เมื่อสองยักษ์ตื่น

เมื่อสองยักษ์ตื่น

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เปิดศักราชใหม่ได้เพียงเดือนเดียวตลาดหุ้นไทยก็ทะยานขึ้นมากว่า 5% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก

หากตัดประเด็นสภาพคล่องล้นระบบทำให้เงินทุนไหลเข้าออกไป จะพบว่า 2 แรงส่งสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ สองประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่เริ่มตื่นจากภวังค์ คือ ญี่ปุ่นและจีน ซึ่งนักลงทุนต่างคาดหมายกันว่าปัจจัยนี้เองจะเป็นแรงสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดหุ้นไปต่อ

ญี่ปุ่น : งัดมาตรการแก้เงินฝืด กระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับญี่ปุ่นนั้น การประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหน้าเก่า คือ นายชินโช อาเบะ และธนาคารกลางญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องที่ตลาดไม่เคยคาดไว้ก่อน และต้องยอมรับค่ะว่า มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลใหม่นั้นแรงและแหวกแนวจากอดีตอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเป็น 2% การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 1.17 แสนล้านดอลลาร์ รวมทั้งความตั้งใจที่จะผลักให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงมา เพื่อกระตุ้นการส่งออก ซึ่งมาตรการเหล่านี้มุ่งหวังให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดออกจากภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะ 2 ศตวรรษที่ผ่านมาเงินเฟ้อญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 0% เท่านั้น

ถามว่าโอกาสที่ญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จดังตั้งใจไว้มีแค่ไหน คงยากที่จะตอบได้ เพราะต้องยอมรับค่ะว่า ปัญหาของญี่ปุ่นนั้นได้ฝังรากลง ดังนั้น คงต้องใช้เวลาสักระยะในการแก้ปัญหา แม้การประกาศนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งนี้จะเป็นตัวเสริมให้นักลงทุนเห็นว่า ตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะควรเสี่ยง (Risk On) เพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนคงต้องจับตามองท่าทีคู่ค้าของญี่ปุ่นว่าเป็นอย่างไร เพราะหลายคนเริ่มกังวลว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มของการทำสงครามค่าเงิน (Currency War) ระหว่างประเทศหลักที่ต่างต้องการให้ค่าเงินตัวเองอ่อนเพื่อช่วยเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยนั้น การอ่อนค่าลงของเงินเยนน่าจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย เพราะอุตสาหกรรมในประเทศไทยโดยเฉพาะด้านยานยนต์ถือเป็น Supply Chain ของสินค้าญี่ปุ่น ในทางกลับกัน ประเทศเกาหลีดูจะเป็นประเทศที่รับผลกระทบด้านลบที่สุดเพราะเกาหลีเป็นคู่แข่งหลักของสินค้าญี่ปุ่นทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

จีน : มังกรผงาด
เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวกำลังบ่งชัดว่า ปี 2556 เศรษฐกิจจีนกำลังจะเร่งตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2555 ที่ขยายตัว 7.9% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนดัชนีฝ่ายจัดซื้อ (PURCHASING MANAGER’S INDEX: PMI) เดือนมกราคมอยู่ที่ 51.9 สูงขึ้นจาก 51.5 ในเดือนธันวาคม ด้วยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป บวกกับความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่ตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีคุณภาพ (Quality Growth) มากกว่าการขยายตัวในอัตราสูงสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับปัจจุบันของจีน ดิฉันจึงเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนรอบนี้จะไม่หวือหวาเท่าไหร่นัก ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8% เหมือนที่รัฐบาลจีนตั้งใจไว้ โดยการฟื้นตัวของจีนรอบนี้น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยและภูมิภาคเอเชีย เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย

สิ่งที่จะมีผลต่อการลงทุนคงไม่ใช่อัตราการขยายตัวของจีน แต่น่าจะเป็นปัจจัยด้านมาตรการและความเสี่ยงของจีนในปีนี้ที่นักลงทุนควรจะจับตาดู เช่น การเปิดเสรีเพิ่มขึ้นในส่วนบัญชีเงินทุนเคลี่อนย้าย อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ที่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องการปฏิรูปราคาสาธารณูปโภคในประเทศ ไล่ตั้งแต่ แก๊ส ไฟฟ้า ประปา มาจนถึงน้ำมันสำเร็จรูป รัฐบาลจีนต้องการขยับราคาสาธารณูปโภคและพลังงานให้สูงขึ้นหรือใกล้เคียงราคาตลาด เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย

