เข้าใจปัญหาบาทแข็งขณะนี้

เข้าใจปัญหาบาทแข็งขณะนี้

ตั้งแต่กลางอาทิตย์ที่แล้ว การแข็งค่าของเงินบาทเป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่อง อาทิตย์ที่แล้วจากวันจันทร์ถึงวันศุกร์เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.7 เปอร์เซ็นต์

จากอัตราเปิดตลาดวันจันทร์ที่ 30.28 บาทต่อดอลล่าร์ มาปิดที่ 29.76 บาทต่อดอลล่าร์ในวันศุกร์ และรวมแล้วแข็งค่าขึ้น 2.8 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่สิ้นธันวาคมปีที่แล้ว พร้อมการแข็งค่าของเงินบาทก็มีคอมเมนท์ทั้งจากตลาดการเงิน และภาคธุรกิจที่ต้องการให้ทางการดูแลการแข็งค่าของเงินบาท เพราะเป็นภาระให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ขณะที่ทางการ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐบาลก็พยายามสร้างความเข้าใจว่า เงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค และทางการจะไม่ฝืนตลาดในการดูแลหรือแทรกแซงค่าเงิน

ในข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาเงินบาทแข็งค่านี้อาจจะใหญ่เกินกว่าที่ทางการไทยจะสามารถควบคุมหรือดูแลได้อย่างที่อยากจะทำ เพราะการแข็งค่าที่เกิดขึ้น เป็นผลโดยตรงจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก ที่ทางการไทยเองไม่สามารถควบคุมได้ และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ก็อาจนำไปสู่รอบใหม่ของสงครามเงินตราที่จะสร้างปัญหามากขึ้นให้กับเศรษฐกิจโลก อันนี้คือประเด็นที่อยากจะเขียนวันนี้

การใช้การอ่อนค่าของค่าเงินเป็นวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ส่อเค้ามาตั้งแต่เมื่อสหรัฐเริ่มใช้มาตรการคิวอีในปี 2009 ที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยธนาคารกลางสหรัฐ การอัดฉีดสภาพคล่อง อีกนัยหนึ่งก็คือ การพิมพ์ธนบัตรที่เพิ่มปริมาณเงินดอลล่าร์ในระบบ และก็เหมือนกับสินค้าทั่วไปที่ถ้าผลิตออกมามากราคาก็ลดลง ในกรณีของเงินดอลล่าร์สหรัฐเมื่อมีเงินดอลล่าร์อยู่ในระบบมากขึ้น ราคาของเงินดอลล่าร์ ซึ่งก็คือ ค่าเงินดอลล่าร์เทียบกับเงินสกุลอื่น ก็อ่อนค่าลง มีการประเมินว่า ตั้งแต่สหรัฐเริ่มใช้มาตรการคิวอีปี 2009 เงินดอลล่าร์สหรัฐได้อ่อนค่าลงไปแล้วประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับกลุ่มเงินสกุลหลักอื่นๆ การอ่อนค่าของดอลล่าร์ได้ช่วยการส่งออกสหรัฐให้ปรับตัวดีขึ้น มีผลต่อเนื่องไปถึงฐานะที่ดีขึ้นของบริษัทธุรกิจในสหรัฐ และสถาบันการเงิน รวมถึงความเป็นหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนสหรัฐก็ลดลงจากฐานะต่างประเทศของสหรัฐที่ดีขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของภาวะธุรกิจในสหรัฐ ทำให้มีการคาดเดาว่ามาตรการคิวอีอาจจะเริ่มลดทอนลงได้ช่วงปลายปี ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัญหาการคลังในสหรัฐที่ยังไม่มีทางออก และอาจนำมาสู่การใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ต้องตัดทอนลง ก็อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น ณ จุดนี้ ความไม่แน่นอนมีอยู่มาก ทำให้ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้

เหตุผลสำคัญที่การอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐผ่านมาตรการคิวอี ได้กลายเป็นเครื่องมือแก้ไขเศรษฐกิจก็เพราะทางการสหรัฐไม่มีเครื่องมืออื่นเหลืออยู่ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการคลังก็ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะระดับหนี้สาธารณะที่มีอยู่แล้วสูงมากจนต้องเริ่มตัดทอนรายจ่ายเพื่อลดหนี้ ส่วนนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยก็ลดมาจนเป็นศูนย์ ไม่สามารถลดลงได้อีก ด้านมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ก็ต้องอยู่ในแนวทางที่เข้มงวดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินว่า จุดอ่อนในด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เคยเป็นสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2007 - 2009 ได้มีการแก้ไข ทั้งหมดนี้ ทำให้สิ่งที่เหลืออยู่ ก็คือ การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจโดยมาตรการคิวอีโดยธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน

ในแง่นโยบายการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ โดยมาตรการคิวอีมีการหวังผลในสามด้าน หนึ่ง สภาพคล่องที่มีมากจะทำให้สถาบันการเงินไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤติในระบบสถาบันการเงิน สอง สภาพคล่องที่มีมาก จะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในประเทศ อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูง ซึ่งจะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และลดภาระในการชำระหนี้ของรัฐบาล และ สาม การอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐที่จะเกิดขึ้นตามมา จะดีต่อเศรษฐกิจในแง่การส่งออก

ช่วงแรกที่สหรัฐเริ่มมาตรการคิวอีปี 2009 แรงต้านต่อมาตรการดังกล่าวจากประเทศอื่นๆ แทบไม่มี เพราะทุกคนตระหนักว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทุกประเทศจะได้ประโยชน์ แต่พอสหรัฐทำมาตรการคิวอีรอบสองเพิ่มเติมในไตรมาสสี่ปี 2010 แรงต้านก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะมาตรการคิวอีได้ทำให้ค่าเงินประเทศเหล่านี้แข็งค่าขึ้น จากเงินลงทุนที่เคลื่อนออกจากสหรัฐเข้าสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ขยายตัวดีกว่า และค่าเงินกำลังแข็งค่า ที่สำคัญค่าเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่น เช่น กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น ก็แข็งค่าขึ้นเช่นกันเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนหนีออกจากการลงทุนในสินทรัพย์เงินดอลล่าร์สหรัฐไปลงทุนในสินทรัพย์เงินยูโรและเงินเยนแทน ซึ่งรวมถึงเงินสำรองทางการของธนาคารกลางประเทศต่างๆ การแข็งค่านี้ทำให้ประเทศกลุ่มยูโรโซนและญี่ปุ่น ยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นในการฟื้นตัว จนหลายประเทศต้องเข้ามาดูแลการแข็งค่าของสกุลเงินของตน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของเศรษฐกิจ เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของเงินสำรองทางการของธนาคารกลางทั่วโลก จากประมาณ 6.7 ล้านล้านดอลล่าร์ในปี 2007 เป็น 10.5 ล้านล้านดอลล่าร์ช่วงกลางปี 2012 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในห้าปี แสดงถึงขนาดของเงินสำรองทางการที่เพิ่มขึ้นจากการแทรงแซงค่าเงิน

