การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

เข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครเข้ามาทุกที ถึงขณะนี้ก็น่าจะมีความชัดเจนหมดแล้วว่ามีใครบ้าง

ที่อาสาเข้ามาเป็นตัวเลือกในการทำภารกิจนี้ ทั้งบรรดาผู้สมัครอิสระไม่สังกัดและสังกัดพรรคการเมืองใหญ่ก็ส่งสัญญาณแสดงความชัดเจนกันหมดแล้วแน่นอนว่าพรรคการเมืองใหญ่ก็ย่อมไม่พลาดในการช่วงชิงคะแนนนิยมในครั้งนี้อย่างแน่นอน เพราะกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สำคัญทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และทางการเมือง ย่อมเป็นที่จับตาของทุกๆ ฝ่าย คาดว่าคงจะมีทางเลือกที่หลากหลายให้คนกรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯในครั้งนี้

ในอดีตที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพบกับความผิดหวังกับผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯสักเท่าไร หมายความว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าฯแต่ละครั้งที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯมักจะเทใจเทเสียงให้ความไว้วางใจกับผู้สมัครรับเลือกคนใดคนหนึ่งอย่างค่อนข้างจะเป็นเอกฉันท์ แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าคนกรุงเทพฯกลับมักจะพบกับความผิดหวังกับผลงานบริหารฯของผู้ว่ากรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่เมื่อระยะเวลาผ่านไปไม่นานเสมอ ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไม เพราะโครงสร้างการบริหารแบบพิเศษซึ่งมีอิสระและเป็นเอกเทศค่อนข้างมากแบบนี้ และผู้บริหารเมืองที่ผ่านระบบการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมาก็มักจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่ท่วมท้นแทบทั้งสิ้น แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการเมืองหลวงแห่งนี้ให้เกิดรูปธรรมการพัฒนาอย่างชัดเจนเสียที ในทางกลับกัน เรามักจะได้ยินแต่เรื่องการเสนอโครงการขายฝันถมทับเข้าไปในเมืองอันยุ่งเหยิงแห่งนี้ บรรดาโครงการขายฝันเหล่านี้ก็มักจะมาเป็นแพ็คเกจพร้อมกับข่าวเกี่ยวกับการทุจริตงบประมาณฯ ตลอดจนการปัดความรับผิดชอบของผู้บริหารเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าอย่างปัญหาน้ำท่วม วินาศภัยต่างๆ

ทั้งๆ ที่ปัญหาของเมืองกรุงเทพฯส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาคลาสสิคที่ดำรงอยู่มายาวนานแล้ว ทั้งเรื่องปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเน่าเสีย อากาศไม่บริสุทธิ์ เสียง กลิ่น ฝุ่นควัน มลพิษ ฯลฯ

แน่นอนว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพฯย่อมไม่ใช่เทวดาที่จะมาปัดเป่าปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเนรมิต ปัญหาเรื่องการบริหารเมืองย่อมมิใช่อยู่ที่ตัวผู้บริหารสูงสุดของกรุงเทพฯเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งในแง่ของโครงสร้างการบริหาร อำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น หรือปัญหาเกี่ยวกับการก้าวก่ายหรือการขัดแย้งทางผลประโยชน์การเมือง เป็นต้น

ผู้เขียนขอประมวลข้อสังเกตเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯจากครั้งที่ผ่าน ๆ มาดังต่อไปนี้


1. การแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยผ่านระบบเลือกตั้ง ได้กลายเป็นความสับสนในหมู่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในประเด็นที่เกี่ยวกับสนามการเมืองท้องถิ่นและสนามการเมืองใหญ่ เราจะสังเกตได้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯระยะหลังๆ ได้กลายเป็นแค่เครื่องมือในการรักษาหรือปูทางเพื่อยึดครองพื้นที่เมืองหลวงในสนามเลือกตั้งใหญ่จากมุมมองของฝ่ายการเมือง และเป็นแค่กระจกสะท้อนสถานการณ์การเมืองใหญ่ในช่วงขณะหนึ่ง (และหวังไกลไปว่าศูนย์อำนาจการเมืองสนามใหญ่จะรู้สึกสำเหนียกอะไรบ้าง) จากมุมมองของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแค่นั้น ทั้งๆ ที่เป็นสนามการเมืองระดับท้องถิ่น แต่ก็มีความพยายามจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่จะส่งตัวแทนเข้าช่วงชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่อง เพราะตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพฯไม่เพียงแต่เป็นผู้บริหารเมืองหลวงซึ่งเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากของประเทศ กรุงเทพมหานครมีโครงสร้างการบริหารแบบพิเศษ ที่ไม่ได้ตกอยู่ใต้อาณัติของการเมืองใหญ่ในรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ค่อนข้างมีอิสระในการบริหารอย่างมาก มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้บริหารฯและถูกตรวจสอบโดยสมาชิกสภากรุงเทพฯ จึงมีลักษณะคล้ายภาพการเมืองใหญ่แบบย่อส่วนมาอยู่ในจังหวัดเดียว อำนาจจัดการบริหารในเมืองหลวงแห่งนี้อย่างกว้างขวาง จึงเป็นที่หมายตาของพรรคการเมืองเสมอๆ ทั้งในเรื่องโอกาสในการแสดงผลงานตลอดจนโอกาสในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาล


ถึงแม้ว่าตามกฎหมายมิได้บังคับให้ผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะต้องสังกัดพรรคการเมืองก็ตาม ในอดีตก็เคยมีผู้สมัครซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระที่ประสบความสำเร็จมีชัยชนะเหนือผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนพรรคการเมืองและมีฐานคะแนนจัดตั้งมาแล้ว แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสนามเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครนี้ไม่ได้แยกขาดจากการเมืองใหญ่ ดังตัวอย่างที่ได้เห็นจากการที่ผู้สมัครอิสระอย่างพลตรีจำลอง ศรีเมืองได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในสมัยแรกโดยการชูภาพความสมถะ มีศีลธรรม ซื่อสัตย์และไม่โกงกิน ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนของชาวกรุงเทพฯที่ปฏิเสธภาพการโกงกินอย่างมโหฬารที่สื่อฯสมัยนั้นขนานนามรัฐบาลในสมัยนั้นว่า "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" หรืออีกครั้งที่นายพิจิตต รัตตกุลซึ่งเป็นอดีตผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรี และอดีตผู้สมัครเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ตัดสินใจลาออกจากพรรคมาสมัครแบบอิสระจึงได้รับชัยชนะเหนือพลตรีจำลองอย่างท่วมท้นเพียงแค่ชูแนวคิด (ที่ไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรมเท่าไร) เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากพลตรีจำลองได้เคยผันตัวเองเข้าสู่การเมืองสนามใหญ่ในนามพรรคพลังธรรมและโดนตั้งข้อครหาอย่างร้ายแรงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬกับวาทะ "พาคนไปตาย" จนเกิดเป็นกระแสตีกลับอย่างรุนแรงและในที่สุดก็ประสบกับความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป


ยิ่งผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯสองสามครั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า คนกรุงเทพฯมักจะพิจารณาการเลือกสัมพันธ์กับสถานการณ์การเมืองภาพใหญ่อย่างแนบแน่นเนื่องจากสภาพการเมืองภาพใหญ่เป็นความขัดแย้งที่เข้มข้นและบานปลายเป็นความรุนแรง ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯสองถึงสามครั้งหลังจึงสองสะท้อนให้เห็นถึงการแสดงความไม่พอใจของคนชั้นกลางในเมืองต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลโดยเทคะแนนไปให้ทางพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ด้วยปัจจัยแวดล้อมอันมีผลต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชนอย่างนี้ จึงมักมีการปลุกกระแสในสนามเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯอยู่หลายครั้งเช่น การปลุกกระแสประเภทไม่เลือกเรา เขามา (ยึดกรุงเทพฯ) แน่ หรือร่วมแสดงพลัง (เลือกเรา) เพื่อต่อต้านเขา อย่ากัดกันเองจนเสียงแตก ฯลฯ ซึ่งการปลุกกระแสประเภทนี้ก็มักจะได้ผลต่อการได้มาซึ่งคะแนนเสียด้วย แต่กลับจะไม่เป็นผลดีต่อการได้ผู้บริหารเมืองมาทำงานสักเท่าไร


2. การเสนอนโยบายที่กลายสภาพมาเป็นในแบบเน้นรูปธรรมจับต้องได้และแข่งขันกันแจกกระหน่ำ เพราะถึงแม้กรุงเทพฯจะมีปัญหาทับถมเรื้อรังมายาวนาน ตั้งแต่ปัญหากายภาพพื้นฐานไปจนถึงปัญหาสังคมในระดับโครงสร้าง แต่ที่ผ่านมาระบบการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯก็ทำให้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองของคนกรุงเทพฯไปค่อนข้างมากเหมือนกันตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษ อย่างน้อยเราก็ได้เห็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯที่ตอบสนองต่อภาวะการฉุกเฉินอย่างรวดเร็วมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วมและปัญหาการจราจรซึ่งเป็นสองปัญหาคลาสสิคประจำเมืองนี้มายาวนาน เพราะมีการเลือกตั้งที่ทำให้อย่างน้อยเราก็ยังได้เห็นผู้ว่าฯต้องใส่รองเท้าบูทลงมาเดินตรวจน้ำท่วมเวลาฝนถล่มเมืองกรุงซึ่งทำให้ประชาชนอย่างเราได้อุ่นใจขึ้นมาบ้างว่ายังได้รับการดูแลในขณะเดียวกันเราจะเห็นภาคประชาชนแสดงออกถึงความไม่พอใจเมื่อเห็นว่าผู้ว่าฯคนไหนไม่แสดงอาการเอาใจใส่ต่อปัญหาเฉพาะหน้า (อย่างน้อยก็ต่อหน้าสื่อฯ) และมักจะกลายเป็นกระแสโต้กลับอย่างรวดเร็วด้วย เราจึงได้เห็นผู้ที่ชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯได้ดำเนินการตามนโยบายที่ประกาศหาเสียงไว้กับประชาชนอย่างเคร่งครัดมากขึ้น อย่างเช่นเราได้เห็นผู้ว่าฯไปกวาดถนนล้วงท่อระบายน้ำโชว์ เพื่อไม่ให้ถูกตำหนิว่าผิดคำพูดจากนโยบายรักษาความสะอาด หรือการที่เมืองหลวงแห่งนี้มีระบบขนส่งมวลชนทันสมัยอย่างรถไฟลอยฟ้าใช้เป็นครั้งแรกเพราะเป็นนโยบายสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาจราจรอันวิกฤติ (ซึ่งตอนที่พลตรีจำลองประกาศไว้ในการรณรงค์สมัยที่สองของท่านเป็นเรื่องที่ผู้คนตกใจกลัวและมีการต่อต้านอยู่พอสมควร)


ถึงแม้ว่าระยะหลังมานี้เราจะได้เห็นการปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดมากขึ้น แต่การผลิตนโยบายของฝ่ายการเมืองกลับมักจะกระทำโดยความมักง่าย โดยเน้นให้ประชาชนเห็นเพียงภาพแบบแยกส่วน โดยเหมือนกับการเสนอขายของในตลาด บนฐานความเชื่อที่ว่าใครเสนอขายได้จำนวนมากกว่าก็น่าจะมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากกว่า ไม่ว่าจะมีฐานเสียงจัดตั้งหรือกระแสสังคมหนุนที่มากน้อยเท่าใด การเสนอนโยบายที่จับต้องได้ก็เลยกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสนามการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯไปโดยปริยาย (หรืออาจรวมไปถึงสนามการเลือกตั้งในทุกระดับแล้วด้วย) นโยบายที่ขาดการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งในระดับรายละเอียดของแต่ละนโยบายเอง หรือไปถึงมิติภาพรวมทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้หลายนโยบายที่คลอดออกไปไม่ได้แก้ปัญหาแต่กลับสร้างปัญหาทับถมให้กับเมืองลงไปอีก ตัวอย่างเช่นการเสนอนโยบายสำหรับแก้ปัญหาจราจรโดยเพิ่มระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่ เพียงเพราะต้องการสร้างภาพของการเป็นผู้นำผู้บุกเบิกของผู้ว่าฯ แต่ขาดการศึกษาถึงในรายละเอียด ทั้งความเหมาะสมของการกำหนดเส้นทาง ขาดการบูรณาการกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ทั้งตัวของระบบใหม่นี้เองก็ไม่ใช่ระบบที่แยกจากทางจราจรของรถอย่างเด็ดขาด ส่งผลทำให้การจราจรที่ระบบใหม่นี้กดทับลงไปในปัญหาดั้งเดิมและเกิดสภาวะวิกฤติที่หนักกว่าเดิม ในขณะที่ตัวระบบขนส่งมวลชนใหม่ก็ไม่เกิดความคุ้มค่าทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ประสบสภาวะขาดทุนโดยที่ทางรัฐต้องแบกรับภาระในระยะยาวนอกจากนี้ก็ยังมีนโยบายประเภทแจกฟรีไม่ว่าจะเป็นWifiฟรีการศึกษาฟรี การรักษาฟรี ฯลฯ โดยที่ไม่ได้ระบุในรายละเอียดว่า Wifi ที่มีความสามารถรองรับผู้ใช้ได้เท่าไร ใช้ได้จริงไหม การศึกษาถึงระดับชั้นไหน คุณภาพเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับการรักษาและฟรีอื่นๆ วัตถุประสงค์ก็เพียงเพื่อสรรหาข้อความมาบรรจุใส่ลงบนป้ายหาเสียงเป็นหลักแค่นั้น


3. ศักยภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งเองและฐานสนับสนุนจากพรรคเมืองยังคงเป็นปัจจัยบ่งชี้สำคัญในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพราะการที่ประชาชนในกรุงเทพฯจะเข้าใจถึงตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯนับเป็นเรื่องที่ยากมาก เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่เขตเลือกตั้งกรุงเทพฯนั้นกว้างขวางใหญ่โต การเข้าถึงและทำความคุ้นเคยกับประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงจึงเป็นไปไม่ได้เลย ต้องอาศัยยุทธศาสตร์หลักๆ เพียงสองประการก็คือ ชื่อเสียงดั้งเดิมของผู้สมัครฯ และอาศัยฐานเสียงจัดตั้งของพรรคการเมืองที่สนับสนุน โดยส่วนใหญ่ก็จะอาศัยฐานคะแนนพรรคการเมืองทั้งจากสมาชิกสภาเขต สภากรุงเทพฯ ไปจนถึงสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนศักยภาพของพรรคการเมืองเองซึ่งมักจะขนขุนพลรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีออกมาช่วยกันรณรงค์หาเสียงก็สร้างความได้เปรียบอย่างมาก แต่การอาศัยฐานพรรคการเมืองถึงแม้ได้เปรียบแต่ก็ไม่ใช่คำตอบถึงชัยชนะเสมอไป พิจารณาจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ผู้สมัครอิสระสามารถกำชัยชนะเหนือตัวแทนพรรคการเมือง แต่ทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นจะเห็นได้ว่ากระแสของตัวผู้สมัครเองจะมีความโดดเด่นมาก หรือบางครั้งก็มีกระแสต่อต้านพรรคการเมืองซึ่งสะท้อนจากภาพของการเมืองสนามใหญ่ อย่างไรก็ตามในยุคใหม่นี้ที่เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสร้างกระแสให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าสื่อฯแบบดั้งเดิม จึงกลายเป็นโอกาสของผู้สมัครหน้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้สมัครอิสระแบบหน้าใหม่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสังคมมากนัก สามารถอาศัยเทคโนโลยีนี้เป็นพื้นที่แสดงตัวตน แนวความคิด และที่สำคัญก็คือความจริงใจและใส่ใจต่อภารกิจ ซึ่งก็แน่นอนว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียนี้ก็ย่อมเปิดกว้างสำหรับทุกคนและทุกพรรคการเมืองซึ่งมีทุนสนับสนุนมากกว่าที่ยังคงความได้เปรียบในทุกพื้นที่


