บริษัทเอกชนกำลังช่วยกัน แก้ปัญหาคอร์รัปชัน

บริษัทเอกชนกำลังช่วยกัน แก้ปัญหาคอร์รัปชัน

วันนี้อยากเขียนถึงบทบาทบริษัทเอกชนไทยที่ขณะนี้กำลังร่วมกันแก้ปัญหาคอร์รัปชันผ่านโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต

ซึ่งเป็นบทบาทที่สร้างสรรค์และอยากให้บริษัทเอกชนไทยอื่นๆ เข้าร่วมกันมากๆ


ในทางเศรษฐศาสตร์ จุดอ่อนสำคัญที่ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถพัฒนาให้บรรลุศักยภาพขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจอย่างประเทศที่เจริญแล้วได้ ก็คือ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ที่ในกรณีของบ้านเรา นับวันจะรุนแรง การทุจริตคอร์รัปชันทำให้เศรษฐกิจสูญเสียโอกาส ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และระบบการจัดการที่ดี ที่จะสนับสนุนธุรกิจเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่เป็นอย่างนี้เพราะการทุจริตคอร์รัปชันบิดเบือนกติกาการทำธุรกิจ มีผลให้การจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ไม่เป็นไปตามหลักการแข่งขันในระบบตลาด แต่เป็นไปตามการใช้อำนาจ เพื่อให้เกิดการฉ้อโกงและทุจริต ที่สำคัญการทุจริตคอร์รัปชันทำลายแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของคนในประเทศ เพราะคนที่ทำผิดกฏหมายโดยการทุจริตคอร์รัปชันสามารถทำธุรกิจได้ ร่ำรวยได้ โดยไม่ถูกลงโทษจับกุม ขณะที่คนส่วนใหญ่ทำมาหากินอย่างสุจริต ปัญหานี้ถ้าไม่แก้ไข ที่สุดแล้วแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจจะหายไป ไม่มีใครอยากลงทุน อยากทำธุรกิจ เพราะโอกาสที่จะเติบโตก้าวหน้าทางธุรกิจ จะหมดไปกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และนักธุรกิจบางส่วนจะไปลงทุนต่างประเทศแทน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขาดโอกาศที่จะเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น


ในกรณีของประเทศไทย คอร์รัปชันนับวันจะรุนแรง ซึ่งสะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาที่ภาครัฐทำอยู่ ไม่สามารถลดทอนปัญหาได้ และถ้าปัญหายิ่งแย่ลง ผลกระทบต่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะยิ่งมาก ประเด็นนี้ทำให้ภาคธุรกิจเป็นห่วงและต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะตระหนักดีว่า ถ้าปัญหายิ่งรุนแรง ความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศไทยก็จะลดลง นำไปสู่การสูญเสียโอกาส เพราะจะไม่มีใครอยากมาลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทย บริษัทเอกชนจึงคิดที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และโครงการหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นและอยากเขียนถึงวันนี้ก็คือ โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธานโครงการและมีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD เป็นเลขานุการโครงการ


โครงการนี้ต้องการจะนำบริษัทเอกชนที่สนับสนุนการทำธุรกิจที่สะอาดโปร่งใสและปลอดคอร์รัปชัน มาร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีการแข่งขันที่เป็นธรรมและโปร่งใส ไม่มีคอร์รัปชัน เพื่อประโยชน์ของการเติบโตของภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยบริษัทที่เข้าร่วมจะประกาศตนอย่างเปิดเผยว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ และวางนโยบายบริษัท และระบบควบคุมภายใน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจของบริษัท พร้อมนำนโยบายและระบบดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจัง นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าร่วมก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้กับบริษัทอื่นๆ ที่เข้าร่วมในเรื่องการวางนโยบาย และวางระบบควบคุมภายใน เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการที่หลัง สามารถเรียนรู้และทำตามได้ ท้ายสุดบริษัทที่เข้าร่วมก็พร้อมจะเชิญชวนบริษัทอื่นๆ ที่เป็นบริษัทคู่ค้าเข้าร่วมโครงการ เพื่อขยายวงการทำธุรกิจที่สะอาด โปร่งใส และปลอดคอร์รัปชัน ผมมองว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่จำนวนบริษัทเหล่านี้มีมากพอ และมูลค่าการผลิตของบริษัทเหล่านี้มีสัดส่วนสูงในการผลิตรวมของประเทศ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันก็จะหยุดขยายตัว หรือจะลดลง เพราะบริษัทธุรกิจที่มีสัดส่วนการผลิตมากของประเทศ ปฏิเสธที่จะทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ


ถึงสิ้นเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีบริษัทเอกชนสมัครใจเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 152 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 60 บริษัท และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 92 บริษัท บริษัทที่เข้าร่วมมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีทั้งบริษัทในกรุงเทพและต่างจังหวัด และมีทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย การตอบรับของบริษัทเอกชนต่อโครงการนี้ดีขึ้นต่อเนื่อง มีบริษัทแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น


เรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง ก็คือ บางครั้งที่ออกไปชี้แจงโครงการให้บริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วม ความรู้สึกเหมือนว่าบริษัทเหล่านี้กำลังรออยู่ คือ บริษัทไม่ชอบคอร์รัปชัน และอยากร่วมแก้ไขปัญหา แต่ในอดีตไม่มีรูปแบบหรือวิธีการที่บริษัทจะสามารถมีบทบาทได้ แต่พอมีโครงการนี้ที่วัตถุประสงค์หลักก็คือ การสร้างการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม โปร่งใส และปลอดคอร์รัปชัน บริษัทที่ไม่ชอบและปฏิเสธคอร์รัปชันก็มีเวทีที่สามารถเข้าร่วมมีบทบาทได้ร่วมกับบริษัทอื่นๆ ที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมจึงเพิ่มเร็ว แม้การเข้าร่วมจะไม่มีการบังคับ เป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ และมีข้อผูกพันที่ผู้เข้าร่วมจะต้องทำ คือ วางนโยบาย วางระบบควบคุมภายในและนำไปปฏิบัติ บริษัทเหล่านี้ก็พร้อมจะทำ ซึ่งดีมาก และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เห็นก็คือการลงนามเข้าร่วม อีกนัยหนึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของบริษัทอย่างชัดเจนต่อพนักงานบริษัทว่า บริษัทจะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ ความชัดเจนนี้ทำให้พนักงานบริษัทมีความภูมิใจในตัวบริษัท และพร้อมที่จะอยู่ทำงานกับบริษัทต่อไป เพราะกำลังทำงานให้บริษัทที่ทำธุรกิจอย่างสะอาด โปร่งใส และไม่คอร์รัปชัน ซึ่งหมายถึงธุรกิจของบริษัทจะมีความยั่งยืนในระยะยาว


เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถวางนโยบายและระบบการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน สถาบัน IOD ได้พัฒนาหลักสูตรป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาสองหลักสูตรเพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริหารบริษัทและเจ้าหน้าที่ในการวางนโยบายและวางระบบควบคุมภายในดังกล่าว เพื่อช่วยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถปฏิบัติทำตามข้อผูกพันของการเข้าร่วมได้ โดยสถาบัน IOD ได้พัฒนาทั้งสองหลักสูตรนี้ร่วมกับบริษัท PwC (Thailand) ให้เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาระบบการดูแลและควบคุมภายในที่ทัดเทียมมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ และ IOD ก็ได้เปิดอบรมทั้งสองหลักสูตรนี้แล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว และจะจัดอบรมต่อเนื่องทั้งปีในปีนี้ เพื่อให้บริษัทที่สนใจสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้


แต่ปีนี้ขั้นตอนสำคัญของโครงการที่จะเริ่มก็คือ คณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติ จะเริ่มให้การรับรองบริษัทที่เข้าร่วม (Certification Process) ที่ได้วางนโยบาย ได้วางระบบควบคุมภายใน และได้ปฏิบัติตามนโยบายและระบบดังกล่าวอย่างครบถ้วน ซึ่งหมายถึง การประกอบธุรกิจที่ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเชิดชูบริษัทเหล่านี้ในสังคมไทย ในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีจริยธรรม และธรรมาภิบาลขั้นสูงในการทำธุรกิจ เพื่อเป็นตัวอย่างให้บริษัทเอกชนอื่นๆเข้าร่วมโครงการหรือทำตาม เพื่อให้เกิดพลังในภาคเอกชน ที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ


โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตที่ผมเขียนถึงวันนี้ ให้ความหวังว่า ยังมีคนในประเทศอีกจำนวนมากที่ไม่ชอบคอร์รัปชัน และพร้อมที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาด้วยความสมัครใจตามบทบาทหน้าที่ตน ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราควรสนับสนุน


ผมเองหวังว่า บริษัทที่เข้าร่วมโครงการและสามารถผ่านกระบวนการรับรองในปีนี้ จะเป็นตัวอย่างนำให้บริษัทธุรกิจเอกชนอื่นๆตื่นตัว และเห็นว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ทุกบริษัททำได้ สามารถมีส่วนร่วมได้ และพร้อมใจที่จะร่วมทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมากขึ้น เพื่อสร้างการทำธุรกิจในภาคเอกชนไทยที่สะอาด โปร่งใส และปลอดคอร์รัปชัน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจและของประเทศ


บริษัทที่สนใจในโครงการนี้ หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก IOD ที่ คุณกิตติเดช ฉันทังกูล โทรศัพท์ 02 955 1155 ต่อ 302 หรือ [email protected]