ปฎิวัติบริหารจัดการรับยุคเออีซี

ปฎิวัติบริหารจัดการรับยุคเออีซี

แรงกระเพื่อมจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เป็นทั้งโอกาส

และอุปสรรคสำหรับภาคธุรกิจ ประชาชนชาวไทย ทั่วทั้งโลกต่างมุ่งหน้าสู่อาเซียน แต่เราจะก้าวเดินอย่างไร?

ตลาดเดียวที่มีกำลังซื้อกว่า 600 ล้านคน ทำให้อาเซียนเป็นดาวจรัสแสง มีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก แม้ขนาดเศรษฐกิจอาจยังไม่เทียบเท่ายุโรปแต่ฐานประชากรมากกว่าและกำลังไต่ระดับการเติบโตโดยเฉพาะการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางฐานหลักของบริโภคนิคม

ทั้งนี้ ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้า บริการ การลงทุน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในอาเซียนได้ง่ายขึ้น เป็นความท้าทายของธุรกิจต่างๆ จะรับมือได้อย่างไร โดยเฉพาะภาคบริการ แรงงานไทยมีแนวโน้มขยับขยายไปทำงานในสิงคโปร์ มาเลเซีย มากขึ้นเพราะผลตอบแทนดีกว่า

เช่นเดียวกันคนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็มีแนวโน้มย้ายออกไปทำงานนอกประเทศด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ผลตอบแทนสูงกว่า!!

เป้าหมายหนึ่งของบรรดาแรงงานต่างชาติในภาคบริการ คือ ประเทศไทย ทั้งโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ภัตตาคารหรู ล้วนต้องการพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐาน ยิ่งได้ภาษาที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 ยิ่งดี

นั่นเป็นปัญหาของแรงงานไทยขึ้นมาทันที ทั้งตลาดประเทศไทยและอาเซียน แรงงานไทยอาจไม่ใช่ทางเลือกแรกสำหรับธุรกิจบริการอีกต่อไป แม้ว่าทักษะการให้บริการของคนไทยไม่เป็นที่สองรองใคร แต่ต้องยอมรับว่าการใช้ภาษาอังกฤษยังค่อนข้างด้อยเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้

ไม่ต้องถามถึงแรงงานในภาคการผลิต “ต้นทุนค่าแรง” กลายเป็น “ความเสี่ยง” สำหรับนักลงทุนทั้งไทยและเทศไปแล้ว การผลิตจำนวนมาก หรือ กลุ่ม Mass Product ไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา ที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกื้อหนุนการลงทุนมากขึ้น ทั้งพม่า กัมพูชา กำลังเป็นฐานผลิตดาวรุ่งแทนที่ไทยในอดีตเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา

หรือหากก้าวไปในลักษณะ “สำเร็จรูป” พร้อมขายสินค้าและบริการ ธุรกิจร้านอาหาร กาแฟ การขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีก แฟชั่นเสื้อผ้า ฯลฯ ผู้ประกอบการไทยยังเผชิญความท้าทายในเรื่องของการขับเคลื่อนธุรกิจปักธงนอกบ้านแข่งกับเวลาและคู่แข่งพี่เบิ้มจากฟากตะวันตกที่ล้วนมองหาฐานธุรกิจใหม่

ธุรกิจไทยยังเรียกว่า “มือใหม่” กำลังฝึกหัดออกนอกบ้าน ต่างจากทุนต่างชาติมีการเปิดตลาดในหลายๆ ประเทศ ก่อนขยับเข้าสู่ตลาดอาเซียน บ่มเพาะประสบการณ์เป็น “ใบเบิกทาง” ที่ได้เปรียบกว่าแน่นอน

เวทีแข่งขันที่ใหญ่ขึ้น เพื่อนร่วมทางล้วนเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ จากความแข็งแกร่งหรือผู้นำตลาดในประเทศ โจทย์ธุรกิจ-แนวทางการทำตลาดย่อมเปลี่ยนไป ขีดความสามารถทางการแข่งขันต้องถูกนำมาใช้อย่างเต็มกำลังเพื่อพิสูจน์ฝีมือ!!
ไทยยังมีความได้เปรียบของความเป็นธุรกิจฟากตะวันออก การทำตลาด “เออีซี” จึงน่าจะเข้าถึงกว่าธุรกิจที่มาจากฟากตะวันตก เสมือนพูดจาภาษาเดียวกัน วัฒนธรรม รูปร่าง พฤติกรรมการบริโภค ฯลฯ ใกล้เคียงกัน

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากแรงกระเพื่อมของเออีซี อาจไม่ใช่ชั่วข้ามคืน หรือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่สิ่งจำเป็นเร่งด่วนของไทยคือการปฎิวัติการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งองค์กรและธุรกิจให้ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด

ไม่ต้องนับถอยหลังถึงปี 2558 แค่ลุกขึ้นให้ทันวันนี้อาจยังไม่สาย