สำหรับการต่อสู้เชิงนโยบายในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯนั้น ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานของกรุงเทพฯ ซึ่งทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพฯย่อมตระหนักดี เพียงแต่ไม่แน่ใจนักว่าเราจะรักกรุงเทพฯกันจริงหรือเปล่า หรือกรุงเทพฯเป็นแค่ที่ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมไม่รู้จะย้ายไปไหน กรุงเทพฯเป็นแหล่งเรียนแหล่งงาน กรุงเทพฯเป็นแหล่งธุรกิจแหล่งช้อปปิ้งที่เรายังคงจำเป็นจะต้องอยู่ในชุมชนเมืองแห่งนี้ถ้าคิดในมุมมองของชาวบ้านทั่วไป เราอาจจะต้องการเพียงปัจจัยพื้นฐานของการอยู่อาศัยที่ดีต้องการสูดอากาศที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้นไม่มีมลพิษให้ก่อโรคร้ายแรง ต้องการความปลอดภัยยามค่ำคืน มีไฟส่องสว่างเพียงพอเพื่อลดจุดสุ่มเสี่ยงต่ออาชญากรรม ต้องการความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่สาธารณะบนถนนหนทาง บนทางเดินเท้า ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามหานครใหญ่อย่างกรุงเทพฯของเราจะมีถนนที่ขรุขระมากที่สุดถึงแม้ว่าถนนส่วนใหญ่จะเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีราคาค่าก่อสร้างสูงมากก็ตาม ข้างถนนในกรุงเทพฯก็มีทางเท้าบ้างไม่มีบ้าง ทางเท้าที่มีอยู่ก็มักจะมีสภาพขรุขระเป็นคลื่นเป็นหลุมเป็นบ่อเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรถึงแม้ว่าอาจจะพัฒนาจากอดีตเมื่อหลายทศวรรษมาแล้วนิดนึงที่มักจะมีคนตกท่อระบายน้ำ ซ้ำร้ายกว่านั้นทางเท้าสาธารณะในหลายพื้นที่ก็ถูกยึดครองโดยหาบเร่แผงลอย ปิดกั้นการเดินสัญจรของคนทั่วไป อาศัยพื้นที่สาธารณะทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ก่อเกิดเครือข่ายผลประโยชน์ในหมู่นักการเมือง ข้าราชการท้องถิ่น และเจ้าพ่อมาเฟียคุมแผง


เราไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหมื่นหรือแสนล้านสำหรับพัฒนาอภิมหาโครงการใหม่ๆ แต่เราต้องการผู้ว่าราชการกรุงเทพฯที่มีภาวะผู้นำมากพอที่จะมาจัดการกับปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ ซึ่งอันที่จริงก็มีกฎหมายรองรับให้ดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่มีความจริงใจ ความกล้า และที่สำคัญคือปลอดจากการแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพลอื่นใด ผู้ว่าฯจะไม่สามารถบ่งชี้ทิศทางหรือวิสัยทัศน์ของเมืองได้ตั้งแต่วันแรกที่ชนะการเลือกตั้งการสร้างสรรค์เมืองขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนก็ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนและที่สำคัญที่สุดก็คือจากประชาชน การเรียกศรัทธาจากประชาชนต่อจากนี้มิใช่ทำได้โดยการสร้างภาพเดินลุยน้ำท่วมหรือโหนรถขนขยะออกสื่อฯ แต่ต้องการปฏิบัติจริงอย่างทันที ถ้านักการเมืองนิยมการสร้างภาพออกสื่อฯ อย่างน้อยก็แค่จัดการสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สาธารณะให้เป็นภาพลักษณ์ที่ดี มีต้นไม้ร่มรื่นตามถนนหนทาง มีทางเท้าที่เรียบเสมอกัน สะดวกสบายปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า จักรยาน ตลอดจนผู้พิการ


การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นเครื่องมือสำหรับถ่วงดุลอำนาจ เป็นระบบที่เปิดให้มีการเสนอแนวทางใหม่ ประเมินผลแนวทางแบบเก่า เป็นระบบที่มีกรรมการตัดสินเป็นมหาชน ดังนั้นประชาชนผู้เป็นกรรมการในระบบการเลือกตั้งจึงจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเป็นการคัดสรรผู้บริหารเมือง ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง มิฉะนั้นแล้วเราก็จะจมอยู่กับเมืองที่นับวันก็จะมีแต่ความเสื่อมโทรมและเสื่อมทราม