เคล็ดลับ ที่ทำให้บัฟเฟตต์..รวยระดับโลก

เคล็ดลับ ที่ทำให้บัฟเฟตต์..รวยระดับโลก

วอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีและเป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในโลก จึงเป็นธรรมดาที่หลายคนอยากรู้ว่า บัฟเฟตต์มีเคล็ดลับในการลงทุนอย่างไร?

จึงทำให้ตนเองประสบความสำเร็จได้มากถึงเพียงนั้น ในหนังสือเรื่อง “Buffett’s Bites” ซึ่งได้แปลเป็นฉบับภาษาไทยว่า “25 เคล็ดลับ การลงทุนของ..บัฟเฟตต์” โดยสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ หนังสือได้กล่าวถึงเคล็ดลับดังกล่าว ซึ่งผมจะขอหยิบยกมาบางส่วน เพื่อมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านดังนี้ครับ

หนึ่ง การแสวงหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ

ความลับในความสำเร็จของบัฟเฟตต์ก็คือ ความสามารถในการหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำมาลงทุนได้ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงชอบธุรกิจประกันภัย ในปี 2551 พบว่า 24 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ของบัฟเฟตต์ และ.... 50 เปอร์เซ็นต์ ของกำไรทั้งหมด มาจากธุรกิจประกันภัยต่อ ประกันทรัพย์สิน ประกันชีวิต และประกันรถยนต์

บัฟเฟตต์เองชอบรายได้ที่ได้มาจาก.... “Float” Float ในที่นี้หมายถึง รายได้จากเบี้ยประกันภัยที่เบิร์กไชร์รับเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมจนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุในอนาคต ซึ่งก็จะสามารถนำเบี้ยประกันภัยจำนวนนี้ไปลงทุนก่อนได้ นอกจากนั้นยังรวมถึงเบี้ยประกันภัยที่หักออกด้วยค่าใช้จ่ายทางด้านสินไหมแล้ว บัฟเฟตต์ก็จะสามารถนำกำไรส่วนเกินนี้ไปลงทุนต่อได้ นั่นเท่ากับว่าบัฟเฟตต์จะมีเงินทุนที่ไม่มีต้นทุนให้นำไปลงทุนได้

สอง แสวงหา “บริษัทที่มีคุณค่า ที่..โลกได้ลืมไปแล้ว”

ในปี 2542 เบิร์กไชร์ ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนของบัฟเฟตต์ ก็มีมูลค่าการตลาดสูงเป็นอันดับที่ 74 ของบริษัทในสหรัฐอเมริกา แต่เบิร์กไชร์กลับไม่เคยปรากฏอยู่บนหน้าปกของวารสารทางการเงินฉบับใดๆ เลย ในปีเดียวกัน อลิซ โชรเดอร์ นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินเพน เว็บเบอร์ (Paine Webber) ได้เขียนบทวิจัยเกี่ยวกับเบิร์กไชร์ เธอได้สรุปว่า เบิร์กไชร์เป็นบริษัทลงทุนขนาดใหญ่ที่มีพอร์ตการลงทุนมหาศาล และไม่เหมือนกับบริษัทจัดการการลงทุนทั่วไป

ธุรกิจที่เบิร์กไชร์เข้าไปลงทุนนั้น ไม่ได้ต้องการประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันเลย แต่ละบริษัทจะทำงานเป็นอิสระต่อกัน และส่งผลกำไรส่วนเกินที่ไม่จำเป็นต้องใช้..ส่งคืนไปยังบัฟเฟตต์ เพื่อให้เขาไปลงทุนต่อเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ บัฟเฟตต์ยังคงใช้เวลาที่มีค่าของเขาไปในการอ่านและคิด เพื่อจะหาโอกาสซื้อ... “บริษัทที่มีคุณค่า ที่..โลกได้ลืมไปแล้ว”

สาม กฎ 3 ข้อ ….หัวใจในการซื้อกิจการ

เพื่อที่จะหาว่าธุรกิจใดน่าลงทุน? บัฟเฟตต์ก็จะใช้กฎ 3 ข้อแบบง่ายๆ คือ หนึ่ง มีราคาที่น่าสนใจ (มีราคาถูกอย่างยิ่ง) สอง มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างถาวร (Durable Competitive Advantage - DCA) ซึ่งจะสามารถทำกำไรได้อีกนาน และสาม เป็นธุรกิจที่บัฟเฟตต์สามารถเข้าใจได้ว่าจะแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไร? หรือเรียกง่ายๆ ว่าอยู่ใน “กลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขัน” (Circle of Competence)

ถ้าผ่านทั้งสามข้อนี้แล้ว บัฟเฟตต์ก็จะดูต่อว่า ผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ รักและมุ่งมั่นทำธุรกิจของตนหรือไม่? ถ้าใช่ เขาจึงจะเริ่มศึกษาอย่างจริงจังว่าจะลงทุนในบริษัทนั้นๆ หรือไม่?

สี่ การแบ่งธุรกิจเป็น 3 ประเภท ของบัฟเฟตต์

บัฟเฟตต์เคยสรุปภาพรวมของการจัดสรรเงินลงทุนของเขา โดยเขาแบ่งประเภทของกิจการที่เขาไปลงทุนเป็น 3 กลุ่ม โดยขึ้นกับอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งมีตั้งแต่ ดีเยี่ยม... ดี... และ....ควรหลีกเลี่ยง (อ่านเพิ่มเติม “กลยุทธ์ธุรกิจ 3 ประเภทของวอร์เรน บัฟเฟตต์” ได้ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2555 หรือ http://www.doctorwe.com/bangkokbiznews/20120831/3792)

ซีส์ แคนดี้ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายช็อคโกแลตไม่ใช่เป็นแค่ธุรกิจที่ดีเท่านั้น แต่มันเป็นธุรกิจที่..ดีเยี่ยม ต่างหาก บัฟเฟตต์จัด “ซีส์ แคนดี้” ไว้ในธุรกิจประเภทดีเยี่ยม เป็นเพราะว่าคุณสมบัติของซีส์ตรงทั้งสามข้อ กล่าวคือ ข้อหนึ่ง ราคาซื้อธุรกิจนี้ไม่แพง เป็นราคาที่สมเหตุสมผล ข้อสอง บริษัทยังทำกำไรได้ดีบนพื้นฐานของความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ข้อสาม ธุรกิจนี้เข้าใจได้ง่ายๆ

ไฟลท์เซฟตี้ : ธุรกิจที่ดี..ไม่ใช่ดีเยี่ยม ธุรกิจไฟล์เซฟตี้ (FlightSafety) ซึ่งเป็นธุรกิจในการฝึกอบรมนักบินในสายการบินต่างๆ ไฟลท์เซฟตี้จัดการเงินลงทุนที่จะใช้เพื่อการเจริญเติบโตได้อย่างไร? มันอาจนับได้ว่าทำได้ไม่ถึงกับดีเยี่ยม แต่ก็ดีพอ ทุกๆ ปี บริษัทจะต้องลงทุนในการซื้อเครื่องจำลองการบิน (Flight Simulator) ใหม่ๆ เพื่อฝึกอบรมให้นักบินสามารถขับเครื่องบินใหม่ได้ บัฟเฟตต์อธิบายไว้ว่า “ไม่เหมือนกับผลตอบแทนจากซีส์ ผลตอบแทนของไฟลท์เซฟตี้จะเกิดขึ้นก็ต้องลงทุนเพิ่มอีก 509 ล้านดอลลาร์”

ธุรกิจที่จัดได้ว่าเป็นประเภทที่ควรหลีกเลี่ยง : ให้คิดถึงธุรกิจการบิน ธุรกิจที่จัดได้ว่าเป็นประเภทควรหลีกเลี่ยงคือ เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็ว ต้องการเงินลงทุนสูง แต่ได้กำไร..ไม่มากนัก ตัวอย่างของธุรกิจประเภทนี้ก็คือ บริษัทสายการบินต่างๆ ซึ่งมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนน้อยมาก และ...นั่นคือ เคล็ดลับ ที่ทำให้บัฟเฟตต์...รวยระดับโลก

ในหนังสือ “25 เคล็ดลับการลงทุนของ...บัฟเฟตต์” จะสอนแง่มุม และแนวคิดใน “การบริหารงาน” ได้เป็นอย่างดี ดังสโลแกนของหนังสือที่ว่า “ถ้าคุณเป็นผู้บริหาร คุณต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้าคุณเป็นนักลงทุน คุณไม่อยากรวยแบบบัฟเฟตต์หรือ?” ดังนั้น ถ้าเราหากคิดจะ “ร่ำรวย..เหมือนบัฟเฟตต์” ก็คงจะต้อง..ศึกษา “เคล็ดลับ” เหล่านี้...ไว้ด้วยนะครับ