เราไม่ได้ตอบคำถามเพื่อชนะใคร

เราไม่ได้ตอบคำถามเพื่อชนะใคร

เราไม่ได้ตอบคำถาม เพื่อที่จะชนะ หรือ แพ้ใคร แต่เราตอบเพื่อให้ความกระจ่างชัด อธิบายสิ่งที่เราคิด ให้เหตุผลกับสิ่งที่เรานำเสนอ

ผมเคยนั่งดูการประกวดนางงามกับคุณแม่ผ่านทางจอทีวี และก็เคยเป็นกรรมการตัดสินในเวทีหนึ่ง ด้วย เพราะแบรนด์ที่เราดูแล ออกเงินเป็นสปอนเซอร์ร่วมในขณะนั้น


ผมเห็นด้วยอย่างมากที่เวทีต่างๆ ไม่ได้เอาแค่ความสวย หรือเรือนร่างเป็นธงตั้ง เพราะในรอบลึกๆ กรรมการจะวัดกึ๋นโดยการยิงคำถามให้ผู้เข้าประกวดแสดงทัศนะ ข้อคิดเห็น


เพื่อสุดท้าย จะมอบมงกุฎให้กับคนที่เหมาะสมที่สุด ที่เรียกได้ว่าสวยนอก สวยใน และสวยแบบหมดจด
เท่าที่ได้ดู ผู้หญิงบางคนก็เหมาะสม มีเสน่ห์ขึ้นฉับพลันจากชั่วไม่กี่นาทีของการสัมภาษณ์ ขณะที่คำตอบบางอย่างก็ทำให้ความสวยของบางคนดับกลางอากาศได้เช่นกัน


การตอบคำถาม จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรมองข้าม และเผลอๆ จะเป็นตัวสำคัญ ที่ชี้เป็นชี้ตายด้วยซ้ำไป


ในเรื่องนี้ ผมเคยกราบเรียนถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่า เหตุใดการสอบวิทยานิพนธ์ หรือการพรีเซ็นต์ “IS” (Independent Study) จึงมีคนที่ไม่ผ่านในครั้งแรกจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เชื่อว่าเขาน่าจะเตรียมตัวและซ้อมมายกใหญ่


ดร.ท่านได้ขยายความให้ผมกระจ่างว่า นิสิตหลายคนมุ่งเน้นเฉพาะการนำเสนอ และโฟกัสเอาตรงเนื้อหาที่คัดมาในหน้าสไลด์ Power point โดยมองข้ามความสำคัญของส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะการตอบคำถาม


พูดง่ายๆ ก็คือ ฉันทำของฉันมาอย่างนี้ ถ้าถามตามนี้ หนึ่ง สอง สาม…เป๊ะๆ ฉันตอบได้ แต่กรุณาอย่าถามเรื่องอื่นๆ เพราะไม่ได้เตรียมมา


ที่น่าสนใจยิ่งกว่า อาจารย์ท่านยังเฉลย Trick ที่หลายคนนิยมใช้ นั่นก็คือ กรรมการมักจะยิงเป้า เล็งไปในจุดที่อ่อนที่สุดเพียงข้อสองข้อในวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น และถามวัดดวงกันไปเลย


ถ้าตอบได้ ก็ถือว่า “ผ่าน” แต่ถ้าไม่ได้ ก็กลับไปซ่อม และนำมาพรีเซ็นต์ใหม่


ผมเองก็เอาเรื่องนี้มาเล่า มาบอกลูกน้องเป็นอุทธาหรณ์ และกำชับให้ทุกคนเตรียมตัวอย่างดี และประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์จริงในเวลาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ต้องนำเสนอให้ผู้บริหารและซีอีโอฟัง


พร้อมๆ กับยกตัวอย่างที่เอ็กซ์ตรีมไปด้วยว่า เคยสงสัยบ้างมั๊ย ? ทำไมบางคน ที่เพื่อนๆ หรือคนระดับเดียวกัน บอกว่าเก่ง ทำงานเป็น ขยันขันแข็ง แต่พรีเซ็นต์ไม่เข้าตาผู้ใหญ่ ไม่เคยถูกใจสักที


ขณะที่บางคน เรามองกันเฉยๆ แต่ผู้ใหญ่ ถึงมองดูฉลาดนัก โปรดปราน จนคนอดงงไม่ได้


ต้องอย่าลืมว่าซีอีโอ หรือผู้บริหารระดับสูง ไม่ได้มีเวลาลงมานั่งทำงานกับเรา ไม่ได้เห็นเราตลอดทั้งวัน การปฎิสัมพันธ์ จะมีเฉพาะเวลาที่เราได้เข้าไปนำเสนองาน หรือเข้าประชุม ซึ่งบางทีก็ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น


Judgment หลักๆ จึงอยู่ที่การตั้งคำถามของเขา และการตอบของเราเป็นสำคัญ


เนื้อหาที่นำเสนอก็แค่ส่วนหนึ่ง ปฏิภาณไหวพริบ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างหาก คือแก่นที่เราถูกมองและประเมินอยู่ ใครจะ “sharp” ไม่ “sharp” ก็วัดกันตรงนี้?


เท่าที่ผมสัมผัส ผู้บริหารไม่ได้ใจคอโหดร้าย จะเอาเป็นเอาตายกับคำตอบให้ได้ เพราะบางครั้ง เรื่องที่ถูกถามก็ยาก และเกินกว่าวิสัยทัศน์ที่พนักงานธรรมดาๆ จะคิดไปถึง


ฉะนั้น เราอาจไม่ต้องฉลาดแบบมีคำตอบในทุกๆ เรื่อง แต่เมื่อโดนยิงเข้าอย่างจัง ก็ต้องเรียนรู้ที่จะบริหารคำตอบให้เป็น อย่าให้ถูกมองว่าไม่ได้เตรียมตัว หรือเรื่องแค่นี้ คิดไม่ถึง ทำไมจึงตอบไม่ได้?


แต่ถึงจะเข้าตาจน อย่างไร สิ่งสำคัญก็คือ อย่าได้แถ อย่ามั่ว อย่าลากช้างลงรู เป็นอันขาด


ย้ำครับ อย่าสุ่มสี่สุ่มห้า ทึกทักเองว่า ผู้บริหาร ซีอีโอจะไม่มีวันกลับไปเช็คหรือตรวจสอบ เพราะของพรรค์นี้ ไม่มีใครรู้ หากพลาดขึ้นมา ความเสียหายใหญ่หลวง


เท่ากับเราปิดประตูความน่าเชื่อถือ ดับอนาคต ฆาตกรรมตัวเองอย่างน่าเสียดาย


คาถาง่ายๆ ที่ผมทำบ่อย และเอามาใช้กันในทีม ก็คือการทำ Role Play ปิดช่องโหว่ และอุดทุกจุด โดยตั้งคำถาม ถามและตอบกันเองในทีม โดยยึดจากประสบการณ์ ประเด็นที่มักจะโดนถามในอดีต


ขณะเดียวกัน สติก็จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ อย่ได้ตื่นเต้น ตระหนก เลิ่กลั่ก หรือลนเมื่อต้องเจอคำถาม เพราะบางที คำถามก็ไม่ยากเกินกว่าจะตอบ แต่เพราะความประหม่า ก็ทำให้พลาดได้


อื่นๆ ที่เห็นตกม้าตายกันบ่อยๆ ก็ตรงที่บางครั้งเราไม่เข้าใจในคำถามที่ผู้ใหญ่ตั้งให้อย่างถ่องแท้


พูดให้ชัดก็คือ หลายคนไม่พยายามจะเข้าใจเหตุจูงใจของคำถามนั้นๆ และชิงตอบไป เพียงเพราะสัญชาตญาณการเอาตัวรอด และป้องกันตัว ที่ผลักให้เราด่วนตอบไปก่อน


คำตอบมันจึงไม่คม ไม่เข้าประเด็น และอาจถูกมองเป็นการ Defense ที่ไม่เข้าท่าด้วยซ้ำ


ผมยังเคยถูกเจ้านายหลายคนสอนไว้ว่า บางครั้งคนที่ถามก็อาจไม่ได้ต้องการคำตอบจริง หากแต่เป็นการเช็คปฎิกิริยา และดูอาการ วิธีการจัดการของเรา ก็เท่านั้น


ประหนึ่งจะทดสอบดูความมั่นคงในความคิด ความมั่นใจกับสิ่งที่เราพูด เราเสนอ หรืออาจเชื่อมไปถึงการวัดวุฒิภาวะทางอารมณ์ หรืออื่นๆ สุดแล้วแต่ที่คนถามจะตั้งใจ


ครั้งหนึ่งผมเคยคิดว่า การเอาชนะเจ้านายด้วยการตอบคำถามให้ได้ทุกข้อ คือคนเก่ง คนฉลาด แต่ประสบการณ์ก็เริ่มสอนให้ผมรู้ว่า … ผมคิดผิด


เราไม่ได้ตอบคำถาม เพื่อที่จะชนะ หรือ แพ้ใคร แต่เราตอบเพื่อให้ความกระจ่างชัด อธิบายสิ่งที่เราคิด ให้เหตุผลกับสิ่งที่เรานำเสนอ และทำให้ผู้บริหารเชื่อมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำ


และที่สุดของที่สุด ผมเรียนรู้ว่า “การมีคำตอบ” อาจไม่สำคัญ เท่ากับ “การบริหารคำตอบให้เป็น”