คนเราขยันทำมาหากินไปเพื่ออะไร ?

คนเราขยันทำมาหากินไปเพื่ออะไร ?

“คนเราขยันทำมาหากินไปเพื่ออะไร ?” ฟังดูอาจจะเป็นคำถามที่ไม่น่าถาม เพราะใครๆ ก็รู้ว่า เมื่อขยันทำมาหากินแล้ว ย่อมจะส่งผลต่างๆ

ดังต่อไปนี้คือ 1. มีกินมีใช้ 2. มีเงินทองสั่งสมยกระดับฐานะให้ดีขึ้นหรือร่ำรวยขึ้น 3. เมื่อฐานะดีก็จะส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่เพิ่งสร้างขึ้น หรือครอบครัวของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย 4. มีมรดกตกทอดไปยังลูกหลาน ก็จะทำให้คนในตระกูลมีหลักประกันที่จะมีชีวิตที่ดีต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนเริ่มจากศูนย์ แต่สามารถต่อยอดความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป 5. เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี ก็ถือว่าไม่สร้างปัญหาภาระให้กับสังคมหรือรัฐบาล เช่น ยามเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลเอกชนได้ 6. เมื่อทำงานมาก มีรายได้มาก ก็ย่อมต้องเสียภาษีมาก ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ส่งผลให้ประเทศมีสถานะทางเศรษฐกิจเข้มแข็งมั่นคง

เมื่อเป็นดังที่ว่ามา 6 ข้อข้างต้น ถามว่าคนขยันทำมาหากินได้อะไรหรือมีความสุขจากอะไรใน 6 ข้อนั้น ? คำถามนี้ก็เป็นคำถามที่ไม่น่าถามอีกเหมือนกัน เพราะจากข้อ 1 เมื่อขยันแล้วมีกินมีใช้ ก็ย่อมดีกว่าไม่มีกินไม่มีใช้หรืออดๆ อยากๆ สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ต่อมา ข้อ 2 เมื่อยกระดับเกินกว่าแค่มีกินมีใช้ กลายเป็นคนร่ำรวย คนที่ขยันมีความสุขอะไร ? คนที่มีความสุขกับความร่ำรวยมีสองพวก พวกแรกมีความสุขจากการกินใช้ของแพงขึ้น และมีความสุขกับการจับจ่ายซื้อของที่เป็นของฟุ่มเฟือย แต่หากขยันเสียจนไม่มีเวลาใช้เงิน ก็คงจะไม่มีความสุขจากความร่ำรวย แต่นั่นไม่ได้เป็นปัญหากับคนรวยอีกประเภทหนึ่งที่มีความสุขกับการดูยอดเงินในบัญชีออมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คนพวกนี้แม้ว่าไม่มีเวลาใช้เงินก็ไม่เดือดร้อนอะไร แถมมีความสุขกับการเก็บด้วยซ้ำ หรือแม้นมีเวลาใช้เงิน แต่ก็ไม่ได้มีความสุขกับการใช้เงินไปกับของฟุ่มเฟือย คนพวกนี้อาจจะแบ่งปันเงินไปเลี้ยงดูคนในครอบครัว (ข้อ 3) แต่ก็จะให้เท่าที่เขาคิดว่าจำเป็น คนพวกนี้ก็ย่อมไม่มีความสุขกับการที่การที่สมาชิกในครอบครัวของเขาจะมีความสุขกับการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย แต่กลับจะทุกข์ร้อนเสียด้วยซ้ำหากเงินที่เขาหามาถูกใช้ไปวิถีชีวิตราคาแพงและฟุ่มเฟือย

สำหรับข้อ 4 เป็นไปได้เหมือนกันว่า อาจจะมีคนรวยจำนวนหนึ่งที่มีความสุขและภาคภูมิใจกับการเก็บเงินไว้ให้ลูกหลานเหลนได้ใช้อย่างสบายๆ ไม่ทุกข์ร้อนอะไรหากลูกๆ หลานๆ จะผลาญเงิน แต่แน่นอนว่า คนรวยอีกประเภทที่กล่าวไปข้างต้นจะออกอาการประสาทหากเงินของเขาจะถูกผลาญมากกว่าเก็บอย่างที่เขาเก็บ และจะทุกข์ร้อนอย่างยิ่งตอนที่เขาใกล้ตาย เพราะเขาไม่สามารถอยู่ควบคุมการใช้เงินอีกต่อไป

ในกรณีของข้อ 5 จะพบว่าไม่ใช่คนรวยทุกคนที่เมื่อรวยแล้ว จะมีความสุขจากการที่ตนและคนในครอบครัวไม่ได้เป็นภาระแก่สังคมหรือรัฐบาล เพราะคนรวยจำนวนหนึ่งย่อมไม่ได้สนใจประเด็นนี้เลย ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นความจริงที่คนรวยจะไม่เป็นภาระให้กับสังคมหรือรัฐบาลในแง่ที่ว่าไปฉกชิงวิ่งราวเป็นขโมยเป็นโจร หรือต้องไปเบียดเบียนสวัสดิการสังคมต่างๆ แต่จริงหรือที่ลูกคนรวยทุกคนไม่ได้เป็นภาระหรือปัญหาให้กับสังคม-รัฐบาล ? ขณะเดียวกัน เราก็จะพบว่า คนรวยจำนวนไม่น้อยมีความทุกข์กับพฤติกรรมแย่ๆ ของลูกหลานของตน แม้ว่าจะไม่ได้มีความสุขหากลูกตนไม่ได้สร้างปัญหาให้กับสังคมก็ตาม และคนรวยย่อมจะคิดไปเองด้วยว่าความทุกข์ทรมานกับพฤติกรรมเลวของลูกหลานของตนนั้นมันทุกข์มากกว่าที่คนจนต้องทุกข์กับการมีลูกเลว

