Cool Japan : ความเจ๋งจากอัจฉริยภาพของคนธรรมดา

Cool Japan : ความเจ๋งจากอัจฉริยภาพของคนธรรมดา

วันก่อนได้หนังสือมาหนึ่งเล่ม ชื่อว่า "Cool Japan" - ความเจ๋งมวลรวมประชาชาติกับการเรียกคืนความแข็งแกร่งของญี่ปุ่น

ภายในเล่มไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน บอกแต่เพียงว่าจัดทำโดยสำนักพิมพ์ Little thoughts ซึ่งเมื่อลองนั่งอ่านอยู่พักใหญ่ก็ได้ทั้งความรู้บวกด้วยแรงบันดาลใจหลายๆ อย่างให้อยากค้นคว้าต่อกับคำนิยามว่าด้วย Cool Japan

ภายในเล่มได้บรรจุตัวอย่าง 4-5 ตัวอย่างที่แทนนิยามความเท่ในแบบญี่ปุ่นซึ่งดังกระฉ่อนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น AKB48 ที่เป็นต้นแบบเจป๊อป ซึ่งสร้างโมเดลธุรกิจแบบให้แฟนคลับคนดูได้มีส่วนร่วมสร้างศิลปินของเขาเอง หรือกรณีของเสื้อผ้าแบรนด์ดังอย่าง UNIQLO ที่มีคอนเซปต์การดีไซน์เสื้อผ้าเพื่อคนทั้งโลก รวมถึงตัวการ์ตูน Hello Kitty ที่วางตัวเหมือนไอคอนสาธารณะซึ่งใครจะเอาไปเชื่อมโยงกับแบรนด์สินค้าของตัวเองก็ได้ จนทำให้เจ้าแมวไม่มีปากตัวนี้ก้าวข้ามผ่านการเป็นเพียงตัวการ์ตูนที่อยู่แต่ในโลกจินตนาการของเด็กเท่านั้น

กุศโลบายของภาครัฐที่มีต่อความเท่ของญี่ปุ่นเองนั้นถูกจับตามองจากคนทั้งโลกเมื่อมีนักวิชาการอย่าง Douglas McGray ได้เขียนบทความและอรรถาธิบายเกี่ยวกับความเจ๋งมวลรวมประชาชาติ (Gross National Cool) ของประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกตีความให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อการส่งออก อันสามารถขับเคลื่อนญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมของโลกได้ ด้วยการใช้ Soft power อย่างวัฒนธรรมของตนเองในการครอบครองโครงสร้างทางอุดมการณ์ ความคิด และความเชื่อของคนทั้งโลก เพื่อใช้ในการยึดพื้นที่และผลประโยชน์ทางการเศรษฐกิจและการค้าของโลกได้ต่อไป

ทั้งนี้ปฏิบัติการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีเทคโนโลยีอย่างสื่อมวลชนรองรับ เพราะการประกอบสร้างความเจ๋งนี้เอง จำเป็นต้องมีการสื่อสารระหว่างญี่ปุ่นที่ส่งออกแบรนด์ดังกล่าวของตัวเองกับผู้รับสารซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วโลกอยู่เป็นระยะๆ และต่อเนื่อง

หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า ความเจ๋งของญี่ปุ่นนั้น หลายๆ อย่างเกิดมาจากวิถีชีวิตของปุถุชนคนธรรมดาที่มีความเชื่อในการพยายามอย่างหนักที่จะทำหน้าที่หรือภารกิจที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด เนื่องด้วยเพราะอัจฉริยภาพในทัศนคติของคนญี่ปุ่นเองแตกต่างจากคนตะวันตกตรงที่ว่า คนจะมีความเชี่ยวชาญและมีความอัจฉริยะได้นั้น ต้องได้รับการฝึกฝน ทำซ้ำจนชำนาญและเชี่ยวชาญในเรื่องราวนั้นๆ อย่างลึกซึ้งมากกว่าการมีอัจฉริยภาพมาแต่กำเนิดโดยได้รับพรจากสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมาให้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า คนเดินดินธรรมดาที่มีความคลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างสุดโต่งจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จะสามารถเป็นอัจฉริยะได้ในสังคมของเขา

ระยะแรกๆ ของการประจักษ์ทราบในความคลั่งไคล้ หลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างสุดโต่งของคนญี่ปุ่นนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องน่าตลกขบขันและเป็นวัฒนธรรมตะวันออกที่ดูแปลกปลอมอยู่มากทีเดียว เช่นกรณีของการแต่งกายของวัยรุ่นญี่ปุ่นแถวฮาราจูกุ ซึ่งแสดงออกกันมาอย่างเต็มที่ หลากหลายสไตล์ และเกินคาดเดาได้ โดยมีทั้งสไตล์พั๊งค์ สไตล์เกียวรุตุ๊กตา หรือสไตล์คอสเพล ซึ่งสร้างเสียงหัวเราะที่ดูตลกขบขันถึงความบ้าคลั่งขั้นเทพของชาวญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ด้วยความกล้าและความมั่นใจในความคลั่งไคล้ของตนนั้นเอง ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นพื้นที่ ที่เปิดรับวัฒนธรรมอันหลากหลายและเป็นทางเลือกให้กับใครก็ตามที่อยากทำอะไรแบบฉีกแนว นอกกรอบได้ลองผิดลองถูกจนพัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเอง ซึ่งนี่เองคือพื้นฐานของแหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรมบนท้องถนน ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเชิดชูให้กลายเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมแห่งชาติที่สามารถส่งออกได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน


ทั้งนี้ แน่นอนว่าการกล้าคิด กล้าแสดงออกของคนประเทศนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างมีกระบวนการ โดยจะเห็นได้ว่า รายการโทรทัศน์หลายๆ รายการเปิดโอกาสให้ปุถุชนคนธรรมดาได้มีพื้นที่ในสื่อและแสดงออกซึ่งอัจฉริยภาพของตนเอง ไม่เชื่อก็ลองเปิดดูรายการ "เกมซ่าท้ากึ๋น" ที่บ้านเราไปซื้อมาออกอากาศทางฟรีทีวีก็ได้ว่า มันช่างเป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยที่มีกึ๋นได้โชว์ศักยภาพของตนเองมากขนาดไหน ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีนโยบายส่งออกความเจ๋งหรือความเท่ของตนเองได้นั้น คนในชาติต้องถูกปลูกฝังและฟูมฟักความมั่นใจในความเจ๋งของตนเองมาอย่างต่อเนื่องเสียก่อน ซึ่งก็นับว่าสื่อมวลชนในประเทศนี้มีบทบาทในเรื่องนี้อย่างมาก

ทั้งนี้เมื่อถึงคราวที่จะต้องส่งออกวัฒนธรรมขายอย่างเป็นจริงเป็นจัง รัฐบาลญี่ปุ่นก็เตรียมจัดทัพรบ โดยได้ระบุว่า สินค้าทางวัฒนธรรมถือเป็นหนึ่งในห้าของอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งเสริมความเจริญเติบโตของญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต โดยในปี 2010 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการส่งออกทางวัฒนธรรมโดยตรง พร้อมทั้งลงทุนในกิจกรรมด้านวัฒนธรรมไปกว่า 101.8 พันล้านเยน ซึ่งหากใครได้มีโอกาสดูรายการโทรทัศน์ที่ใช้ชื่อว่า คาวาอิทีวี (Kawai TV) ก็จะรู้ว่านี่คือรายการทีวีที่เป็นผลพวงของสังคมสร้างสรรค์ ซึ่งท้ายที่สุดก็คือการเอาสิ่งรอบตัวที่คนในสังคมตัวเองคลั่งไคล้ หลงใหล ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่น การตกแต่ง เครื่องสำอาง แอนิเมชั่น อาหารการกิน ดนตรี หรือกีฬา มานำเสนอให้คนชาติอื่นๆ ได้คลั่งไคล้ตามอย่างในแบบที่ไม่มีชนชาติใดจะสามารถเลียนแบบได้

นี่เองคงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความคลั่งไคล้ทางวัฒนธรรมที่สร้างศักยภาพการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบให้กับชาติของตนได้ ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป