ประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง

ประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง

ดินแดนลุ่มน้ำโขงเริ่มเป็นที่รู้จักโลกตะวันตกในยุคการล่าอาณานิคม มีการสำรวจดินแดนอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อ พ.ศ. 2401-2404 (ปี 1858-1861)

โดย อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เพื่อแสวงหาเส้นทางที่จะเชื่อมโยงกับจีนทางตอนใต้ โดย “เชื่อว่าแม่น้ำโขงสามารถที่จะเชื่อมโยงกับจีนทางตอนใต้ที่มีผลประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ชาติตะวันตก” ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมที่เข้ามายึดครองประเทศในเขตลุ่มน้ำโขง ที่ต้องการแย่งยึดทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่า เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ ฯลฯ แล้วจึงยึดครองดินแดน

ในเวลาต่อมาฝรั่งเศสได้บังคับให้เขมรที่เป็นประเทศราชของสยามและญวนยอมเป็นรัฐในอารักขาของตน ในปี พ.ศ. 2410 (ปี 1867) และครอบครองเวียดนามได้ทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2426 (ปี 1883) พร้อมกับการขยายอิทธิพลสู่อาณาจักรลาว (ประเทศราชของสยาม) ในปี พ.ศ. 2436 (ปี 1893)

ส่วนอังกฤษได้ยึดครองพม่าโดยสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2428 (ปี 1885) ส่วนประเทศสยามมีข้อพิพาทกันหลายครั้งกับชาติตะวันตก แม้ไม่ตกเป็นอาณานิคมสามารถรักษาสถานะของ “รัฐกันชน” จนสิ้นสุดยุคอาณานิคม (ทศวรรษที่ 2490)

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2488/ ปี 1945) ประเทศในแถบอินโดจีนต่างทยอยได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม

ก่อนทศวรรษที่ 2520 (ปี 1977) ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ส่วนประเทศเพื่อนบ้านต่างมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์หลังปี พ.ศ. 2518 (ปี 1975) แทบทั้งสิ้น เช่น ลาว เวียดนามและกัมพูชาทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขงเสื่อมทรุดลง โดยอุดมการณ์ทางการเมืองทุนนิยมเสรีมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และมุ่งสนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การปกครองระบบสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตและจีนเป็นผู้นำ ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างกลุ่มประเทศเสรีนิยม และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ หรือเรียกว่า “สงครามเย็น”

ช่วงสงครามเย็นระหว่าง พ.ศ. 2518-2532 (ปี 1975-1989) ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงมีความสัมพันธ์กันน้อยเพราะมีความแตกต่างกันด้านอุดมการณ์ แต่ในช่วงท้ายของยุคสงครามเย็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างเนเธอร์แลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศลุ่มน้ำโขงภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

รวมทั้งบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเชียที่เข้ามาในลุ่มน้ำโขง ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าพลังงาน แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในภูมิภาคอินโดจีน จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีแผนการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคที่แฝงไว้ด้วยข้อตกลงทางการเมืองและการทหาร ภายใต้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากรัฐบาลอเมริกา เช่น การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในฐานทัพ การสร้างถนนเพื่อเป็นถนนสายยุทธศาสตร์

ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง (ต้นทศวรรษ 2530/ ปี 1987 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต) การค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นขึ้นภายใต้การปรับเปลี่ยนนโยบายของ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่พัฒนาในแนวทางทุนนิยมแต่ปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่แรงจูงใจในการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ที่จีนเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือประเทศลาว พม่า ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน ฯลฯ

นอกจากนี้แหล่งทุนต่างประเทศได้เปิดช่องทางให้กู้เงินสำหรับการลงทุนและช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทำให้เกิดการลงทุนอย่างกว้างขวางในภูมิภาค และสหรัฐอเมริกา ก็ลดบทบาทในภูมิภาคนี้ลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี “การค้า” ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ในอดีตการค้าในอุษาอาคเนย์เป็นการค้าทางไกล คือ ผ่านเมืองต่างๆ ในภาคพื้นทวีป โดยเริ่มตั้งแต่ยูนนาน ถึงชายฝั่งทะเล หรือไปไกลถึงมะละแหม่งในรัฐมอญของพม่า เป็นกองคาราวานขนาดใหญ่มีพ่อค้าตั้งแต่ 10 - 100 คน โดยใช้ ล่อ ลา ม้า วัว บรรทุกสิ่งของในท้องถิ่น เช่น เกลือ ยาสูบ อาวุธ เล็ก หม้อ ไห เครื่องเงิน ผ้าชนิดต่างๆ แวะพักและแลกเปลี่ยนสินค้าพื้นเมืองตามเมืองและชุมชนต่างๆ เช่น น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง งาช้าง ชัน พริก ฯลฯ ตามเมืองรายทางมาเรื่อยๆ ซึ่งการค้าในรูปแบบนี้ได้ทำให้เมืองต่างๆ ดำรงอยู่ได้เพราะไม่สามารถผลิตสินค้าทุกชนิดเองได้ ทำให้พ่อค้าทางไกลมีบทบาทอย่างสำคัญในการหล่อเลี้ยง “ชีวิตของเมืองในหุบเขา”

การค้าทางไกลนี้ใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นเวลา 3-6 เดือน มีการแลกเปลี่ยนสินค้าตามเมืองต่างๆ รายทางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพ่อค้าทางไกลจะต้องสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับพ่อค้ารายย่อยตามเมือง และหมู่บ้านอย่างกว้างขวาง เพราะหมู่บ้าน และเมืองต่างๆ มีข้อจำกัดในการผลิตสินค้าที่ต่างกัน จึงต้องอาศัยพ่อค้าทางไกลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และกระจายสินค้า อาทิเช่น การค้าระหว่างเมืองริมฝั่งของไทยกับลาวในลักษณะที่เรียกว่า “น้ำน้อย ก็ใช้เรือน้อย” คือเป็นการค้าตามขนาดของฐานทุนทรัพยากร ธรรมชาติและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ส่วนกลุ่มพ่อค้าที่มีบทบาทสูงในการค้าทางไกลในอดีต คือ กลุ่มไทใหญ่ (เงี้ยว) และกลุ่มจีนยูนนาน (จีนฮ่อ) เนื่องด้วยคนกลุ่มนี้ไม่อยู่ในระบบไพร่ที่ต้องเข้าเวร และผูกพันกับระบบส่วย หรือไม่ก็ส่งเงิน หรือสินค้าแทนการเกณฑ์แรงงาน ทำให้มีอิสระสามารถไปค้าขายในท้องถิ่นต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง และยาวนาน ซึ่งระบบไพร่ของไทยที่มีการเข้าเวรเป็นเวลานานทำให้ไม่สามารถทำการค้าทางไกลได้ แต่ภายหลังการค้าทางไกลได้หมดบทบาทไป เนื่องด้วย (1) ความความเป็นรัฐชาติที่มีเขตแดนแน่นอน (2) การปกครองที่แตกต่างของประในภูมิภาค

และ (3) มีการสร้างท่าเรือผ่านแม่น้ำโขง (ทศวรรษ 2530) และมีการสร้างเครือข่ายการคมนาคมทางบก ทำให้การค้าในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสะดวก และมีปริมาณการค้าในภูมิภาคอย่างมหาศาลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาและประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างมาก โดยสามารถส่งออกสินค้าไปประเทศลาวและจีนผ่านเส้นทางบกสาย R3A หรือ R3E (เชียงของ - บ่อเต็น- เชียงรุ่ง) ซึ่งในอนาคตไทยมีแผนเจรจาและสร้างความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเปิดเส้นทางส่งออกสินค้าเกษตรทางบกเพิ่มเติมเช่น เส้นทาง R12 (นครพนม - นาพาว- ฮานอย - กวางสี) และเส้นทาง R8 (หนองคาย - ปากซัน- ฮานอย- กวางสี) ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่สินค้าของไทยในตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มากขึ้น

นอกจากนี้การคมนาคมที่สะดวกยังทำให้เกิดการทะลักของสินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำจำพวกเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในครัวเรือน จากจีนสู่ประเทศไทย พม่า และลาวจำนวนมาก และยังทำให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ เขื่อนพลังงานไฟฟ้าจากประเทศจีน ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ ฯลฯ เข้าสู่ประเทศ “เปิดใหม่” (ลาว พม่า เวียดนาม) จำนวนมาก ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาล แต่คนไทยรู้จักเพื่อนบ้านมากน้อยแค่ไหนครับ

โครงการ ความสัมพันธ์ไร้พรมแดน : การจัดการทรัพยากรสองริมฝั่งโขง ของชาวเชียงแสน-เชียงของ และต้นผึ้ง-ห้วยทรายสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)