ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นที่ตรึงเครียดขึ้น

ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นที่ตรึงเครียดขึ้น

ผมให้ความสำคัญและติดตามความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนอย่างใกล้ชิด เพราะเห็นแนวโน้มว่ามีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น

และเนื่องจากจีดีพีของทั้งสองประเทศมีขนาดใหญ่ประมาณ 2/3 ของจีดีพีสหรัฐ ที่สำคัญคือตลาดส่งออกไทยไปจีนและญี่ปุ่นรวมกันมีมูลค่าสูงกว่าการส่งออกไทยไปสหรัฐหนึ่งเท่าตัว (การส่งออกของไทยไปจีนประมาณ 12% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นและสหรัฐนั้นประมาณประเทศละ 10% ของการส่งออกทั้งหมด) นอกจากนั้นเราก็ทราบดีว่าญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุด ในขณะที่จีนก็มีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า เขมรและลาว เป็นต้น)

ข้อมูลที่ผมนำมาสรุปในครั้งนี้มาจากบทความใน “The Economist” ลงวันที่ 19 ม.ค. 2013 “China and Japan Square Up: The drums of war” และบทความในหนังสือพิมพ์ Asian Wall Street Journal ลงวันที่ 21 ม.ค. 2013 “Beijing Criticizes US stance of Islands” และ “Abe takes careful approach on China during tour” ซึ่งผมเห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจดังนี้

1. การอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของหมู่เกาะ Senkaku โดยญี่ปุ่นกับการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของหมู่เกาะเดียวกันของจีน (จีนเรียกว่าเกาะ Diaoyu) นั้นกำลังทำให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ Economist สรุปว่าการกระทบกระทั่งกันทางการทหารระหว่างสองประเทศเป็นภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามา (armed clashes loom closer)

2. ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งน่าจะสืบเนื่องมาจากความโกรธเคืองเรื่องญี่ปุ่นที่ได้ทำทารุณกรรมเอาไว้กับคนจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจีนมองว่าการยึดครองเกาะ Diaoyu นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สหรัฐยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้าไปปกครองเกาะดังกล่าวหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง แม้ว่าจีนจะคัดค้านการกระทำดังกล่าว นอกจากนั้นการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนตอนใต้จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะเชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ (ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและทรัพยากรอื่นๆ) รวมทั้งความได้เปรียบยุทธศาสตร์ที่จะสามารถควบคุมทางเดินทะเลที่ทั้งจีนญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ในเอเชียต้องพึ่งพาในการขนส่งสินค้าระหว่างกัน

3. Economist ตั้งข้อสังเกตว่าทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ในประเทศจีนเสนอข่าวในทำนองปลุกเร้าประชาชน ทำให้เข้าใจว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างญี่ปุ่นและจีนใกล้จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยอ้างว่ามีการนำเอานักรบนั่งเก้าอี้นวม (armchair warrior หรือ ผู้ที่เชี่ยวชาญการรบตามตำรา) มาให้ทัศนะต่างๆ นานา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่าจีนกับญี่ปุ่นจะต้องปะทะกันเพื่อช่วงชิงเกาะ Diaoyu คำถามต่อมาคือการวิเคราะห์ของสื่อมวลชนดังกล่าวเป็นการคิดกันไปเองและเป็นการสร้างข่าวหรือมีความเคลื่อนไหวและมีเงื่อนไขที่อาจทำให้การปะทะกันทางทหารเกิดขึ้นได้จริง เพราะหากจีนกับญี่ปุ่นปะทะกันจริงก็ย่อมจะทำให้เกิดความสูญเสียกับทุกฝ่าย เพราะจีนและญี่ปุ่นต่างก็มีการค้าและการลงทุนระหว่างกันเป็นจำนวนมาก และหากทั้งจีนและญี่ปุ่นต้องเสียเลือดเสียเนื้อกันทั้งสองฝ่ายก็อาจทำให้ประชาชนของแต่ละประเทศต่อว่ารัฐบาลของตนเอง นอกจากนั้นสำหรับจีนก็อาจทำให้ถูกมองโดยประเทศเพื่อนบ้านได้ว่าต้องการขยายอำนาจและบารมีของตนในภูมิภาค (เช่นที่ฟิลิปปินส์แสดงความวิตกกังวลอยู่ในขณะนี้) ทำให้เป็นการเปิดทางให้สหรัฐสามารถเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเพื่อคานอำนาจของจีน ที่สำคัญคือหากเกิดความบาดหมางกันขึ้นในภูมิภาคก็ย่อมจะทำให้บรรยากาศการดำเนินธุรกิจและความน่าลงทุนของภูมิภาคต้องถูกกระทบ จึงน่าจะสรุปได้ว่าไม่น่าจะต้องทะเลาะกันเกี่ยวกับเกาะที่มีขนาดไม่กี่ตารางเมตร (ซึ่งดูในแผนที่มีขนาดเล็กเท่ากับฝุ่น)

4. แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้มองได้ว่าความเสี่ยงที่จะปะทะกันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หลังจากที่นายอาเบะได้หาเสียงกับประชาชนญี่ปุ่นโดยเน้นความรักชาติและการต้องมีท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน และผู้นำรุ่นใหม่ของจีนเองก็อาจต้องดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวกับญี่ปุ่นเพื่ออิงกระแสความรักชาติ (และความไม่ชอบญี่ปุ่นของคนจีนเป็นทุนอยู่แล้ว) ในขณะที่ยังไม่สามารถสร้างฐานอำนาจของตนได้ ดังนั้นจีนจึงได้ส่งเครื่องบินสำรวจล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของเกาะ Senkaku เมื่อ 13 ธันวาคม 2012 ทำให้ญี่ปุ่นนำเครื่องบิน F15 ขึ้นมาขับไล่ ต่อมาญี่ปุ่นจึงนำเครื่องบิน AWACS ออกบินลาดตระเวนเพื่อสามารถรับรู้ล่วงหน้าหากจีนจะละเมิดน่านฟ้าของญี่ปุ่นอีก ซึ่งเมื่อ 10 มกราคมญี่ปุ่นได้นำเครื่องบิน F15 2 ลำขึ้นไปขับไล่เครื่องบินจีนที่บินเข้ามาใกล้เกาะดังกล่าว ทำให้จีนก็นำเครื่องบินขับไล่ของตนบินขึ้นมาเพื่อตอบโต้เช่นกัน ดังนั้นญี่ปุ่นจึงกำลังตัดสินใจว่าหากเครื่องบินจีนละเมิดน่านฟ้าของญี่ปุ่น (ที่เกาะ Senkaku) อีก เครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นอาจยิงปืนตักเตือน ซึ่งนายพล Peng Guangian ของโรงเรียนเสนาธิการทหารของจีนให้สัมภาษณ์ว่า หากญี่ปุ่นทำเช่นนั้นจีนก็จะตีความว่าเป็นการเริ่มสู้รบกัน (first shot of actual combat) ซึ่งจีนก็จะต้องตอบโต้อย่างไม่เกรงใจ

5. เป็นที่เข้าใจว่าสหรัฐพยายามทัดทานไม่ให้ญี่ปุ่นตัดสินใจสั่งให้เครื่องบินขับไล่ของตนยิงปืนเพื่อตักเตือนจีนไม่ให้ลุกล้ำน่านฟ้าของญี่ปุ่น โดยเมื่อนายคิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเข้าพบนางคลินตันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ นายคิชิดะให้คำมั่นสัญญาว่าญี่ปุ่นจะมีปฏิกิริยาต่อจีนอย่างสุขุมเพื่อไม่ให้เป็นการยั่วยุจีน (we intend to respond calmly so as not to provoke china) และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนบนพื้นฐานของการมียุทธศาสตร์ร่วมกับจีนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานเมื่อ 19 มกราคมว่า นายอาเบะได้ขอให้ประเทศพันธมิตรประเทศหนึ่งไปเสนอต่อจีนว่าเขาต้องการพบผู้นำของจีนเพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูตให้พัฒนาในทางที่ดีขึ้น และหัวหน้าพรรค Komeito ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของนายอาเบะก็กำลังจะไปเยือนจีนด้วยข้อเสนอดังกล่าวในวันที่ 22 มกราคม

6. แต่เท่าที่ติดตามข่าว จีนยังไม่ได้แสดงท่าทีที่เป็นมิตรนัก เพราะจากการพบปะกันระหว่างนางคลินตันกับนายคิชิดะนั้น นางคลินตันได้กล่าวสนับสนุนท่าทีของญี่ปุ่น โดยกล่าวว่าสหรัฐจะ “คัดค้านการกระทำใดๆ ที่จะกระทบสถานะปัจจุบันที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครองเกาะ Senkaku” ซึ่งเป็นท่าทีที่ดูจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ย้ำว่า สหรัฐไม่มีจุดยืนในเรื่องที่ว่าประเทศใดมีอธิปไตยเหนือเกาะ Senkaku คำกล่าวของนางคลินตันทำให้จีนตอบโต้ว่าสหรัฐไม่รู้ข้อมูลและไม่รู้ความผิดความถูกของปัญหา ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐสามารถโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นเลิกคิดที่จะยังขู่จีนหากมีการละเมิดน่านฟ้าแต่ต้องแลกกับการที่สหรัฐต้องสนับสนุนญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่บริหารและปกครองเกาะ Senkaku อยู่ในขณะนี้

7. การมาเยือนประเทศเวียดนาม ไทยและอินโดนีเซียของนายกรัฐมนตรีอาเบะ วันที่ 16-18 มกราคมถูกมองว่ามีนัยทางการเมือง กล่าวคือญี่ปุ่นต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อคานการแผ่ขยายอำนาจของจีน พร้อมทั้งการประกาศเจตนารมณ์ของญี่ปุ่นที่ต้องการจะขยายบทบาทของตนในการรักษา “เสถียรภาพและสันติภาพ” ในภูมิภาคและแม้ว่านายอาเบะระมัดระวังที่จะไม่กล่าวอะไรที่จะไประคายเคืองจีน แต่ก็ไม่วายที่จีนจะตำหนินายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่าได้มีวาระซ่อนเร้นที่จะนำเอาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา “รุมล้อมจีน” (encircle china)

ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจะเป็นเรื่องน่าจะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยิ่งครับ