คนทำงานร่วมสมัย (1)

คนทำงานร่วมสมัย (1)

คนทำงานที่ร่วมสมัยเท่านั้นที่เลือกได้ ว่าจะทำงานที่ใด ไปจนกระทั่งถึงผลประโยชน์ตอบแทบที่ตอบโจทย์

จากข้อมูลผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ระบุว่า คนไทยมีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 0.4


เมื่อเทียบกับอีกซีกโลกอย่างสเปนที่อัตราการว่างงานพุ่งไปราว 25% หรือ 1 ใน 4 ที่นักศึกษาจบใหม่จำเป็นต้องอพยพไปหางานเอาดาบหน้าที่ต่างแดน อาทิ สหราชอาณาจักร เพียงเพื่อให้มีงานทำและมีรายได้ แม้จะสำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ “ควรจะ” เป็นที่ต้องการของโลกการทำงานด้วยซ้ำ


นับว่าคนทำงานบ้านเรา อยู่ในภาวะที่ “เลือกได้” เสียด้วยซ้ำ ส่วนตลาดแรงงานในภาพใหญ่ เราเผชิญสถานการณ์ “งานล้นคน” เพราะสถิติบอกกับเราตรงไปตรงมาว่า ตำแหน่งงานว่างมีมากพอที่คนทำงานจะเลือกเอาจนกว่าจะพอใจ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนที่ใหม่ได้ง่ายดาย ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังกระไรนัก เพราะที่ไหนๆ ก็ต้องการรับคนทำงานทั้งนั้น


หากมองในด้านบวกของเศรษฐกิจมหภาค เชื่อว่าค่อนไปทางดีเป็นแน่ เราคงไม่ต้องการเกิดภาวะเตะฝุ่นย่ำแย่อย่างสเปน และอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป


แต่หากประเมินจากสายตาของตัวเองอีกหนึ่งประการ ด้วยการมองหาภาวะความสัมพันธ์ และอธิบายถึงสถานการณ์เชิงลึก ดิฉันพบสิ่งที่พึงตระหนกทั้งในมิติคนทำงานและที่ทำงาน


จากดัชนี Human Development Index ของ Economist สำหรับปี ค.ศ. 2013 ไม่ปรากฎไทยในอันดับใดๆ จาก 59 อันดับนั้นเลย ทั้งที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์และมาเลย์เซียต่างติดอันดับกันถ้วนหน้า


ความสัมพันธ์ของตัวเลขสองอัตรานี้ กำลังสื่อสารกับเราอย่างรวบรัดว่า คนทำงานไทยหางานได้ง่ายแต่ใช่ว่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่พัฒนามาอย่างมีคุณภาพ


ยังไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเราวิเคราะห์ต่อกับการคาดการณ์ของ John McCarthy จาก Forrester Research ซึ่งตีพิมพ์ในฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิว ที่ว่า คนทำงานมีทักษะอย่างน้อย 3.3 ล้านคน จะย้ายจากสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศกำลังพัฒนาภายในปีค.ศ. 2015


นั่นจะหมายความว่าอย่างไรไปได้ นอกจากช่วงเวลานี้เป็นฮันนีมูนพีเรียดของคนทำงานบ้านเราที่จะทำงานในพื้นที่ปลอดภัย ในชุดทักษะ ชุดความคิดที่องค์กรรับได้ ทั้งยังเติบโตเลื่อนตำแหน่งไปตามอายุตัว อายุงาน หรือผลงานแบบไม่ได้คาดคั้นการมุ่งมั่นทุ่มเทจนสุดโต่ง


เวลาเหล่านั้นได้จบลง ณ บัดนี้แล้ว เมื่อตลาดแรงงานเปิดกว้างระดับนานาชาติ คนตระหนักถึงการเป็นพลเมืองโลกที่ให้และใช้คุณค่าของการเป็นประชากรของโลกใบนี้ วันที่คนทำงานเลือกได้ อาจกลายเป็นคนทำงานที่ร่วมสมัยเท่านั้นที่เลือกได้ ว่าจะทำงานที่ใด ไปจนกระทั่งถึงผลประโยชน์ตอบแทบที่ตอบโจทย์รูปแบบ รสนิยมและระยะการใช้ชีวิตขณะนั้น


ในครั้งหน้าดิฉันจะนำเสนอทักษะสำหรับคนทำงานร่วมสมัย จากการค้นคว้าทั้งในมุมมองทางวิชาการและผู้บริหารกิจการ ตลอดถึงแนวทางการพัฒนาตัวเองอย่างเร่งรัด ที่นอกจากจะไม่ล้ำ แต่ยังร่วมและล้ำสมัยทีเดียวเชียวค่ะ