แรงผลักดัน

แรงผลักดัน

หัวหน้างานที่เก่งจะสร้างสภาวะแวดล้อมของการทำงานให้ลูกน้องมีความรู้สึกว่า กดดันนิดๆ กล่าวคือมีความเครียดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มากเกินไป

และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ปล่อยให้ลูกน้องรู้สึกสบายเสียจนไม่มีความกดดันอะไรเลย

เพราะคนเรามักทำงานได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีแรงกดดันนิดๆ

คล้ายๆ กับว่า คนเราต้องการปัจจัยภายนอกบางอย่างมาคอยกระตุ้นให้เราทำงานได้ดีด้วย หากปล่อยให้ปราศจากแรงกระตุ้นใดๆ จากภายนอกโดยสิ้นเชิงแล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวเองในการบังคับตัวเองให้ทำงานล้วนๆ คนเรามักทำงานได้น้อยกว่าศักยภาพที่ตัวเราเองมีอยู่ค่อนข้างมาก

ต่อให้เป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเช่น งานแต่งนิยาย ก็เถอะ บ่อยครั้งนักเขียนที่มีชื่อเสียง ก็ยังต้องพึ่งพา Deadline จากสำนักพิมพ์ เพื่อช่วยกระตุ้นตัวเขาเอง ให้สามารถคลอดผลงานที่อยู่ในหัวออกมาเป็นชิ้นสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง

ถ้าเราอยากมีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ต้องรู้จักหาวิธีสร้างแรงกดดันให้ตัวเอง ความเครียดในระดับที่เหมาะสมแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ราวกับเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาให้เรา ผมมีความเชื่ออย่างยิ่งว่า คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะสบายให้มากที่สุด แต่คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้และเติบโตไปเรื่อยๆ ที่จริงแล้วอาจพูดได้ว่าคนเราเกิดมาเพื่อได้ทำงานเสียด้วยซ้ำ

ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าเราเลือกทำตามใจตัวเองหมดทุกอย่าง อยากกินอะไรก็กินเลย สุดท้ายแล้ว เราก็จะทรมานกับการเป็นโรคต่างๆ ในที่สุด ชีวิตที่ดีกลับเป็นชีวิตที่ต้องลำบากนิดหน่อย นั่นคือ กินของโปรดได้บ้าง แต่ต้องควบคุมอาหารด้วย แถมยังต้องออกกำลังเป็นประจำ หากต้องการเป็นคนที่มีสุขภาพดี ห่างไกลโรคร้ายเมื่อเข้าสู่วัยชรา ชีวิตที่ดีจึงเป็นชีวิตที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่ใช่ทำตามใจตัวเองไปทั้งหมด

ไลฟ์สไตล์ที่ดีมันต้องเป็นแบบที่มีการวางแผน มีการยอมลำบากในบางเรื่องในวันนี้เพื่อจะได้สบายในวันหน้า ไม่ใช่ทำตามใจตัวเองทุกอย่าง

คนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบสมัยก่อนนั้นสามารถกลายเป็นเจ้าของกิจการกันได้อย่างมากมาย เป็นเพราะในสมัยที่พวกเขาเข้าสู่วัยทำงานนั้น งานประจำยังเป็นสิ่งที่หายากมาก ถ้าหากไม่ลงทุนทำมาหากินอะไรสักอย่างด้วยตัวเอง ก็คงต้องอดตายเป็นแน่ การที่พวกเขามีทางเลือกน้อย ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเริ่มต้นทำธุรกิจ ทั้งที่ก็รู้ว่ามันเสี่ยง และเมื่อมีเหตุจำเป็นให้ต้องเริ่มต้น ก็เลยประสบความสำเร็จได้ ต่างจากคนสมัยนี้ที่หางานประจำทำได้ง่ายมากๆ เรียนจบแล้วไปสมัครงาน มีงานประจำแล้วก็มีเงินใช้ทุกเดือน จะไปเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ให้เสี่ยงมีรายได้แบบลุ่มๆ ดอนๆ ไปทำไม พอขาดแรงกระตุ้นในการก่อร่างสร้างธุรกิจ ก็เลยทำให้คนสมัยนี้ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จกันได้น้อยลงเมื่อเทียบกับคนสมัยก่อน

การทำงานในองค์กรสมัยนี้ก็เช่นกัน การที่พนักงานทำงานอยู่กับองค์กรนานๆ เช่น ตลอดชีวิต อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไปทั้งต่อตัวองค์กรและตัวพนักงานเอง องค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานที่อยู่มานานมากๆ บางทีก็เต็มไปด้วยการเมืองภายในออฟฟิศ เพราะคนที่อยู่มานานมากๆ จะ "เขี้ยวลากดิน" รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในองค์กรจนยึดหัวหาดไว้หมด ทำให้คนใหม่ๆ เข้ามาแล้วอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน พนักงานที่อยู่กับองค์กรมานาน แม้ว่าจะทำให้สบายขึ้น เพราะกลายเป็นคนเก่าคนแก่ รู้งานมากกว่าคนอื่น แต่บางทีก็ทำอะไรซ้ำๆ ก็ทำให้ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

เป้าหมายขององค์กรสมัยใหม่จึงไม่ใช่ทำอย่างไรให้พนักงานอยู่กับองค์กรให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แต่คือทำอย่างไร พนักงานทุกคนถึงจะได้ใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ได้อย่างเต็มที่มากที่สุดในช่วงเวลาที่เขาทำงานกับองค์กร ซึ่งไม่ใช่ตลอดชีวิต

คนทำงานก็เหมือนกัน ถ้าหากทำงานที่ไหนนานๆ แล้วรู้สึกว่าขาดแรงกระตุ้น หรือไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ บางทีก็ถึงเวลาที่ควรจะลาออกไปหางานใหม่ที่ท้าทายมากกว่าเช่นกัน หรือเรียกว่าเป็นการออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง ถึงแม้ว่าที่ทำงานใหม่จะมีความมั่นคงน้อยลง เพราะว่าเป็นที่ทำงานใหม่ และมีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ถนัดเพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแรงกระตุ้นที่จำเป็นที่จะช่วยให้เราเป็นคนที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา