ความไม่ยั่งยืนของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความไม่ยั่งยืนของการพัฒนาที่ยั่งยืน

แบบแผนของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอดีตที่ดำเนินมา ยังต้องอาศัยการปรับปรุงให้เข้ากับปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอยู่มาก

ในคราวที่สหประชาชาติได้จัดการประชุมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า Rio+20 ณ นครริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2555 ทำให้เกิดกรอบการทำงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ ภายใต้เอกสารผลลัพธ์การประชุม ความหนา 53 หน้า ที่มีชื่อว่า “The Future We Want” ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากชาติสมาชิก 193 ประเทศ


หลังจากการประชุม Rio+20 สหประชาชาติได้วางกรอบแนวทางการพัฒนาสำหรับการเปลี่ยนผ่านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2015 ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยระบุให้เป็นวาระการพัฒนาหลังจากปี ค.ศ. 2015 (Post-2015 Development Agenda) ไว้ในเอกสารชื่อ ‘Realizing the Future We Want for All’ ซึ่งประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน (Human Rights) ความเสมอภาค (Equality) และความยั่งยืน (Sustainability)


ภาคธุรกิจ จะมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับวาระการพัฒนาหลังจากปี ค.ศ. 2015 ด้วยความพยายามในการแปลงหลักการดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรมแห่งการปฏิบัติ ตามบทบาทที่ธุรกิจพึงจะดำเนินการได้ในขอบเขตของตนเอง ทั้งนี้ หลักการแนวทางที่ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน เรื่องความเสมอภาค และประเด็นความยั่งยืน ก็มิใช่ว่าจะไม่มีการปฏิบัติมาแต่ก่อน เพียงแต่ธุรกิจ อาจต้องวางแนวทางการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการมากกว่าที่เคยเป็นมา ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างแนวทางของการขับเคลื่อนหลักการทั้งสามประการนี้ มาให้เป็นข้อมูลพอสังเขป ดังนี้


ในเรื่องสิทธิมนุษยชนกับบทบาทของภาคธุรกิจ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ได้เผยแพร่หลักการแนวทางของสหประชาชาติภายใต้กรอบ “คุ้มครอง-เคารพ-เยียวยา” สำหรับการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2554 โดยองค์กรธุรกิจในทุกขนาดและทุกประเภทกิจการสามารถนำหลักการแนวทางดังกล่าวมาพิจารณาดำเนินการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนได้เป็นอย่างดี


สำหรับเรื่องความเสมอภาคกับบทบาทของภาคธุรกิจ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WBCSD) ได้นิยามคำว่า “Inclusive Business” ขึ้นในปี 2548 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงชุมชนในระดับฐานราก ด้วยการสร้างงานแก่คนในท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย การมอบโอกาสให้แก่สมาชิกชุมชนในการเป็นผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการในห่วงโซ่ธุรกิจ และการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานราก ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต


ส่วนเรื่องความยั่งยืนกับบทบาทของภาคธุรกิจที่หลายองค์กรได้มีการขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแล้วนั้น จากผลการรับฟังความคิดเห็นแรกเริ่มที่ถูกส่งไปยังคณะทำงานว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2555 ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนกรอบคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล จากแบบเสาหลัก (pillars) แห่งการพัฒนา ที่ยึดเป็นตัวแบบตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาเป็นมิติ (dimensions) แห่งการพัฒนา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นับจากปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งเสริมการพัฒนาในแบบแยกส่วน และเน้นให้เกิดผลของการพัฒนาที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติในทุกระดับของการพัฒนา


จะเห็นว่าแบบแผนของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอดีตที่ดำเนินมา ก็ยังมีความไม่ยั่งยืนอยู่ และยังต้องอาศัยการปรับปรุงให้เข้ากับปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 20 ปีข้างหน้าอยู่อีกมาก


เพื่อให้องค์กรธุรกิจไทยได้รับทราบข้อมูลในกรอบการทำงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ ที่นานาประเทศได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ฉบับ 2.0 ในเบื้องต้น พร้อมกับการรับทราบสถานการณ์ด้าน CSR ภายในประเทศ สถาบันไทยพัฒน์ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะจัดงานแถลง “ทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2556: Sustainable Development 2.0” ในวันพฤหัสที่ 31 มกราคม 2556 เวลา 9.00 - 12.00 น. ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการในปี 2556 นี้