การเติบโตสีน้ำเงิน : แนวคิดใหม่ของสหภาพยุโรป

การเติบโตสีน้ำเงิน : แนวคิดใหม่ของสหภาพยุโรป

เราคงเคยได้ยินแนวคิด “การเติบโตสีเขียว” (green growth) หรือการเติบโตที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในผู้นำแนวคิดนี้

และขณะนี้ “การเติบโตสีเขียว” ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาแนวใหม่ของไทยเราไปแล้ว

วันนี้ สหภาพยุโรปเริ่มพูดถึงแนวคิดใหม่ คือ “การเติบโตสีน้ำเงิน” (blue growth) เรามาลองดูกันว่าแนวคิดที่ว่านี้คืออะไร

การเติบโตสีน้ำเงิน คือ การให้ความสำคัญกับทะเลในฐานะเป็นทรัพยากรสำคัญ ทั้งในแง่การเป็นแหล่งประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่ง การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และแม้แต่การผลิตพลังงานจากคลื่น

พูดง่าย ๆ ก็คือ การเติบโตสีน้ำเงินจะเน้นให้การใช้ประโยชน์จากทะเลเป็นไปอย่างเหมาะสม เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ลูกหลานมีทะเลที่สะอาด และอุดมสมบูรณ์ใช้ต่อไป ซึ่งในแง่นี้ เราอาจจะมองได้ว่า การเติบโตสีน้ำเงินก็เป็นเสมือนส่วนย่อยส่วนหนึ่งของการเติบโตสีเขียวนั่นเอง

วันนี้เรามาคุยกันถึงเพียงแง่มุมเดียวของการเติบโตสีน้ำเงิน คือบทบาทของทะเลต่อการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราอาจจะเห็นว่าทะเลได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปริมาณน้ำในทะเลมากเกินไป จนท่วมพื้นที่ชายฝั่งหรือเกาะขนาดเล็กบางแห่ง หรือสภาพแวดล้อมในทะเลเสื่อมโทรม จนประชาชนไม่สามารถทำการประมงได้เช่นเดิม

แนวคิดเรื่องการเติบโตสีน้ำเงินชี้ว่า ที่จริงแล้วทะเลมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรามักจะมองว่าป่าไม้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดูดซับและเก็บสะสมคาร์บอน (carbon sequestration) แต่เรามักจะมองข้ามไปว่ามหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่สามารถดึงก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศและนำมาเก็บสะสมเอาไว้ได้ หรือที่เรียกว่า “คาร์บอนสีฟ้า” (blue carbon) มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ได้มากถึงร้อยละ 55 ที่จริงแล้วทะเลมีบทบาทสำคัญในวัฎจักรหมุนเวียนก๊าซคาร์บอนบนโลก เพราะไม่เพียงแต่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนในระยะยาวที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังทำหน้าที่สะสมและหมุนเวียนก๊าซคาร์บอนผ่านไปสู่ระบบนิเวศน์อื่นๆ อีกด้วย

การศึกษาของอียู พบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยในทะเลที่ปกคลุมไปด้วยพืช (ocean’s vegetated habitats) โดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลน ป่าพรุน้ำเค็มและแนวหญ้าทะเล แม้ว่าจะมีอาณาเขตเพียงร้อยละ 0.5 จากพื้นดินใต้ทะเลทั้งหมด แต่สามารถสะสม blue carbon ได้มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่มีการสะสมของคาร์บอนหนาแน่นที่สุดบนโลก แต่อัตราการสูญเสียระบบนิเวศน์ดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่อื่นๆ ทำให้การสะสม blue carbon ลดลงราวร้อยละ 2-7 ต่อปี (รวดเร็วกว่าช่วง 50 ปีก่อนหน้านี้ถึง 7 เท่าตัว) หากว่าเราสามารถหยุดยั้งความเสื่อมโทรมและฟื้นฟูการสะสมคาร์บอนของพื้นที่ดังกล่าวได้ รวมทั้งลดการทำลายป่าในเขตร้อนลง อาจช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาได้มากถึงร้อยละ 25

นอกจากนี้ บริเวณชายฝั่งทะเล (coastal water) มีอาณาเขตประมาณร้อยละ 7 ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่มีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อภาคประมงเพราะเป็นพื้นที่หลักที่ใช้ในการจับปลาและให้ผลผลิตเกือบครึ่งหนึ่งของการทำประมงทั่วโลก เขตชายฝั่งทะเล (coastal zones) ยังเป็นแหล่งที่มีการสะสม blue carbon มาก ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตและเป็นพื้นที่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านอื่นๆ อาทิเช่น ช่วยกลั่นกรองน้ำและลดผลกระทบจากมลภาวะชายฝั่งทะเล เป็นแหล่งที่มีตะกอนและสารอาหารมาก ช่วยป้องกันการกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่งและเป็นพื้นที่กันชนในช่วงสภาพอากาศเลวร้าย แต่ระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเลกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นผลพวงมาจากการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ดี รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและการจัดการขยะอย่างไม่เหมาะสม

ในชั้นนี้ สหภาพยุโรปยังไม่ได้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ทางทะเลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่การเจรจาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกระดับก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของระบบนิเวศน์ทางทะเลเท่าที่ควร


แต่อีกไม่นาน เราอาจจะได้เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการนำการดูดซับก๊าซคาร์บอนของระบบนิเวศน์ทางทะเลและพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่เป็นผลมาจากการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน มารวมไว้ในการคำนวณบัญชีก๊าซเรือนกระจก หรือการซื้อขาย “blue carbon credit” เช่นเดียวกับการค้า “green carbon credit” ที่มาจากการโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (clean development mechanism : CDM) ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจจะออกแบบมาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาอนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการระบบนิเวศน์ชายฝั่งให้ดีขึ้น และอาจจะมีบทลงโทษสำหรับกิจกรรมที่ทำลายความสมบูรณ์ของแหล่งนิเวศน์ทางทะเลที่มีคุณค่าต่อการสะสมคาร์บอน

แม้ว่าเรื่อง blue carbon credit อาจจะยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีแนวชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๒,๖๐๐ กิโลเมตร ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากมายไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน แนวปะการัง ชายหาดและพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การประมง การค้า ตลอดจนการดำรงชีวิตของชุมชนตามชายฝั่งทะเล

เราคงไม่จำเป็นต้องรอให้สหภาพยุโรปมาบอกเราว่าควรจะดำเนินการเช่นใด แต่น่าจะเป็นผลประโยชน์โดยตรงของเราที่จะเริ่มศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการเติบโตสีน้ำเงินของสหภาพยุโรป เพื่อหาแนวทางรักษาสมดุลของผลประโยชน์ระหว่างการรักษาระบบนิเวศน์ การส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมที่อยู่อาศัยชายฝั่งทะเล รวมทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปด้วยในตัว