สร้างสำนึกแห่งการ “ให้” ...กับการเลือกตั้งของประชาชน

สร้างสำนึกแห่งการ “ให้” ...กับการเลือกตั้งของประชาชน

“การเลือกตั้ง” ที่วนเวียนมาทุกวาระของการคัดเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นพฤติกรรมชินชาของประชาชนในสังคม

ที่เรียกตนเองว่า “ประชาธิปไตย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเลือกบุคคลที่เราเชื่อว่าเป็น “คนดีคนเก่ง” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในนามของ “ประชาชน” เพื่อภารกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ประชาชนทุกคนไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่ได้โดยตรงด้วยตนเอง

ในมุมหนึ่ง “การเลือกตั้ง” อาจกลายเป็นพฤติกรรมน่าเบื่อหน่ายที่บังคับหรือกำหนดให้ประชาชนต้องไปทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามก็จะทำให้ต้องสูญเสียสิทธิบางประการไป โดยที่ไม่อาจทราบได้ว่าการเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับชุมชนหรือสังคมหรือไม่ บางคนพาลคิดไปว่าการเลือกตั้งคือการยอมรับหรือรับรองความชอบธรรมให้กับอำนาจที่ไม่ถูกต้องเพื่อนำไปอ้างถึงสิทธิในการเข้าไปวุ่นวายเพื่อสร้างความได้เปรียบเพื่อผลประโยชน์แก่กลุ่มและพวกพ้องของตน

คำว่า “การเลือกตั้ง” จึงกลายเป็นการสร้างความเข้าใจผิดจากความหมายของการเลือกตั้งที่ถูกต้องโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ ประชาชนส่วนใหญ่มักจะคิดว่านัยของ “การเลือก” คือการคัดสรรเพื่อให้บุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่บริหารจัดการ ประสานงาน หรือดำเนินการในเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้ตนเองได้รับในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเห็นว่าดีมากที่สุดสมกับความตั้งใจที่เลือกบุคคลนั้น การเลือกจึงวนเวียนอยู่กับการเลือกที่มองเห็นว่าตนเองจะได้รับประโยชน์ใดจากการลงทุนลงแรงผนวกกับค่าเสียเวลา (เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับระยะเวลาดำรงตำแหน่งตามวาระ) จากการเข้าไป “เลือก” มากที่สุด

...เป็นการเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญในเรื่อง “การลงทุน” และ “ผลกำไรที่ได้จากการลงทุน” ดังนั้นเมื่อมองว่ามีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมต้องมีการถอนทุนกลับมาในรูปแบบต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้หากผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจตามได้รับมอบผ่านกระบวนการเลือกตั้งมุ่งเข้าไปยังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมก็คงไม่เป็นสิ่งเลวร้ายต่อสังคมเท่าใดนัก แต่หากผลที่เกิดขึ้นจากประโยชน์ของบุคคลบางคนหรือกลุ่มได้รับสร้างความเสียหายโดยตรงหรือก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องใคร่ครวญกลับมาพิจารณาขบคิดกันอย่างจริงจัง

...อย่างไรก็ตาม ทางออกสำหรับเรื่องข้างต้นนี้ยังเป็นไปได้ยาก หากเรายังมองว่า “การเลือกตั้ง” คือ การเลือกโดยพิจารณาจากบุคคลที่เห็นว่าจะตอบสนองโดยการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่บุคคลนั้น

เช่นนี้แล้วการปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จากการ “เลือก” คนดีตามความคิดความเห็นของตน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาทำหน้าที่ “ให้” ที่ดูเหมือนมีเกียรติยศและศักดิ์ศรี มีบุญคุณกับประชาชนในฐานะ “ผู้รับประโยชน์” ตามแต่ที่จะจัดสรรหรือมอบให้ ซึ่งแท้จริงแล้วผลตอบแทนที่ประชาชนได้รับมีจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับการจัดสรรในหมู่พวกพ้องของผู้ได้รับมอบหมายอำนาจ นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนถูกมองในแง่ของความด้อยในคุณค่าและศักดิ์ศรี ทั้งที่เป็นประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของประชาชนตามสิทธิความเป็นพลเมืองอยู่แล้ว

“การเลือกตั้ง” จึงสมควรปรับเปลี่ยนทิศทางมาสู่มุมมองของ “การให้” เสมือนประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเจ้าของอำนาจที่จะมอบให้ จึงหมายความว่าประชาชนจะมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีในฐานะของ “ผู้ให้” ที่แท้จริง แตกต่างจากสถานะของ “ผู้รับ” ที่จะต้องไปกราบกรานขอร้องหรือแสดงพฤติกรรมสร้างความน่าสงสาร เห็นอกเห็นใจเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งตอบแทนนั้นๆ ดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว

“การให้” ในความหมายนี้จึงหมายถึงการให้ “โอกาส” เพื่อรับรองว่าจะเลือกกับคนดีเข้าไปสร้างสรรค์สิ่งดีงามตามที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ซึ่งแน่นอนว่าผลของสิ่งดีๆ ที่สร้างขึ้นย่อมส่งผลกลับมาถึงตนเองได้เช่นเดียวกันไม่มากก็น้อย ดังนั้น “การให้” ที่กล่าวมานี้จึงต้องเป็นสำนึกที่เกิดจากการให้เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่สำนึกของ “การให้” เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ลดความเห็นแก่ตัวจากการเรียนรู้ถึงความหมายของการให้ที่ถูกต้อง ไม่คาดหวังถึงสิ่งที่จะได้รับจากการให้ที่มีข้อผูกมัด จนเกิดเป็นวัฏจักรอันชั่วร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งทุกครั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม

นอกจากนี้ “การให้” ยังสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นกุศโลบายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเรียนรู้ถึงคุณค่าของการให้อย่างแท้จริง กล่าวคือ ปราศจากการคาดหวังประโยชน์ตอบแทนกับตน ปราศจากเล่ห์กลแอบแฝงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เปรียบได้กับการให้ของพ่อแม่ที่มีให้กับลูกโดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทนใดๆ แต่เพื่อให้ลูกเป็นคนดีและดำรงตนอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุขโดยไม่สร้างความเดือดให้แก่คนอื่นๆ ในสังคม

..บทความนี้จึงต้องการปรับเปลี่ยนสถานภาพของบุคคลผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกับผู้ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อให้บุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาทำหน้าที่ “รับใช้” ประชาชนตามความหมายที่ถูกต้อง ดังที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนิยมนำไปใช้โฆษณาหาเสียงกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนคนไทยไม่เคยลิ้มรสหรือสัมผัสถึงความรู้สึกของการเป็น “ผู้รับใช้” จากบุคคลที่ประกาศตัวว่าตั้งใจอาสามารับใช้ประชาชนแต่อย่างใด