รวมทั้งเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงของพลังงานด้วย เพราะปัจจุบันรัฐบาลจีนอุดหนุนและควบคุมราคาสาธารณูปโภคไว้ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจในการผลิตสาธารณูปโภคให้เพียงพอ จนเกิดภาวะขาดแคลน ไฟฟ้าตก น้ำประปาขาดเป็นบางเวลา ส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจและการผลิตสินค้า ขณะที่บริษัทผู้ผลิตสาธารณูปโภคกลับต้องแบกรับต้นทุนการอุดหนุน เพราะบริษัทเหล่านี้ต่างมีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลประกอบการที่ย่ำแย่ ดังนั้น เมื่อการเปลี่ยนผู้นำจีนเสร็จสิ้นลง ปีนี้น่าจะได้เห็นรัฐบาลจีนเริ่มเดินหน้ามาตรการปฏิรูปราคาสาธารณูปโภคอย่างจริงจัง

ผลของมาตรการครั้งนี้ มีทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกคือช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณูปโภคและพลังงานให้ขยายตัวอย่างมีคุณภาพ ส่วนด้านลบก็คงเป็นราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น น่าจะผลักดันให้เงินเฟ้อของจีนเร่งตัวขึ้นในครึ่งหลังของปี และมีโอกาสที่ธนาคารกลางจีนต้องเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงในปีนี้ก็เป็นได้

อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ มาตรการควบคุมธนาคารเงา (Shadow Banking) ของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นระบบการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคาร จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและคุ้มครองของธนาคารกลาง ได้แก่ Trust Company, Wealth Management Product และการกู้ยืมกันโดยตรง มีมูลค่าสูงถึง 15 ล้านล้านหยวน หรือมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 25% ของการปล่อยสินเชื่อในภาคธนาคาร ขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 3 ของ GDP จีน ความน่ากลัวของ Shadow Banking ไม่ได้อยู่ที่ขนาดแต่อยู่ที่การขาดการกำกับดูแล

โดยเฉพาะในส่วนของ Wealth Management Product ซึ่งมีรูปแบบคล้ายๆ กับ CDO ของสหรัฐฯ ที่ผู้ลงทุนไม่รู้ว่าสิ่งที่ลงทุนคืออะไรเพราะผูกสินทรัพย์กันมาหลายชั้น และเสนอขายโดยให้ผลตอบแทนสูงๆ จนทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันกังวลว่า Shadow Banking จะกลายมาเป็นระเบิดเวลาทำให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินในจีนได้ ซึ่งรัฐบาลจีนเองก็ตระหนักถึงความน่ากลัวนี้จึงเตรียมออกมาตรการควบคุม ต้องรอดูกันว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงไร เพราะการเข้าดูแลสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่มีการจดทะเบียนอย่างชัดแจ้งน่าจะทำได้ยากพอสมควร

เรื่องสุดท้ายที่ดิฉันรู้สึกชื่นชมรัฐบาลจีนและเชื่อว่า นี่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างยั่งยืน นั่น คือ การที่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ นาย สี จิ้น ผิง ประกาศต่อต้านการคอรัปชันในทุกรูปแบบทั้งระดับบนและระดับล่าง เพราะเห็นว่าการคอรัปชันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้พรรคและประเทศล่มสลายลง มาตรการที่เริ่มออกมาในช่วงแรก ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับข้าราชการ เช่น การเลี้ยงอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ การรับของขวัญราคาแพง รวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศเฉพาะที่จำเป็น แม้ผลของมาตรการนี้ทำให้ยอดขายของฟุ่มเฟือยในจีนลดลงทั้งเหล้า ไวน์ และดอกไม้ แต่ในทางกลับกัน ดิฉันเห็นว่า ถ้ารัฐบาลจีนประสบความสำเร็จจะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศแน่นอน

สุดท้ายนี้ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่จีนที่ใกล้เข้ามานี้ ดิฉันขอกล่าวอวยพรท่านผู้อ่านทุกท่านขอให้มั่งมีเงินทอง และประสบความสำเร็จในการลงทุน