรณาการการเรียน?

ลดการบ้านเด็ก เพื่อบูรณาการการเรียน?

เป็นข้อเสนอที่กระฉ่อนในวงการศึกษา และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เมื่อนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(เลขาธิการ กพฐ.) ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ตามนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วนจะให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2556

โดย สพฐ.จะเน้นบูรณาการทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดและประเมินผล ตลอดจนการบ้านที่ต้องมีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระวิชา รวมทั้งต้องลดภาระงานของนักเรียนด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยต้องทำการบ้านเยอะมาก ทำให้เด็กเกิดความเครียด

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ไปจัดทำคู่มือการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนแบบครบวงจรโดยครอบคลุมทุกหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2556 จากนั้นจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเขตพื้นที่การศึกษา และครู เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน

เพราะฉะนั้นภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 หรือต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปเด็กไทยเด็กทุกคนในทุกระดับชั้นจะมีภาระการเรียนในห้องเรียนลดน้อยลง และจะมีโอกาสเรียนรู้ รวมถึงทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น ส่วนการบ้าน และโครงงานที่ครูมอบให้ก็จะมีการบูรณาการในทุกกลุ่มสาระวิชา

ขณะที่การวัดและประเมินผลก็จะสอบเท่าที่จำเป็น และเหมาะกับช่วงวัยเท่านั้น จะไม่มีวิธีการที่ครูจะมีอำนาจเหนือนักเรียน ครูจะไม่สามารถให้การบ้านเด็กได้ตามใจชอบอีกต่อไป หากครูให้การบ้านเด็กจนเกิดความทุกข์ทรมานก็สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สพฐ. เพื่อให้เกิดการปรับปรุงต่อไป

ข้อเสนอลดภาระการบ้านมีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ฝ่ายไม่เห็นด้วยบอกว่าจะทำให้เด็กเสียวินัยมีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ขณะที่ผู้เห็นด้วยก็มองว่าปัจจุบันภาระงานและการบ้านเด็กมากเกินไปที่จะออกไปรวมกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ

สำหรับผู้เขียนแล้วค่อนข้างสับสน ออกแนวงงๆเล็กน้อยกับข้อเสนอเพราะหากจับปัญหาการศึกษาไทยพบว่าเราคงต้องมาขบคิดกันจริงๆมันมีปัญหาไปทั้งหมด ตั้งแต่หลักสูตร ครู นักเรียนรวมไปถึงผู้ปกครองทำให้เวลาพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ไม่สามารถบอกเพียงมุมใดมุมหนึ่งได้ต้องพูดกันไปพร้อมๆกันทั้งหมด

ครั้งหนึ่งเราวิพากษ์วิจารณ์กันมากกว่าทำไมเด็กไทยเรียนแย่ลงหลังผลสัมฤทธิ์จากการทดสอบออกมาโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประกาศผลสอบโอเน็ต ม.6 พบเด็กไทยสอบตกเหมือนเดิม คะแนนเฉลี่ยวิชาหลักไม่ถึง 50% คณิตศาสตร์-อังกฤษ ต่ำสุด

ผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียน ม.6 ทั่วประเทศ จากการสอบ 8 วิชา พบว่า คะแนนเฉลี่ยในวิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยยังคงทำคะแนนได้ไม่ถึงร้อยละ 50 เช่นเดิม และบางวิชายังมีค่าเฉลี่ยแย่ลงกว่าเดิมด้วย โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่ได้คะแนนต่ำมาก เฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 20 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักเรียนไทยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ตกต่ำลง

ครั้งนั้นเราวิจารณ์กันมากกว่าตอนปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หลักสูตรวิธีการวัดผล ครู รวมไปถึงนักเรียน แต่ภายหลังข้อเสนอที่ออกมากลับไม่เห็นภาพรวมของการแก้ปัญหาหรือการวิเคราะห์ปัญหาอย่างตรงจุด มีเพียงข้อเสนอแก้ปัญหาเป็นจุดๆ

จะว่าไปแล้วการมีการบ้านก็คือวิธีการวัดผลการเรียนการสอนแบบหนึ่ง แต่คงต้องมาดูความเหมาะสมว่าเท่าไหร่แบบไหนถึงจะเหมาะสม แต่ที่สุดแล้วสิ่งที่อยากเห็นคือข้อเสนอการปฏิรูปอย่างเป็นระบบตรงจุดกับการแก้ปัญหาทั้งหมดมองเห็นอนาคตการศึกษาไทยร่วมกันจริงๆว่าเราจะแก้ไขยังไง เพราะตอนนี้ทุกส่วนเห็นร่วมกันว่าถ้าไม่เร่งแก้อนาคตประเทศไทยแย่แน่