แบบนี้ต้องโทษสื่อ...ที่ทำให้ประชาชนสับสน

แบบนี้ต้องโทษสื่อ...ที่ทำให้ประชาชนสับสน

สับสนเรื่องอะไร ก็สับสนกับเรื่องที่เล็กๆ แต่กลับไปเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับจักรยานสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำ

ของคนทั่วไป ซึ่งการที่สื่อหลงประเด็นในเรื่องนี้และนำเสนออย่างผิดๆ อย่างที่ได้ทำอยู่ขณะนี้ ทำให้ประเด็นที่ว่าเล็กๆ นั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบต่อสังคมไทยได้อย่างมาก ส่วนจะกระทบอย่างไรนั้นผู้เขียนขอพักไว้ก่อนสักครู่ เดี๋ยวจะกลับมาอธิบายให้ฟัง แต่ขณะนี้ขออธิบายเป็นการปูพื้นฐานก่อนว่าคนที่ใช้จักรยานนั้นมีอยู่กี่ประเภท และประเภทที่แตกต่างกันนั้นมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและบริบทของชุมชนไทยได้อย่างไร

เราสามารถแบ่งประเภทของคนที่ใช้จักรยานทั้งโลกออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกได้แก่ "นักแข่งจักรยาน" ซึ่งมีตั้งแต่ระดับโอลิมปิกเกมส์ เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ไล่มาจนถึงระดับประเทศและจังหวัด ตลอดจนจัดแข่งกันเอง คนกลุ่มนี้ในประเทศมีอยู่เพียงในระดับพัน อาจจะประมาณ 5 พันคนไปถึงไม่เกินหมื่นคน

ประเภทที่สองได้แก่ กลุ่มที่ผู้เขียนขอเรียกว่า "นักจักรยาน" ซึ่งมักใช้จักรยานเสือภูเขาเป็นหลัก การแต่งกายจะรัดกุมและสวมหมวกกันน็อคป้องกันอันตรายเหมือนกับกลุ่มแรก เพราะการขี่จักรยานของนักจักรยานกลุ่มนี้มักรวดเร็ว ผาดโผน และเป็นระยะทางไกลๆ เป็นร้อยกิโลเมตรไม่แพ้กลุ่มนักแข่ง คนกลุ่มนี้มีมากกว่ากลุ่มแรกแต่ก็อยู่ในเรือนหมื่นอาจจะห้าหมื่นไปจนถึงไม่เกินแสนคนทั่วประเทศ

คราวนี้ก็มาถึงกลุ่มคนประเภทที่สาม ซึ่งไม่ใช่ทั้งนักแข่งจักรยานหรือนักจักรยาน แต่เป็นชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดาที่ใช้หรือมีโอกาสที่จะใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน สำหรับการไปตลาด ไปโรงเรียน ไปทำงาน ไปต่อรถ (เช่น คนในกรุงเทพมหานคร) ไปวัด ไปโรงพยาบาล ไปอำเภอ ไปปากซอย ฯลฯ ผมจึงมักเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คนใช้จักรยาน" คนกลุ่มนี้จะแต่งตัวแบบชาวบ้านปกติธรรมดา คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวน 50-60 ล้านคน จึงเป็นคนกลุ่มที่มีผลทางสังคมไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งอย่างมาก หากพวกเขาจะใช้หรือไม่ใช้จักรยาน เช่น ลดค่าใช้จ่ายของประเทศ ลดค่ารักษาพยาบาลของรัฐ ลดค่าใช้จ่ายครอบครัว ลดมลพิษ เพิ่มความแข็งแรง ทำให้สุขภาพดี ฯลฯ

คราวนี้ก็มาถึงประเด็นที่สื่อมวลชนของไทยเข้าใจผิดกันทั่วไป คือ เมื่อเร็วๆ นี้ในช่วงวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ได้มีการประชุมระดับชาติที่ใช้ชื่อว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ มีผู้คนมาร่วมประชุมจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ 2 พันกว่าคน ที่ประชุมได้ผ่านมติเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะว่าด้วย "ระบบและโครงสร้างสำหรับการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน" อันหมายรวมไปถึงการใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวกของคนพิการด้วย

มติดังกล่าวเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ของสังคมไทย เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อนำมตินี้ไปสู่การพิจารณาและหากผ่านออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี ผลสัมฤทธิ์ของมันจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อคนหมู่มาก โดยเฉพาะคนรายได้น้อยและคนด้อยโอกาสตลอดไปจนถึงคนพิการทั่วประเทศ เพราะจะต้องมีกฎระเบียบของรัฐ และมีงบประมาณ รวมทั้งการก่อสร้างและจัดระบบรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้ออำนวยต่อการเดินและการใช้จักรยานของประชาชนคนไทยร้อยละกว่า 90 ของประเทศ

มติดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนไทยทั่วไปที่ต้องเดินเท้าอยู่ทุกวันในกิจวัตรประจำวัน และสำหรับคนอีกจำนวนมากที่กำลังใช้หรือกำลังจะใช้จักรยานในวิถีชีวิต เพราะนั่นหมายถึงความสะดวกและความปลอดภัยตลอดจนความประหยัดที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเขาโดยตรง

มติหรือข้อสรุปดังกล่าวจึงถูกสื่อทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์บางแห่งนำไปแจ้งแก่ประชาชนทั้งประเทศให้ได้รับทราบ แต่สิ่งที่สื่อเข้าใจผิดและหลงประเด็นอย่างไม่น่าให้อภัย คือ สื่อแทบทุกสื่อ แม้กระทั่งสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่งที่ควรจะเข้าใจมิติของพลเมืองมากที่สุดก็ได้ใช้ภาพของนักแข่งจักรยานและนักจักรยานที่ใส่หมวกกันน็อคและแต่งกายเต็มยศ มาประกอบการนำเสนอข่าว แทนการใช้ภาพของคนใช้จักรยานธรรมดาซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในช่วงต้น

การเสนอภาพประกอบข่าวในลักษณะนั้นได้ก่อให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมไทย เพราะภาพนั้นชี้นำว่าหากชาวบ้านประชาชนผู้ใดอยากจะใช้จักรยานเมื่อใด ผู้นั้นก็ต้องแต่งกายและสวมหมวกกันน็อค อย่างนักจักรยานหรือนักแข่งจักรยาน ซึ่งในอันที่จริงแล้วคน 3 กลุ่มนี้เป็นคนละพวก คนละกลุ่ม คนละวิธีคิดและคนละบริบททีเดียว สื่อมวลชนซึ่งเป็นอาชีพที่สามารถชี้นำทิศทางของสังคมจึงกำลังบอกประชาชนคนไทยอย่างผิดๆ ว่าจักรยานนั้นมันอันตราย จึงต้องสวมหมวกกันน็อค ต้องแต่งกายแบบนักจักรยานและต้องใช้จักรยานราคาแพงๆ เท่านั้น จึงจะนำจักรยานมาใช้บนท้องถนนได้ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ผิดไปจากความเป็นจริงของสังคมของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่นักแข่ง หรือแม้กระทั่งนักจักรยาน และผิดไปจากแนวคิดของการแก้ปัญหาสารพัดของสังคมด้วยการเดินและการใช้จักรยานไปอย่างสิ้นเชิง

สมควรที่สื่อจะทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องว่า ผู้คนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่นักจักรยานและก็ไม่ใช่นักแข่งจักรยาน การนำเสนอข่าวที่อาศัยแต่ความหวือหวาของข่าว แต่ก่อให้เกิดความสับสนในสังคม จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงทำ และควรได้รับการปรับปรุง