ส่วนข้อ 6 ที่ว่า “เมื่อทำงานมาก มีรายได้มาก ก็ย่อมต้องเสียภาษีมาก ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ส่งผลให้ประเทศมีสถานะทางเศรษฐกิจเข้มแข็งมั่นคง” ก็เช่นเดียวกันกับที่กล่าวไปคือ มีคนรวยจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่คิดเช่นนั้น และมีความสุขกับการเสียภาษีมากๆ แต่แน่นอนว่า ก็มีคนรวยประเภทที่จะรู้สึกทุกข์ร้อนกับการต้องเสียภาษีมากๆ เพราะมันจะทำให้ยอดเงินของเขาหดหายไป และเขารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม

แต่จริงหรือที่คนรวยที่มีความสุขกับการเสียภาษีเพราะมี “ความรักชาติ” จะมีความสุขกับการเสียภาษีมากๆ เสมอ ? เพราะหากรัฐบาลมีนโยบายในการใช้งบประมาณที่สวนทางกับ “ความเจริญของชาติ” ในความเข้าใจของเขา เขาย่อมจะทุกข์มากกว่าสุข คนรวยประเภทนี้จะมีความสุขกับการเสียภาษีต่อเมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องตรงกับ “ความเจริญของชาติ” ในความคิดของเขา แต่แน่นอนว่า คนรวยประเภทที่ไม่สนใจความเจริญของชาติเลย ย่อมจะทุกข์ร้อนและพยายามเลี่ยงภาษีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลแบบไหน

แต่ก็มองข้ามไม่ได้ว่า คงมีคนรวยบางคนที่มีความสุขกับทำงาน และความสุขกับการทำงานนั้นมีมากกว่าความสุขจากการมีเงิน ยิ่งทำก็ยิ่งมีความสุข เหมือนคนที่มีความสุขกับการเล่นดนตรี ย่อมมีความสุขกับการเล่นมากกว่าการได้เงินจากการเล่น รวยเป็นแค่ผลพลอยได้ แต่จริงๆ แล้วจะรวยหรือไม่ ไม่สำคัญ

แต่อย่างที่พูดๆ กันมาตลอดในทุกสังคมก็คือ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนที่ขยันทำมาหากินที่ร่ำรวยขึ้นมาแล้ว และยังขยันทำมาหากินต่อไปเพื่อจะได้รวยมากขึ้นๆ โดยไม่รู้จักความพอดี ย่อมจะหาเวลาให้กับครอบครัวยาก ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส-ลูกเต้าหรือพ่อแม่ของตน เขาและครอบครัวของเขาจะมีความสุขก็ต่อเมื่อพวกเขามีทัศนะต่อ “ความสุขในชีวิต” เหมือนกัน แต่ถ้าแตกต่างกัน ความร่ำรวยของเขาอาจจะเป็นสาเหตุของความทุกข์ทั้งของตัวเขาและคนในครอบครัวของเขา

แต่ก็มีคนรวยที่รู้จักพอ และใช้ชีวิตอย่างพอดี แต่ก็อีกนั่นแหละ เขาและครอบครัวของเขาจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีทัศนะต่อ “ความสุขในชีวิต” เหมือนกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราจะพบว่า มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ขยันทำมาหากินมากเท่าไรแต่ก็ไม่มีทางร่ำรวยได้เหมือนคนบางกลุ่ม คนจนเหล่านี้หามาได้ไม่มากแต่ก็ต้องจ่ายออกไปอยู่เสมอ ยากที่จะมีเก็บ ระหว่างการเรียกร้องให้คนรวยรู้จักพอกับคนจนรู้จักพอ อันไหนมันควรกว่ากัน ?

ถ้าเราจะหวังให้คนจนไม่ต้องขยันเพื่อมีชีวิตรอดไปวันๆ รัฐบาลก็ต้องหาทางใช้ภาษีที่ได้มาทำให้พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนหาเงินไปเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนลูก ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าแต่งงานลูก เงินเก็บไว้กินใช้ตอนแก่ไม่มีแรงทำงาน ฯลฯ แต่แน่นอนว่า ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม คงไม่สมควรที่จะนำภาษีประชาชนไปใช้ในการส่งเสริมให้คนจนใช้จ่ายไปกับของฟุ่มเฟือย (ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับนิยามของ “ความฟุ่มเฟือย” ด้วยอีกกระมัง ?!) เพราะการทำเช่นนั้นก็เท่ากับส่งเสริมให้คนรวยจำนวนหนึ่งขยันและรวยขึ้นๆ โดยที่ไม่มีหลักประกันว่าคนรวยเหล่านั้นจะยินดีเสียภาษี และไม่ได้มีหลักประกันด้วยว่าลูกของพวกเขาจะไม่ได้สร้างปัญหาให้กับสังคม