ค่าแรง : ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง

ค่าแรง : ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง

เดือนมกราคมกำลังจะผ่านพ้นไปแล้วอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในอัตราประมาณร้อยละ 6 อันเนื่องปัจจัยจากความเสี่ยงระยะสั้นเรื่องหน้าผาการคลังของสหรัฐอเมริกาได้รับการคลี่คลายเป็นการชั่วคราวจนถึงเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดตราสารหนี้ (พันธบัตร) และตลาดหุ้นจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ปัจจัยเศรษฐกิจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยที่พัฒนาเพิ่มขึ้น ประเด็นทางด้านการเมืองที่น่าจับตามองที่สำคัญๆ ก็มีอยู่ 2 เรื่องหลักที่มีแนวโน้มจะสร้างความแตกแยกของประชาชนก็คือ กรณีปราสาทพระวิหารที่กัมพูชายื่นฟ้องศาลโลกพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับสิทธิในพื้นที่ถือครองที่จะเริ่มมีการไต่สวนในเดือนเมษายน และคาดว่าจะมีคำตัดสินออกมาในปีนี้ ซึ่งผลคำตัดสินที่หากประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ก็อาจจะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้

เรื่องที่สองเป็นการเดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ซึ่งมีทั้งการเรียกร้องให้ออกเป็นพระราชกำหนด (กฎหมายเร่งด่วนที่ออกโดยรัฐบาลและไม่ผ่านกระบวนการของรัฐสภา) และหรือการออกเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะสร้างความแตกแยกของประชาชนในประเทศอีกรอบ โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้ใดบ้างที่สมควรได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ จะครอบคลุมไปถึงแกนนำหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2552-2553 หรือไม่ ที่สำคัญ คือ การก่อการการร้ายที่มีการใช้อาวุธทำลายชีวิตของทหารตำรวจและประชาชน หรือการเผาทำลายอาคารสถานที่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ศาลากลาง หรือ ศูนย์กลางค้า สมควรที่จะได้รับนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่

ประเด็นร้อนทางด้านเศรษฐกิจก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของการบังคับใช้นโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มแบบก้าวกระโดดจากอัตราค่าแรงเฉลี่ยเดิมที่ระดับ 177 บาทต่อวัน วัตถุประสงค์ของการปรับค่าแรงดังกล่าวแม้ว่าเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนงานและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งคงไม่มีใครคัดค้านการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงาน แต่ควรมีการพิจารณาถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างครบถ้วนรอบด้านรวมถึงมาตรการในการรองรับหรือช่วยการปรับตัวของผู้ประกอบการ ไม่เป็นการแก้ไขปัญหาหนึ่งแต่สร้างปัญหาอื่นๆ ที่ต้องออกมาตรการในการแก้ไขติดตามมายาวเป็นหางว่าว ผู้ที่ถูกกระทบโดยตรงและรุนแรงคือผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ และธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม และร้านอาหาร

ที่แม้ว่าจะมีมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การปรับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้จากร้อยละ 23 ลงเหลือร้อยละ 20 ในปีนี้ เพราะธุรกิจในกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยที่มีผลกำไรสูงพอจนมีการชำระภาษี ดังนั้น จึงจะเห็นธุรกิจต่างหาวิธีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยการปรับสัญญาการจ้างงาน เช่น การเปลี่ยนจากพนักงานลูกจ้างประจำเป็นการจ้างงานรายวัน การลดสวัสดิการต่างๆ เช่น เครื่องแบบ รถขนส่งของบริษัท อาหาร และอื่นๆ และนำมาปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งก็ปรับตัวด้วยการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า

ผลกระทบของการปรับค่าแรง 300 บาทนั้นเพิ่งจะเริ่มขึ้นเท่านั้น แต่เราจะเห็นผลกระทบต่อเนื่องติดตามมาคือ นอกจากจะลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันส่งสินค้าออกแล้ว ในอนาคตแล้วจะกระทบต่อนโยบายการกระจายความเจริญด้วยการขยายการผลิตการลงทุนไปสู่ภูมิภาคและต่างจังหวัดที่จะหยุดชะงักหรือลดลง แต่จะเห็นการกระจุกตัวของโรงงานอยู่ใน กทม.และปริมณฑล และภาคกลาง เพราะได้ประโยชน์จากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นับตั้งแต่ ไฟฟ้า ประปา และการการสื่อสารโทรคมนาคม ถ้าหากทั่วประเทศมีค่าแรงเท่ากันแล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ต้องขนส่งจากโรงงานไปยังท่าเรือไม่ว่าจะเป็นท่าเรือคลองเตยหรือท่าเรือแหลมฉบัง

ผลกระทบที่กว้างขวางอีกประการ คือ เรื่องค่าครองชีพที่แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะประกาศไม่ให้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นด้วยข้ออ้างว่าผลกระทบมีเพียงเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ราคาอาหารสำเร็จรูปประเภทข้าวแกง หรือก๋วยเตี๋ยว ต่างปรับราคาขึ้นแล้วและเป็นการแบบก้าวกระโดด เช่น จาก 30-35 บาทต่อจานขึ้นเป็น 35-40 บาท และราคาสินค้าอื่นๆ กำลังทยอยขอปรับขึ้นราคา เช่น ราคาเนื้อสัตว์ และสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นต้น

ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงอีกประการ คือ จะมีการใช้แรงงานต่างชาติมากขึ้น เพราะ จะมีข่าวว่ามีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่มีการจดทะเบียนมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน แต่ตัวเลขที่แท้จริงนั้นมีคาดการณ์กันว่าจะมีสูงถึง 3-4 ล้านคน ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งจะมีผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงและปัญหาทางสังคม