มุกสดใหม่จากเฟซบุ๊ค จ่ายค่าโฆษณาจริงตามจำนวน Like !!

มุกสดใหม่จากเฟซบุ๊ค จ่ายค่าโฆษณาจริงตามจำนวน Like !!

เรียกว่าเปิดตัวแรงกับการทำโฆษณารูปแบบใหม่จากเฟซบุ๊ค ด้วยการทำ Pay Per Like หรือ จ่ายตามการกดไลค์

เรียกว่าเปิดตัวแรงกับการทำโฆษณารูปแบบใหม่จากเฟซบุ๊ค ด้วยการทำ Pay Per Like หรือ จ่ายตามการกดไลค์ คล้ายกับเราซื้อโฆษณาของกูเกิลนั่นละครับ ต้องมีคนคลิกที่โฆษณาก่อนจึงจะโดนตัดยอดเงินที่เราซื้อไว้ไป เรียกว่าลอกแบบกันมาเต็มๆ

คราวนี้ผมก็หวั่นใจขึ้นมาสิครับคุณผู้อ่าน ต่อไปนี้เราคงจะเน้นที่ยอดไลค์ (Like) กันอย่างบ้าคลั่งกันเลยทีเดียว เรียกว่า ไม่ว่ายังไงไม่สนละ ขอไลค์เยอะๆ ไว้ก่อนเป็นพอแล้ว

แต่จะว่าไปจริงๆแล้ว การนั่งนับแต่จำนวนไลค์เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอครับ ต้องมาดูที่คุณภาพของคนที่ไลค์ สินค้าหรือแบรนด์ของเราด้วย เพราะสิ่งที่เราอยากให้เขาทำหลังจากที่ไลค์แล้วก็คือ ติดตามแฟนเพจ (Fanpage) ของเราอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ซึ่งตรงนี้จะสะท้อน ROI ของการทำโซเชียลมีเดียได้อย่างชัดเจนมากกว่าการนั่งนับจำนวนไลค์ เพียงอย่างเดียวครับ

เอาอย่างนี้ดีไหมครับ ใครที่เป็นเจ้าของแฟนเพจของแบรนด์ต่างๆ ผมอยากให้กลับไปนั่งดูสิ่งที่เรียกว่า Insight ครับ ใครที่เป็นเจ้าของเพจจะมีปุ่มนี้มาให้พิเศษเลย เรียกว่าเป็นปุ่มหรือเมนูที่เอาไว้เช็คว่า ณ เวลานี้ คนที่ไลค์ เราอยู่นั้นเป็นใคร ชาย หญิง คนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัด อายุเท่าใด มีความสนใจเนื้อหาของเราตรงไหน โพสต์ไหนฮิต และโดน โพสต์ไหนที่กร่อยแล้วไม่มีคนคอมเมนท์เลย เช็คได้หมดครับ

รีบติดต่อเอเยนซีที่ดูแลแฟนเพจของคุณนะครับ เรียกมานั่งประชุมระดมสมองกันหน่อยว่า เมื่อถึงจุดนี้ จากที่เราตั้งเป้าหมายในการสื่อสารไว้แต่แรกนั้น ตรงหรือไม่ตรงอย่างไร ไปถึงไหนบ้างแล้ว อันนี้สำคัญมากครับ

ดังนั้นถ้าเราหาคนคลิกไลค์ได้ 10,000 คน และตรงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ สิ่งที่จะได้คือความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการรับรู้ถึงแบรนด์ของเรา แต่หากเรามี 100,000 ไลค์แต่ไม่ตรงเป้าหมาย กับที่ตั้งไว้แต่แรก คิดว่าคงไม่มีประโยชน์ใดๆเลย เพราะคนเหล่านั้นไลค์ไปแล้วสุดท้ายเขาก็ซ่อน Feed ข่าวของแฟนเพจเราอยู่ดีครับ ซึ่งการทำแบบนี้ก็ไม่มีผลใดๆเลย

ยิ่งเมื่อเฟซบุ๊คหันมาขายโฆษณาด้วยการวัดกันที่จำนวนไลค์แล้วด้วยนั้น ตรงนี้ก็ยิ่งแล้วใหญ่เลยครับเพราะจะทำให้ยอดไลค์มีโอกาสสูงขึ้นนั้น ส่งผลต่อคุณภาพของไลค์ให้มีคุณค่า และตรงกับการสื่อสารแบรนด์ของเราได้น้อยลงไปด้วยนั่นเอง

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ด้านลบของการทำ Pay Per Like จริงๆแล้ว หากเราเลือกกลุ่มเป้าหมายโฆษณาให้แม่นยำแต่แรก โดยไม่หว่านไป ตอนที่เราตั้งค่าโฆษณาไว้ ก็คงจะไม่มีปัญหาครับ ปัญหาคือหากคุณผู้อ่านไม่ได้ทำเองก็ต้องคุยกับเอเยนซีที่ดีลกันไว้แต่แรก ว่าเอายังไงกันแน่ เอากลุ่มเป้าหมายโฆษณา มาดูก่อนว่าตั้งไว้อย่างไร

สำหรับ Pay Per Like ผมมองโดยภาพรวมก็มีทั้งผลดีผลเสีย อยู่ที่ตัวคุณผู้อ่าน เลือกหน่อยว่าจะเอาอย่างไร จะมุ่งเน้นแสวงหาแต่ยอดไลค์โดยไม่แคร์เป้าหมาย หรือจะเลือกโฟกัสแม่นๆ หาไลค์ชัวร์ๆ แล้วได้ผลของการสื่อสารแบรนด์ในระยาวได้ดีกว่า ROI ที่ได้จะส่งผลดีกับแบรนด์คุณมากกว่า เพียงแค่ไลค์ไปอย่างนั้น แล้วไม่ได้อะไรเลยนะครับ