การค้าชายแดนไทย - พม่า

การค้าชายแดนไทย - พม่า

ประเทศพม่ามีภูมิประเทศที่ตั้งที่ได้เปรียบประเทศอื่นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพราะ (1) เป็นประเทศที่มีพรมแดนด้านทิศเหนือติดต่อกับจีนและทิเบต

(2) ทิศตะวันตกติดต่อกับอินเดียและบังคลาเทศ ทิศตะวันออกติดต่อกับไทยและลาว (3) ส่วนด้านทิศใต้ติดต่อกับทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียพม่า มีชายฝั่งทะเลยาว 2,000 ไมล์

ทั้งยังเป็นทะเลที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเล พม่าจึงเป็นเสมือนประตูการค้า (Gate Way) ที่สำคัญของภูมิภาคนี้ (สุชาติ นิตยพงศ์ชัย 2555) ทำให้เป็นที่หมายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่ที่ต้องการใช้พม่า เป็นเส้นทางการค้าที่ระบายสินค้าจากจีนตอนใต้ออกสู่ทะเลทางด้านทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย เป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบและน้ำมันเข้าสู่ประเทศเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบผ่านช่องแคบมะละกาทำให้พม่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าข้ามไปยังจีนและอินเดีย

รวมถึงประเทศพม่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าไม้ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ รวมถึงต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ด้วยปัจจัยต่างๆ ข้างต้นทำให้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคต่อไปในอนาคต (ถ้าไม่มีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น)

สังเกตได้จากภายหลังประเทศพม่าได้จัดให้มีการปฏิรูปประเทศ เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2553 (2010) เป็นการเลือกตั้งที่ครั้งแรกของพม่าในรอบ 20 ปี

ผลจากการปฏิรูปประเทศของพม่าในทศวรรษที่ 2550 ในระยะ 9 เดือนแรกระหว่าง เม.ย.-ธ.ค. 2555 พม่าส่งออกข้าวได้ทั้งหมด 1.01 ล้านตัน และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2555-2556 คาดว่าพม่าจะมีปริมาณส่งออกข้าวมากที่สุดในรอบ 46 ปี โดยส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย บังคลาเทศ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย และหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งน่าจะส่งออกข้าวได้ปริมาณกว่า 1.176 ล้านตัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากความผ่อนคลายทางการเมืองในต้นทศวรรษ 2550

ไม่แต่เท่านั้นในปี 2549/ 2550 มูลค่าการค้าชายแดนพม่ากับจีนมาเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าสูงถึง 721 ล้านดอลลาร์ รองลงมาได้แก่ ไทย จำนวน 248 ล้านดอลลาร์ แต่หากดูการค้ารวมทั้งหมดแล้วไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดจำนวน 2,650 ล้านดอลลาร์ จีนเป็นอันดับ 2 ตามด้วยสิงคโปร์และอินเดีย

โดยคู่ค่าที่สำคัญของพม่าคือไทยที่มีจุดทำการค้าชายแดน 16 จุด ในภาคเหนือ 6 แห่ง ใน 4 จังหวัด คือ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย แต่ที่สำคัญมี 2 แห่ง คือด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย และด่านแม่สอด จังหวัดตาก ในปี 2549 มูลค่าผ่านด่านทั้ง 6 แห่ง รวม 16,933.7 ล้านบาท เป็นการส่งออก 14,899.3 ล้านบาท และนำเข้า 2,034.4 ล้านบาท (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2555)

การค้าชายแดนไทย - พม่า มีมูลค่าการค้าและการส่งออกสูงสุดในภาคเหนือ ปี 2553 มีมูลค่าการค้า 32,991.03 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.82 ของมูลค่าการค้าชายแดนภาคเหนือทั้งหมดแบ่งเป็นการส่งออก 31,523.28 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 78.75 และการนำเข้า 1,467.76 ล้านบาทสัดส่วนร้อยละ 31.50 สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคส่วนสินค้านำเข้า คือไม้สัก ของป่า พลอย เป็นต้น

การค้าปี 2554 ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับพม่า รวม 157,590.6 ล้านบาท (ปี 2553 มูลค่า 137,869.3 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 จำแนกเป็นการส่งออก 60,597.3 ล้านบาท (ปี 2553 มีมูลค่า 50,854.4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 การนำเข้า 96,993.3 ล้านบาท (ปี 2553 มีมูลค่า 87,014.9 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า 36,396.0 ล้านบาท อันเป็นผลจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ

สำหรับปี 2555 (มกราคม) ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับพม่า รวม 12,212.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.2 (ปี 2554 มีมูลค่า 12,190.7 ล้านบาท) แบ่งเป็นการส่งออก มีมูลค่า 5,111.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 (ปี 2554 มีมูลค่า 4,923.0 ล้านบาท) การนำเข้า มีมูลค่า 7,100.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.3 (ปี 2554 มีมูลค่า 7,267.7 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 1,989.2 ล้านบาท (สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ 2555)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล มีมูลค่า 554.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.6 เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีมูลค่า 448.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 น้ำมันเบนซิน 324.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.3 เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ มีมูลค่า 301.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 (สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ 2555)

ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ มีมูลค่า 6,782.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.3 สัตว์น้ำ มีมูลค่า 146.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26.4 ผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ มีมูลค่า 58.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.4 โค กระบือ สุกร แพะ แกะ มีมูลค่า 24.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 และสินแร่ โลหะอื่นๆ เศษโลหะ อื่นๆ และผลิตภัณฑ์ มีมูลค่า 22.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.7 (สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ 2555)

จากข้อมูลข้างต้นเราพอที่จะเห็นแนวโน้มของการค้าชายแดนไทย - พม่า ได้ 5-6 ประการ คือ

ประการแรกไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของพม่า โดยสินค้าที่ไทยส่งออกเป็นสินค้าที่ “แปรรูป” แล้ว ทำให้มีมูลค่าสูง ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรพื้นฐาน เช่น ไม้ แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ แม้ว่าสินค้าไทยจะมีมูลค่าสูงแต่ไทยก็เสียเปรียบดุลการค้ากับพม่าเรื่อยมาเนื่องจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มาก

ประการที่สองหลังจากพม่ามีการเลือกตั้ง และสถานการณ์ทางการเมืองผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้มีการค้า และการลงทุนจากชาติต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และคาดหมายว่าจะเป็นแหล่งลงทุนใหม่ของชาติอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ

ประการที่สามเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญระหว่างจีนกับอินเดีย และสามารถส่งสินค้าเข้าไปในทั้ง 2 ประเทศนี้ได้สะดวกกว่าเส้นทางอื่นๆ ทำให้เป็นเป้าหมายการลงทุนของต่างชาติ

ประการที่สี่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำมัน และแร่ธาตุที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการผลิต ทำให้ได้เปรียบชาติอื่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่มีข้อจำกัดด้านนี้

ประการที่ห้าการค้ามูลค่ามหาศาลของไทยกับพม่ายังมีความเปราะบางสูงเนื่องจากการเมืองภายในของพม่า และปัญหาของการค้า “ลอดรัฐ” ที่มีมูลค่ามหาศาล และยากที่รัฐจะควบคุม ทำให้ “รัฐ” ของทั้ง 2 ประเทศ สูญเสียรายได้จำนวนมากต่อปี

ประการสุดท้ายการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดน ที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อไทยที่เพิ่มทวีขึ้นอย่างสูงในพื้นที่ชายแดนไทย - พม่า มีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งยาเสพติดต่อไปยังประเทศอื่น ซึ่งยังไม่มีมาตรการจัดการ ซึ่งผลเป็นปัญหาสังคม และความมั่นคงต่อรัฐของไทยอย่างมากซึ่งสร้างภาระในการจัดการให้แก่ภาครัฐในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องตระหนักต่อไป

และในปัจจุบันจีนได้เข้ามามีส่วนอย่างสำคัญในกิจการด้านต่างๆ ของพม่าและถ้าไทยยังไม่ปรับตัว หรือสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับพม่าให้มากขึ้น ก็ไม่อาจเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาของพม่าได้วันนี้คนไทยมีความรู้เกี่ยวพม่ามากน้อยแค่ไหนครับ


ข้อมูลนักเขียน

ชัยพงษ์ สำเนียง

โครงการ ความสัมพันธ์ไร้พรมแดน : การจัดการทรัพยากรสองริมฝั่งโขง ของชาวเชียงแสน-เชียงของ และต้นผึ้ง-ห้วยทรายสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่