บล็อกเว็บประกาศคณะราษฎร : ความมืดบอดทางประวัติศาสตร์ของนักกฎหมายไทย

บล็อกเว็บประกาศคณะราษฎร : ความมืดบอดทางประวัติศาสตร์ของนักกฎหมายไทย

กระแสความขัดแย้งทางความคิดเห็นกรณีที่ศาลยุติธรรมได้มีแผนการสร้างอาคารใหม่แทนอาคารศาลฎีกาเดิมด้วยการทุบทำลายอาคารเดิม

แล้วสร้างอาคารแบบลิเกขึ้นแทนอาคารเดิมที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (ในเวลานั้น) เพื่อรำลึกถึงความเป็นเอกราชทางศาลของไทยที่ได้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์หลังจากสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่มหาอำนาจตะวันตกไป ซึ่งยังเป็นคดีความที่ต้องต่อสู้กันอีกระยะเวลาอีกยาวนานระหว่างกรมศิลปากรกับศาลยุติธรรมที่ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่ผู้บริหารของศาลยุติธรรมที่รับผิดชอบก็ถูกมองด้วยสายตาที่หมิ่นแคลนว่าไม่รู้จักคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารเดิมเลยหรืออย่างไร

“ความวัวยังไม่ทันหาย” อีกต่อมาไม่ทันเท่าไหร่ก็มี “ความควายเข้ามาแทรก” คือ กรณีของการบล็อกเว็บไซต์ของนิติราฎษร์ในส่วนที่เป็นคำประกาศของคณะราษฎรที่เผยแพร่กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ทั้งในห้องเรียน ห้องสมุด ตำราเรียน และในเว็บไซต์อื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหากเราค้นหาด้วย search engine ไม่ว่าจะเป็น Google, Yahoo หรือ Bing ก็ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ที่น่าฉงนสนเท่ห์เป็นที่สุดก็คือเหตุใดจึงมาบล็อกเอาเฉพาะที่เว็บไซต์ของนิติราษฎร์เท่านั้นและเป็นการบล็อกด้วยคำสั่งศาลเสียด้วยสิครับ และพิจารณาดูเท่าไรๆ ก็ไม่เห็นว่ามันจะเข้าข่ายที่จะต้องถูกบล็อกตรงไหน เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องลบตำราทางประวัติศาสตร์ทิ้งเสียหมดเสียสิ้นหากมีส่วนใดที่ไปเกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจของการปกครองประเทศตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

แน่นอนว่ากระบวนเริ่มต้นก่อนที่จะมีการบล็อกเว็บไซต์ก็ต้องเริ่มจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยเฝ้าระวังทั่วๆ ไป เมื่อพบเหตุที่น่าสงสัยหรือมีผู้หวังดีประสงค์ร้ายแจ้งไป ก็ต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาและการที่จะเป็นคดีไปสู่ศาลได้ก็ต้องผ่านฝ่ายนิติการของหน่วยซึ่งก็ต้องเป็นนักกฎหมายและเมื่อไปถึงศาลก็ต้องมีการพิจารณาโดยผู้พิพากษาตุลาการที่เป็นนักกฎหมายอีกเช่นกัน ผลจากคำสั่งดังกล่าวนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความมืดบอดทางประวัติศาสตร์ของนักกฎหมายอีกแล้ว

คำว่าประวัติศาสตร์ มาจากคำว่า ประวัติ ซึ่งหมายถึงเรื่องราวความเป็นไปเป็นมา กับคำว่า ศาสตร์ หมายถึงความรู้หรือวิชาที่ว่าด้วยความรู้ เมื่อรวมกันเข้าก็จะมีความหมายถึงวิชาที่ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นไปเป็นมา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า History ที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Histeriai ซึ่งเป็นศัพท์ที่ Herodotus ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาของวิชาประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ในงานของเขาชื่อว่าสงครามเพโรเซียนเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 665 ก็ได้ให้คำนิยามความหมายของประวัติศาสตร์ไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้นตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน”

เรารู้ประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไรและทำไมเราต้องอนุรักษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์

คำตอบก็คือเพื่อ

1.ไม่ให้กงล้อแห่งประวัติศาสตร์มาเหยียบย่ำเพราะสิ่งที่เกิดมาแล้วในอดีต มีความสมบูรณ์ทั้งเหตุและผลในตัวเอง หากเราไม่อยากรับผลเช่นที่เกิดในอดีต ก็ต้องป้องกันที่เหตุ เช่น หากไม่ต้องการให้มีการตายจากการสังหารหมู่เกิดขึ้นก็ต้องหยุดการปลุกระดมความเกลียดชังกันระหว่างประชาชนด้วยกันจนถึงต้องลุกขึ้นมาฆ่ากันกลางถนน ไม่ว่าจะด้วยฝีมือประชาชนด้วยกันเองหรือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ดังกรณี 6 ตุลา 19 หรือ 19 พฤษภา 53 เป็นต้น

2. เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าเรามีรากเหง้า มีที่มาที่ไป ในนานาอารยประเทศทั้งหลายผู้คนของเขาพยายามสืบเสาะหารากเหง้าของตนเอง สืบเสาะถึงประวัติความเป็นมาของอาคารสถานที่ต่างๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อนำมาอธิบายให้ลูกหลานฟังประกอบกับสิ่งที่เป็นตัวอย่างที่ยังคงอยู่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย เพราะไม่เช่นนั้นสิ่งใหม่ๆ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ความเจริญเติบโตของบ้านเมืองย่อมหยุดชะงัก ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันอย่างประสมกลมกลืน ตัวอย่างเมืองใหญ่ๆ ที่มีให้เห็นก็เช่น เกียวโต หรือหลายๆ เมืองในยุโรป เป็นต้น มิใช่เอะอะก็จะทุบทิ้งลูกเดียวเช่นนี้

การรำลึกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นนอกจากจะเป็นบทเรียนมิให้กระทำผิดพลาดซ้ำอีกแล้วหากเป็นการระลึกถึงสิ่งที่ดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหลืออยู่ย่อมเป็นแรงบันดาลให้แก่เพื่อมนุษย์ในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าต่อประเทศชาติบ้านเมืองที่สำคัญที่สุดก็คือต่อเพื่อมนุษย์ด้วยกัน

จุดอ่อนของการศึกษาวิชากฎหมายไทยก็คือความคับแคบขององค์ความรู้ในสาขาวิชาอื่น เพราะระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไทยที่มีหลักสูตรกฎหมายจะรับนักเรียนที่จบจากมัธยมปลายแล้วเข้าเรียนเป็นนักเรียนกฎหมายเลย ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศที่ต้องจบปริญญาสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อนแล้วจึงมาเรียนวิชากฎหมายต่ออีกเป็นใบที่สองแล้วจึงจะไปต่อเนติบัณฑิตหรืออะไรก็ว่าไป

ฉะนั้น นักกฎหมายไทยเมื่อจบไปแล้วไปประกอบหน้าที่การงานจึงมีแต่มุมมองทางกฎหมายเท่านั้น โดยลืมไปว่าในโลกนี้ยังมีศาสตร์อื่นอีกมากมายที่จะต้องนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของบุคคลและสังคม

ความยุ่งเหยิงในบ้านในเมืองไทยที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นผลมาจากนักกฎหมายนั่นเองที่เข้าไปยุ่งกับเขาทุกเรื่อง ที่สำคัญในบางสถาบันบัณฑิตที่จบกฎหมายมาไม่เคยเรียนแม้แต่วิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์เสียด้วยซ้ำไปโดยอ้างว่าไม่ได้เป็นวิชาบังคับ แต่ไปยกไปร่างกฎหมายที่สำคัญๆ ต่อการปกครองบ้านเมืองหรือรัฐเสียเยอะแยะจนปั่นป่วนไปทั่ว

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของการที่นักกฎหมายไม่ยอมศึกษาวิชาอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประวัติศาสตร์แล้วทำให้ผลออกมาประหลาด (absurd) ก็คือ กรณีการบล็อกเว็บคำประกาศของคณะราษฎรและการทุบอาคารศาลฎีกา นั่นเอง

อดีตสร้างปัจจุบันและปัจจุบันสร้างอนาคต หากเราไม่เรียนรู้จากอดีตแล้วเราจะไปสร้างอนาคตได้อย่างไรครับ