รู้จักใช้สมอง

รู้จักใช้สมอง

มีผู้คนมากน้อยแค่ไหนที่รู้จริงว่าสมองของเรานั้นทำงานอย่างไร จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่าควรจะใช้สมองอย่างไรในการทำงานใดงานหนึ่งให้ได้ผลดีที่สุด

ในเมื่อสมองของเรานั้นเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีกลไกการทำงานที่สลับซับซ้อนจนยากต่อการทำความเข้าใจ วันนี้พวกเราหลายคนไม่รู้จักใช้สมอง หมายถึงว่าเราบางคนกำลังใช้สมองไปทำในสิ่งที่สมองไม่ถนัด หรือสมองไม่คุ้นเคย ผลที่ตามมาคืองานที่น่าจะง่ายกลายเป็นงานที่ค่อนข้างยากเย็นไปแทน นักชีววิทยาโมเลกุลท่านหนึ่งเกิดสนใจว่าจะใช้สมองอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด ผลการวิจัยในทางทฤษฎียุ่งยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ แต่ท่านได้นำผลงานวิจัยนี้มาเผยแพร่เป็นหนังสือที่ปรากฏว่ามียอดขายสูงสุดอยู่หลายสัปดาห์ในสหรัฐอเมริกา หนังสือเล่มนี้แนะนำให้รู้จักวิธีใช้สมองคิดวิเคราะห์เรื่องต่างๆ โดยประยุกต์มาจากความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาการทำงานของสมองในระดับโมเลกุลที่ท่านได้ทำวิจัยไว้แล้ว คนทั่วไปอ่านแล้วพอจะเห็นหนทางว่าจะใช้สมองคิดเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยไม่ต้องฝึกฝนอะไรเพิ่มเติม แค่ปรับตัวนิดหน่อยก็ได้ประโยชน์แล้ว

ถ้าเทียบระหว่างเดินคิดกับนั่งคิด ปรากฏว่าเดินคิดสมองกลับทำงานได้ดีกว่า คนที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เป็นประจำจะใช้สมองคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่าคนที่ชอบนั่งอยู่เฉยๆ มากกว่าเคลื่อนไหว สมองที่คิดได้ดีอยู่กับร่างกายที่มีการเคลื่อนไหวเป็นประจำ ผู้สูงอายุที่ยังเดินไปไหนมาไหนอยู่เป็นประจำจะจดจำและคิดวิเคราะห์ได้ดีกว่าท่านที่นั่งดูทีวีอยู่ทั้งวัน ดังนั้น ถ้าต้องประชุมหาทางแก้ไขปัญหายากๆ อย่านั่งประชุมต่อเนื่องกันนานเกินไป ยิ่งร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อยลงเท่าใด โอกาสที่จะให้สมองช่วยคิดวิเคราะห์หาคำตอบที่ดีสำหรับปัญหายากๆ นั้นก็ลดลงไปด้วยเท่านั้น คิดเรื่องยากๆ โดยการประชุมยืดยาวได้คำตอบที่ดีไม่เท่ากับประชุมกันในห้องบ้าง เดินตีกอล์ฟไปด้วยกันบ้าง ถ้าอยากคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น ท่านแนะนำว่าให้เคลื่อนไหวร่างกายให้ดูมีชีวิตชีวาอยู่เป็นประจำ คือออกกำลังกายในแบบที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำนั่นเอง

คิดก่อนนอนหรือนอนก่อนคิด แบบไหนจะดีกว่ากัน ถ้าเป็นเรื่องดั้งเดิมที่มีมานานแล้วจะคิดก่อนนอน หรือนอนก่อนคิดไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งรู้เพิ่งทราบมาในวันนี้หรือวันวาน ท่านว่านอนก่อนคิดดีกว่า เพราะในแต่ละวันเราได้รับรู้รับทราบเรื่องใหม่มากมาย ซึ่งสมองใช้เวลาในระหว่างเวลาที่เราหลับทำการเรียบเรียงประมวลผลข้อมูลและสาระที่เราได้ในแต่ละวันให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจดจำไว้ใช้ประโยชน์ในการคิดวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ในวันหน้า ถ้าทำงานทั้งวันแล้วยังขนกลับมาทำต่อที่บ้านโดยไม่ยอมหลับนอนให้เพียงพอ ข้อมูลและสาระบางอย่างที่เราได้จากการทำงานในวันนั้นจะสูญหายไปส่วนหนึ่ง มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับสมองของแต่ละคน ถ้าให้นักเรียนนั่งเรียนตัวตรงอยู่ในห้องเรียนนานๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหว ใส่เนื้อหาที่เรียนเข้าไปเยอะๆ แล้วตามด้วยการบ้านอีกมหาศาลจนนักเรียนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะ เรียนโดยมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยๆ ในระยะเวลานาน สมองก็ช้าลงตามไปด้วย การบ้านมากจนไม่ได้นอนหลับเพียงพอ ก็เลยไม่มีเวลาให้สมองประมวลผลจัดเก็บความรู้เพียงพอ ความรู้จำนวนหนึ่งก็หายไป ไม่ได้ถูกบันทึกจดจำไว้ใช้ในวันหน้า เรียนรู้เรื่องแค่ในวันนั้นแล้วลืมไปหมดแบบที่เรียกกันว่ารู้เรื่องเฉพาะตอนเรียน ก่อนคิดเรื่องใหม่ที่เป็นเรื่องยากต้องพักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ โอกาสจะได้คำตอบสำหรับปัญหายากๆ นั้นมีมากกว่าอดหลับอดนอนนั่งคิดตลอดคืน

คิดหลายเรื่องพร้อมกัน หรือคิดให้เสร็จไปทีละเรื่องแบบไหนจะดีกว่า คำตอบคือสมองของเราชอบการคิดทีละเรื่อง มากกว่าที่จะคิดปะปนกันไปหลายเรื่อง การคิดสลับเรื่องนั้นเรื่องนี้นั้นทำให้สมองมีภาระในการเปลี่ยนเรื่องคิด คล้ายๆ กับการที่คอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนจากการประมวลผลตามโปรแกรมหนึ่ง ไปเป็นอีกโปรแกรมหนึ่ง ถ้างานเดิมยังไม่เสร็จคอมพิวเตอร์ก็ต้องบันทึกรายละเอียดการประมวลผลที่ค้างอยู่ไว้ก่อนที่จะย้ายไปทำอีกโปรแกรมหนึ่ง เพื่อให้สามารถย้อนกลับมาทำโปรแกรมเดิมอย่างต่อเนื่องได้ ถ้าคิดหลายเรื่องพร้อมๆ กัน สมองก็ยิ่งต้องใช้เวลาสลับข้อมูลระหว่างเรื่องเดิมกับเรื่องใหม่ การสลับสิ่งของต่างๆ มีโอกาสผิดพลาดได้แค่ไหน การสลับเรื่องคิดก็ยิ่งมีโอกาสผิดพลาดมากขึ้นไปอีก ดังนั้น ถ้าอยากให้ตัวเองเปลี่ยนจากคนคิดเก่งกลายเป็นคนคิดไม่เก่ง ให้ใส่เรื่องเล็กเรื่องน้อย เรื่องจุกจิกต่างๆ เข้ามาในสมองพร้อมกันเยอะๆ อยากให้ลูกหลานเก่งน้อยลงให้ใส่เรื่องสารพัดเข้าไปให้คิดมากๆ กลายเป็นเรียนมาก แต่ไม่ฉลาดขึ้น

สมองเราทนเรื่องที่น่าเบื่อได้ไม่นานก่อนที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับเรื่องนั้น ฟังเรื่องน่าเบื่อไม่เกินสิบนาที หลายท่านจะปิดการทำงานของสมองกับเรื่องนั้นในรูปแบบของการง่วงนอน ดังนั้น หากจะคิดวิเคราะห์เรื่องใด ต้องปรับความคิดให้เลิกเบื่อเรื่องนั้น ถ้าทนปรับให้หายเบื่องานใหญ่ไม่ได้ ให้พยายามแยกแยะงานเป็นส่วนๆ ที่พอจะคิดวิเคราะห์ให้เสร็จสิ้นได้ในเวลาสั้นๆ เสร็จก่อนที่สมองจะออกอาการโต้ตอบความน่าเบื่อของงานนั้น สมองคนทั่วไปจะเบื่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สวยงามช้ากว่าสิ่งที่ไม่สวยงาม จะประชุมหาคำตอบในเรื่องยากๆ ใด ขอให้นำเสนอข้อมูลและสาระที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นในรูปแบบที่ดูสวยงาม ข้อมูลไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่รวมถึงการนำเสนอข้อมูลนั้นรูปแบบที่สวยงาม ดูแล้วไม่น่าเบื่ออีกด้วย

อย่าคิดวิเคราะห์เรื่องใดในระหว่างที่มีความเครียด เพราะสมองกำลังรับหน้าที่ในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดนั้นอยู่ จึงเหลือส่วนที่จะมาช่วยเรียนรู้ ช่วยวิเคราะห์ได้ไม่มากนัก ถ้าทำให้บรรยากาศในการทำงานเต็มไปด้วยความเครียด ขู่กันเรื่องไล่ออก ตัดเงินเดือนอยู่เป็นประจำ อย่าได้หวังว่าผลงานจะมีความคิดสร้างสรรค์ใดๆ เกิดขึ้น เพราะใช้สมองทำงานเอาตัวรอดจากคำข่มขู่นั้นมากกว่า