ปัญหาค่าเงินประเทศต่างๆ แข็งค่า เทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐกลับมาเป็นประเด็นอีก ช่วงไตรมาสสาม ปีที่แล้วที่สหรัฐเพิ่มการอัดฉีดโดยมาตรการคิวอีสาม และตั้งใจจะอัดฉีดสภาพคล่องต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐวัดจากอัตราการว่างงานจะฟื้นตัว นโยบายนี้ได้สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินของประเทศต่างๆ อีกครั้ง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่เงินเยนแข็งค่ามากทั้งปีปีที่แล้ว และแข็งค่าสูงสุดถึง 76 เยนต่อเหรียญดอลล่าร์ ถ้าเงินเยนไม่อ่อนค่าลง เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีปัญหามาก เพราะบริษัทญี่ปุ่นจะแข่งขันไม่ได้ จะขาดทุน และจะไม่สามารถเสียภาษีได้ ซึ่งจะกระทบฐานะการคลัง และความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 230 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ที่สำคัญ ปัญหาค่าเงินแข็งแบบญี่ปุ่นเป็นปัญหาที่ประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ประสบเช่นกัน ทำให้ประเทศอย่างญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ได้หาทางแก้ไขปัญหาโดยการเปลี่ยนเป้าหรือน้ำหนักของนโยบายการเงินจากการดูแลเสถียรภาพราคา มาเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งลึกๆ แล้วก็คือ ต้องการเปิดพื้นที่ให้ธนาคารกลางสามารถอัดฉีดสภาพคล่องได้เหมือนสหรัฐ เพื่อลดการแข็งค่าของเงินของตน ดังที่เขียนไว้เมื่อต้นเดือนนี้ในบทความ "หายใจลึกๆ กับภาวะตลาดการเงินปีนี้"

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาท จุดเปลี่ยนสำคัญที่นำมาสู่แรงกดดันต่อค่าเงินบาทอาทิตย์ที่แล้ว ก็คือ การประกาศนโยบายของรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นที่วางเป้าของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อ 2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดออกจากภาวะเงินฝืด (อัตราเงินเฟ้อติดลบ) ที่ได้เป็นปัญหาของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากว่ายี่สิบปี นโยบายดังกล่าวจะหมายถึง การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเพื่อสร้างเงินเฟ้อให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง โดยหวังว่าเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัว ผมห่วงว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะเมื่ออัตราเงินเฟ้อเป็นบวก ความเดือดร้อนต่อคนญี่ปุ่นก็จะมาก เพราะขณะนี้ผลตอบแทนต่อการฝากเงินแทบจะไม่มี เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก

หลังประกาศนโยบายดังกล่าวเมื่อสิ้นปี 2012 เงินเยนได้อ่อนค่าไปแล้วกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่เร็วมาก และกดดันให้ค่าเงินประเทศอื่นๆ แข็งค่าไปทั่ว จนบางประเทศต้องเข้ามาดูแลการแข็งค่าของเงินสกุลของตนโดยการแทรกแซง เหมือนกรณีของไทยอาทิตย์ที่แล้วที่มีเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชนให้ทางการเข้ามาดูแล

ดังนั้นคงตระหนักแล้วว่า แรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าอย่างที่เกิดขึ้นอาทิตย์ที่แล้ว เป็นสิ่งที่ทางการไทยคงทำอะไรมากไม่ได้ในแง่การแก้ไขปัญหา เพราะเป็นผลจากภายนอก ที่จะทำได้ก็เฉพาะดูแลไม่ให้การแข็งค่าของเงินบาทในแต่ละช่วงเปลี่ยนมากเกินไป จนภาคธุรกิจปรับตัวไม่ได้

คำถามต่อมา ก็คือ ประเทศอื่นๆ จะเข้ามาแข่งกันกดดันให้ค่าเงินสกุลของตนอ่อนค่าลงหรือไม่ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากับญี่ปุ่น เช่น จีน ยุโรป เกาหลี ประเทศในเอเซียน และประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เพราะถ้าเกิดขึ้น อันนี้ก็คือสงครามเงินตรา เมื่อสงครามเงินตราเกิด นักเก็งกำไรในตลาดการเงินก็จะร่วมวงด้วย เพื่อทำกำไร โดยพยายามกดดันให้ค่าเงินของประเทศที่เป็นเป้าหมายแข็งค่าเกินความสามารถของทางการที่จะแทรกแซงหรือดูแลได้

นึกภาพแล้วตลาดการเงินโลกมองไปข้างหน้าคงจะผันผวนน่าดู เหมือนอย่างที่เขียนไว้ว่า ต้องหายใจลึกๆ กับภาวะตลาดการเงินปีนี้