สหกิจศึกษาตอบโจทย์ธุรกิจรับ AEC

สหกิจศึกษาตอบโจทย์ธุรกิจรับ AEC

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการร่วมรับฟังการนำเสนอผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (Cooperative Education)

ของนักศึกษาที่ได้เข้าไปฝึกปฏิบัติงานจริงเต็มเวลาในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา หรือประมาณ 18 สัปดาห์ ซึ่งจากการสอบถามนักศึกษาคณาจารย์ที่ร่วมในโครงการสหกิจศึกษา ก็พบว่า ถึงแม้นโครงการสหกิจศึกษาจะเข้ามาในระบบการศึกษาเกือบ 20 ปีแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่ายังมีผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทข้ามชาติบางแห่ง ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการทำสหกิจศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษา และคิดว่าเหมือนกับการฝึกงาน จึงยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ส่วนบางแห่งที่มีความเข้าใจดีก็เห็นด้วยอย่างยิ่งและรับนักศึกษาเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ได้รับฟังจากนักศึกษาที่กลับมาจากการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาก็พบว่ามี 3 ประเด็น ก็คือ 1.สถานประกอบการบางแห่งได้เสนอโจทย์การทำงานให้เข้าไปแก้ปัญหาระบบการทำงานต่างๆ ซึ่งนักศึกษาก็สามารถร่วมเสนอความคิดเห็นและวิธีการที่ออกเป็นรูปธรรมจนเกิดการยอมรับของผู้ร่วมงานและหัวหน้างานได้อย่างราบรื่นลงตัว ถึงแม้จะพบกับปัญหาอุปสรรคจากผู้ร่วมงานก็ตาม

2. ให้ลงมือปฏิบัติงานจริงร่วมกับพนักงานประจำของบริษัท ก็สามารถปรับตัวปฏิบัติงานได้ดีกว่าตอนมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเห็นข้อบกพร่องจากการทำงานนำมาเสนอในที่ประชุมและร่วมแก้ไขปัญหานั้นๆ โดยนำหลักการทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว และ 3. มีทีมพี่เลี้ยงค่อยๆ ป้อนงาน (On the Job Tranning) ซึ่งนักศึกษาก็สามารถเรียนรู้ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว

ผู้เขียนรู้สึกทึ่งและประทับใจในความสามารถของนักศึกษาเหล่านั้น ซึ่งมีกรณีตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์วัสดุตกแต่ง ประสบปัญหาป้ายระบุช่องโหลดและคลังสินค้า ตารางการเดินรถ พื้นที่ขนส่ง และลานจอดรถ เมื่อนักศึกษาสหกิจศึกษารับโปรเจคปรับปรุงเรื่องดังกล่าว ก็ได้ทำการสำรวจพื้นที่ หาข้อมูล และสอบถามจากพนักงาน ถึงแม้จะพบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ก็สามารถประมวลผลหาแนวทางปรับปรุงป้ายระบุช่องโหลดและคลังสินค้าแบบใหม่ ตารางเดินรถรูปแบบใหม่ที่อ่านและเข้าใจง่าย ส่วนพื้นที่ขนส่งและลาดจอดรถก็สามารถเพิ่มพื้นที่และจัดระบบระเบียบจนสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว สุดท้ายบริษัทแห่งนี้เสนอขอรับนักศึกษาสหกิจกลุ่มนี้เข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัททั้งๆ ที่ยังไม่จบการศึกษา

นอกจากนี้ ภายหลังนักศึกษากลับจากทำสหกิจศึกษากับสถานประกอบการแล้ว มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลายอย่าง เช่น มีทักษะการสื่อสารคำพูดที่ดีขึ้น มีระบบการจัดลำดับงานก่อน-หลัง ระบบความคิดในการกลั่นกรองเป็นเหตุเป็นผลดีขึ้น หรือการแก้ไขปัญหาเชิงระบบโดยใช้ทฤษฎีประกอบ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่หัวหน้างานสะท้อนความคิดกลับมายังสถานศึกษาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขนักศึกษาก็คือว่า ยังมีนักศึกษาบางส่วนไม่สู้งาน มีความรู้เชิงทฤษฎีไม่แน่น ไม่สามารถนำไปปฏิบัติแก้ไขปัญหาได้ และที่สำคัญมากก็คือ การใช้ภาษาอังกฤษยังอ่อนมาก

สำหรับโครงการสหกิจศึกษา ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ซึ่งนักศึกษาจะได้ผสมผสานความรู้ความสามารถทั้งด้านวิชาการและทักษะการปฏิบัติ สามารถทำงานได้ทันที ส่วนสถานประกอบการก็สามารถลดต้นทุนในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยตอบโจทย์ของสถานประกอบการในการเข้าสู่การแข่งขันทั้งตลาดอาเซียนและทั่วโลก รวมถึงขจัดปัญหาการขาดแคลนแรงงานหรือแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการอีกด้วย ส่วนสถานศึกษาก็สามารถผลิตบัณฑิตได้ตามความต้องการของสถานประกอบการ

ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสร้างระบบ กลไก พัฒนา ปรับปรุง และขจัดปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บัณฑิตที่มีความพร้อมก้าวไปสู่การแข่งขันกับตลาดแรงงานอาเซียนในอนาคตและผู้ประกอบการธุรกิจสามารถขยายขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อไปได้