“รถยนต์คันแรก” ทำร้ายคน 65 ล้านคนอย่างไร

“รถยนต์คันแรก” ทำร้ายคน 65 ล้านคนอย่างไร

รัฐบาลและนักเขียนที่เข้าข้างรัฐบาลอ้างว่า โครงการรถยนต์คันแรกเป็นการช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสได้ซื้อรถยนต์

เป็นการเพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต และรัฐบาลจะใช้เงินไม่มาก เนื่องจากจะเก็บภาษีจากบริษัทรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น

นี่เป็นการใช้หลักเหตุผลมาอ้างแบบเลือกเฉพาะแง่ที่ดี ที่ถ้าคนฟังไม่คิดอะไรมากก็ฟังดูดีหรือพอใช้ แต่ถ้าพิจารณาปัญหาและผลกระทบอย่างรอบคอบ โครงการนี้มีผลเสียหายต่อคนทั้งประเทศอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. ไม่เป็นธรรม 2. ส่งเสริมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวและประเทศขาดดุลการค้ามากขึ้น และ 3. สภาพจราจรในเมืองใหญ่ติดขัด เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ความไม่เป็นธรรมคือ รัฐบาลใช้งบประมาณซึ่งมาจากภาษีและรายได้จากทรัพยากรส่วนรวมของคนทั้งประเทศ 65 ล้านคน ไปอุดหนุนคนชั้นกลางในเมืองที่พอจะซื้อรถได้ ราว 1.2 ล้านคน และบริษัทรถยนต์ต่างชาติ 4-5 บริษัท การอ้างว่าคนจนจะได้มีโอกาสมีรถยนต์เท่าเทียมกับคนรวย เป็นการอ้างที่บิดเบือน รถยนต์ส่วนตัวคันละไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนบาทขึ้นไป มีแต่คนชั้นกลางที่พ่อแม่รวยหรือตนเองมีรายได้เดือนละอย่างน้อย 2 หมื่นบาท ที่จะซื้อผ่อนส่งได้ การที่รัฐคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก คันละราว 1 แสนบาท (บางรุ่นได้ต่ำกว่านี้เล็กน้อย) จำนวนราว 1.2 ล้านคัน คิดเป็นเงินรวมราว 1 แสนล้านบาท คือภาษีของประเทศที่ภาครัฐควรจะได้นำไปใช้จ่ายในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อแค่ช่วยให้คนชั้นกลางในเมืองเพียงแค่ไม่ถึง 2% ของคนทั้งประเทศได้มีรถส่วนตัวใช้

ทั้งเงินราว 1 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลดึงเอาจากประชาชน 65 ล้านคน (ส่วนใหญ่คือเกษตรกร คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ที่จนจริง) ไปจ่ายให้คน 1.2 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่คนจนที่แท้จริง ถ้าคิดไปถึงปลายทางแล้ว ก็คือการอุดหนุนให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติ 4-5 บริษัท ขายรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น ได้กำไรเพิ่มขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้ลดต้นทุนเรื่องการทำการตลาด การแข่งขัน ลดแลกแจกแถมได้ด้วย เพราะรัฐบาลช่วยส่งเสริมการขายให้ฟรีๆ อย่างได้ผลมาก เงินราว 1 แสนบาท คือ เงินภาษีที่ภาครัฐหรือประชาชนต้องสูญเสียจริง ถึงรัฐจะเก็บภาษีจากบริษัทรถยนต์ได้ส่วนหนึ่ง ก็ไม่อาจนำเงินจำนวนนั้นมาทดแทนได้ เพราะภาษีทุกชนิดต้องเป็นของที่นำไปใช้เพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว

2. คนรายได้ปานกลางที่อยากมีรถส่วนตัว ทั้งๆ ที่ไม่พร้อม จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นหนี้เพิ่มขึ้น การซื้อรถยนต์ส่วนตัวเป็นการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช่การลงทุนที่จะก่อดอกก่อผล และประเทศต้องขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น รถยนต์ที่รัฐให้เงินอุดหนุน นอกจากจะเป็นของบริษัทต่างชาติแล้ว เหล็ก เครื่องจักร ชิ้นส่วนอะไหล่ อุปกรณ์ น้ำมัน ก็ล้วนแต่เป็นของที่ไทยต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศทั้งสิ้น การอ้างว่ายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็นการช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้นเป็นภาพลวงตาโดยสิ้นเชิง เงินกำไรจากการขายรถยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ อุปกรณ์ น้ำมัน เชื้อเพลิง ปกติก็ไหลกลับออกต่างประเทศมากอยู่แล้ว (ไทยสั่งเข้าน้ำมันดิบปีละ 1 ล้านล้านบาท ส่วนประกอบอุปกรณ์รถยนต์ปีละ 3 แสนล้านบาท ยังไม่รวมการสั่งเข้าเครื่องจักร เหล็กและอื่นๆ อีกหลายแสนล้านบาท) เมื่อรัฐบาลแถมเงินให้คนไทยซื้อรถยนต์ญี่ปุ่นและชาติต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ยิ่งจะทำให้ไทยต้องขาดดุลการค้า (สั่งเข้ามากกว่าส่งออก) จากชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์และน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกมาก การมีรถใหม่ออกมามาก ทำให้ปัญหารถติดเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ทำให้รถสึกหรอและใช้น้ำมัน (และก๊าซ) เพิ่มขึ้นเข้าไปอีก

ความเสียหายข้อที่ 3 คือการทำให้สุขภาพคนและสิ่งแวดล้อมเสียหายเพิ่มขึ้น จากการที่รถส่วนตัวเพิ่มขึ้นมากและการจราจรในเมืองทั้งกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นติดขัด ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควันพิษต่างๆ เพิ่มขึ้น คนในเมืองใหญ่ สุขภาพแย่ลงและหงุดหงิด เคร่งเครียด มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

การอ้างว่ารัฐบาลเลือกส่งเสริมเฉพาะรถแบบประหยัดน้ำมัน เป็นเรื่องหลอกเด็ก เพราะถึงรถเล็กจะประหยัดน้ำมันกว่ารถใหญ่สัก 10-20% แต่การเพิ่มรถใหม่ขึ้นมา 1.2 ล้านคัน รวมทั้งรถอื่นๆ อีก ก็คือการเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงและเพิ่มมลภาวะอย่างมหาศาล เด็กในเมืองใหญ่ที่ขณะนี้ ความฉลาดทางปัญญาลดลง สุขภาพแย่ลงจากเมื่อก่อน เพราะได้รับสารตะกั่วและมลภาวะเพิ่มขึ้น ก็จะได้รับของขวัญที่เลวร้ายนี้เพิ่มขึ้น

โครงการหาเสียงแบบแจกเงินให้คนชั้นกลางซื้อรถยนต์ส่วนตัว ยังทำให้รถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่ มีปัญหาการจราจรติดขัดเพิ่มขึ้น รวมทั้งคนขับรถแท็กซี่ซึ่งไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ยังต้องแล่นรถเปล่าตระเวนหาผู้โดยสารเพิ่มขึ้นและรับผู้โดยสารได้ลดลงอีกด้วย อุบัติเหตุก็เพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่คงจะเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีด้วย

สิ่งที่รัฐบาลประเทศที่ฉลาดกว่าไทยเขาทำคือ เพิ่มการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า เรือ ฯลฯ ให้ดีขึ้น และลดการใช้รถส่วนตัวด้วยการเก็บภาษีค่าธรรมเนียมการใช้รถ ใช้ถนน ใช้น้ำมัน เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ยิ่งรถแพงกินน้ำมันมาก ยิ่งต้องเสียแพงขึ้น บางประเทศเก็บค่าธรรมเนียมการนำรถส่วนตัวเข้ามาในเขตเมือง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด บางประเทศเช่น ยุโรป ส่งเสริมการใช้รถจักรยานแบบมีเส้นทางและสัญญาณไฟรถจักรยาน ปลูกต้นไม้ข้างทางให้ร่มรื่น มีที่จอดรถจักรยานเป็นราวเหล็กแบบเอากุญแจไปคล้องติดไว้ได้ ฯลฯ

การที่รัฐบาลทุกรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์การเจริญเติบโตไว้ที่เมืองใหญ่แบบกรุงเทพฯมากเกินไป และการปล่อยให้ที่ดินราคาสูงโดยไม่มีการแบ่งโซนที่ดิน และการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ทำให้ที่ดินในเมืองใหญ่มีราคาแพงมาก คนต้องไปหาที่อยู่อาศัยอยู่นอกเมืองที่การขนส่งสาธารณะไปไม่ถึง บางแห่งคนพึ่งมอเตอร์ไซค์ได้บ้าง แต่ก็ไม่มีมาตรการความปลอดภัยที่ดี นโยบายที่ไม่เข้าท่านี้ จึงเท่ากับส่งเสริมให้คนชั้นกลางต้องขวนขวายซื้อรถยนต์ พอมีรถยนต์ส่วนตัวแล้วคนก็จะเคยชินการใช้รถส่วนตัว การขนส่งสาธารณะก็เติบโตได้ยาก

การส่งเสริมรถยนต์ส่วนตัวมาก ทำให้รถเมล์หรือรถบัสปรับอากาศบางสายมีคนนั่งน้อย เมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด ระบบการขนส่งสาธารณะพัฒนาได้ยาก มีแต่รถเมล์ รถสองแถว รถไฟชั้น 3 คุณภาพต่ำสำหรับคนจน คนชั้นกลางใช้รถส่วนตัวหรือมอเตอร์ไซค์กันมาก ไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบที่นักท่องเที่ยวเดินทางเองด้วย เพราะเช่ารถก็จะแพง ต่างจากเมืองอื่นๆ ในยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่มีการขนส่งสาธารณะที่สะดวก และมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลกลางและท้องถิ่นที่ฉลาดควรเน้นการพัฒนาขนส่งสาธารณะและรถจักรยานซึ่งประหยัดกว่าและสร้างมลภาวะน้อยกว่าการใช้รถส่วนตัวอย่างมาก โดยควรมีการวางแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างเป็นระบบครบวงจรจริงจัง และควรรณรงค์ให้คนต้องลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง ล้าหลัง ไม่เป็นธรรม และเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมและระบบนิเวศ