AEC..ปีนี้ ปีหน้า ปีไหน เราจะไปถึงจุดหมายของเราหรือเปล่า

AEC..ปีนี้ ปีหน้า ปีไหน เราจะไปถึงจุดหมายของเราหรือเปล่า

ขอต้อนรับเข้าสู่ปีงูเล็กที่มาถึงซึ่งเวลาที่ผ่านไปในแต่ละปีนั้นเร็วจนบางครั้งติดตามเรื่องต่าง ๆ ไม่ทัน

ขอต้อนรับเข้าสู่ปีงูเล็กที่มาถึงซึ่งเวลาที่ผ่านไปในแต่ละปีนั้นเร็วจนบางครั้งติดตามเรื่องต่าง ๆ ไม่ทัน ในช่วงที่ผ่านมาทุก ๆ วัน เราเห็นการพูดถึงเรื่อง AEC (Asean Economic Community) กันอย่างทั่วไป มีวันหนึ่งผมกลับบ้าน หลานของผมก็เขามาถามผมว่า “อากู๋... สวัสดีภาษาพม่า, เวียดนาม, จีน ... พูดว่าอย่างไร” ผมเลยถามหลานว่า พีต้ารู้หรือเปล่าลองบอกอากู๋หน่อย ซึ่งหลานสามารถบอกได้อย่างคล่องแคล่ว ฉะฉาน และทำให้ผมคิดต่อไปว่า ความกระตือลือล้นของเราคนไทยโดยทั่วไป ต่อคำว่า AEC นั้นมีมากในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน

เราพอรู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้และต่อไปอีก 2-3 ปี ... ซึ่งลองมองว่าอีกมุมว่าเราพร้อมหรือยังกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีที่จะมาถึง พอลองคิดดัง ๆ ผมไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วเราพร้อมหรือเปล่า (ไม่รวมถึงการกำหนดเปลี่ยนแปลงด้านภาษีและการอนุญาตการเคลื่อนย้ายเงินทุนและบุคลากรระหว่างกัน) เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นทางด้านประเทศไทยมีข้อจำกัดหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายด้าน ผมขอแบ่งเป็นแต่ละด้าน คือ ด้านสภาวะพื้นฐาน ด้านโอกาส ด้านข้อจำกัดและความเสี่ยงในอนาคต

ด้านสภาวะพื้นฐาน สำหรับด้านแรกนี้ประเทศไทยมีระดับสภาวะพื้นฐานดี ไม่น้อยหน้ากว่าคนอื่น (ดังที่เราเคยคุยกัน คือ เราอยู่ในประเทศกลุ่มที่ 2 ที่มีทั้งคนมาลงทุน เราพร้อมไปลงทุนนอกประเทศ และมีการค้าขายกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก) สาธารณูปโภคพื้นฐานมีถนน มีระบบการคมนาคมทั้งทางอากาศ น้ำ และทางบกที่เชื่อมต่อกันภายใน และกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี มีสภาพความเป็นอยู่ และมีความน่าอยู่เป็นพื้นฐาน (คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าชาวต่างชาติที่ต้องทำงานนอกประเทศเกิดของตน ต้องมาทำงาน ประเทศที่มีอันดับต้น ๆ ของความสุขของทั้งคนที่มาทำงาน และครอบครัวนั้นคือประเทศไทย คือ มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่าง มีโรงเรียนสำหรับลูก และมีกิจกรรมสำหรับภรรยาทำ) มีความง่ายในการเริ่ม และประสานงานทางธุรกิจกับคนท้องถิ่น มีความซื่อสัตย์ และสามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันอย่างยั่งยืนยาวนาน

โดยเฉพาะการรักษาลิขสิทธิ์ของการประกอบการ (Intellectual Properties) มีระบบสถาบันการเงิน และราชการที่ดำเนินการเป็นแกนหลักได้มีประสิทธิภาพไม่น้อย มีความหลากหลายในธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาก และเชื่อมต่อกันได้ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผู้บริโภคคนสุดท้าย มีส่วนผสมของทั้งภาคการผลิตและภาคบริการอย่างน่าสนใจ

ปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นนี้ หากเราให้คะแนนแล้วถือว่าคะแนนที่ได้นั้นเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียนเลยทีเดียว และดูเหมือนจะเป็นเหตุให้เกิดแรงดึงดูดในการคบค้าสมาคม ลงทุน และทำธุรกิจกับคนอื่น ๆ ที่มาจากต่างแดนไม่น้อย การดำเนินการขายตัวของภาคธุรกิจต่างแดนมีมากขึ้นยังผลให้ด้านที่ 2 ที่เรามอง คือ ด้านของโอกาสนั้นเรามีความน่าสนใจและมีเสน่ห์มากในสายตาของนักลงทุนและนักธุรกิจจากต่างประเทศ สำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทย โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นสามารถมองได้คร่าว ๆ คือ การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน (ด้วยการคบหาทำธุรกิจของไทย-ญี่ปุ่น ไทย-จีน มีการดำเนินการด้วยกันมานาน และมีความนับถือและร่วมมือกันแบบระยะยาว) ซึ่งการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะมีหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่เพียงแค่ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะรวมถึงภาคบริการ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเฉพาะอีกหลาย ๆ ด้าน

นอกจากนี้ไทยก็จะเป็นประตูสู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนบนอีกด้วย ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยทั้งชั่วคราวและระยะปานกลางของคนที่เข้ามาทำธุรกิจจะมากขึ้น ความต้องการในการรับบริการในการดำรงอยู่ก็มากขึ้น การเดินทางทั้งทางบก และอากาศก็จะมีการเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย (จากที่เราทราบว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีกว่า 20 ล้านคน แต่การเพิ่มขึ้นของการเดินทางของคนที่มาค้าขาย และทำธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวก็เป็นไปได้) การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในหลาย ๆ ประเทศในคราวเดียวกันก็จะสูงขึ้น (Cluster Based Travel : คือการท่องเที่ยวหลาย ๆ ประเทศในคราวเดียว เช่น ไทย พม่า เวียดนาม, ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เป็นต้น)

โอกาสนั้นในช่วงปีนี้และปีหน้ามีเพิ่มขึ้นให้คนไทยได้เติบโตและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงและจากพื้นฐานที่ดีของเรา ในอีกด้านหนึ่ง คือ ด้านความเสี่ยงและข้อจำกัด ในด้านนี้ผมคิดว่าเราต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากเรามองจากภาพใหญ่ ประเทศไทยน่าสนใจ ประเทศไทยมีโอกาส แต่ประเทศไทยเราสามารถเอาโอกาสนี้มาทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย เรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำ ถึงต่ำมาก ถ้าหากมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติมขึ้นดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้น เราจะเอาแรงงานจากไหนมาสนับสนุนการขยายตัว

การพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งต่อให้กับตลาดแรงงานนั้น สัดส่วนของบุคลากรที่จบการศึกษาแบ่งเป็นสาขาวิชา ทั้งอุดมศึกษาและสาขาวิชาชีพนั้นอัตราส่วนอาจไม่สอดคล้องกัน คือ นักศึกษาจบอุดมศึกษาอาจมากกว่าความต้องการของตลาดงาน ในขณะที่สาขาวิชาชีพไม่พอเพียงต่อความต้องการโดยเฉพาะหากมีการขยายตัวของภาคการผลิตเพิ่มเติมขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าความขาดแคลนแรงงานที่เหมาะสมกับความต้องการ และตามคุณภาพที่กำหนดนั้น เราจะสามารถอยู่ในสภาพนี้ได้นานแค่ไหน ซึ่งหากเรามองปัญหานี้แล้ว ค่าแรงที่กำหนดเพิ่มเติมขึ้นอาจไม่ได้เป็นประเด็นที่รุนแรงเท่ากับการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเราเริ่มเห็นปัญหานี้ในวงกว้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแล้ว

หากเราต้องการให้ประเทศไทยปรับตัว และพร้อมต่อการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แปลอีกด้านคือ ต้องการให้ธุรกิจต่าง ๆ มาทำกับประเทศไทยเยอะขึ้น คนมาเที่ยวเยอะขึ้น ธุรกิจย้ายฐานการประกอบการมาประเทศไทยเยอะขึ้น คนมาทำงานมากขึ้น และเป็นศูนย์กลางในการจัดการด้านต่าง ๆ ของแต่ละองค์กรมากขึ้น ซึ่งหากเราต้องการสิ่งเหล่านี้ เราคงต้องถามต่อว่าแล้วอะไรที่จะทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ในการมองอย่างไว ๆ ประเทศสิงคโปร์ได้มีการริเริ่มการสนับสนุนและมีการเปลี่ยนแปลงกติกาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดหลาย ๆ สิ่งที่ผมได้กล่าวถึงในเบื้องต้น ผมไม่มั่นใจว่าหากเราไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในปัจจุบัน ประเทศไทยคงไม่สามารถเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็นศูนย์กลางของหลาย ๆ อย่างที่เราอยากให้เป็นได้ อาทิ Regional Operation Hub, Regional Treasury Center เพราะกติกาต่าง ๆ ที่ต้องมีการปรับให้สอดคล้องนั้นยังไม่ได้มีการจัดการให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ในทางกลับกัน เราจะเห็นธุรกิจไทยหลาย ๆ กลุ่มที่มีการขยายตัวออกนอกประเทศ และดำเนินการในหลาย ๆ ประเทศ จะมีการขยายธุรกิจไปสิงคโปร์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการจัดการดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้น

การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้ เรามีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากที่ต้องพิจารณาและจัดการอย่างใส่ใจ มิฉะนั้นเราคงไปสู่จุดหมายที่เราตั้งใจได้ไม่ง่าย หรือ ในบางเรื่องอาจเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำไป การพิจารณาข้อจำกัดต้องมองทั้งสองมุม คือ จากนอกสู่ใน และในสู่นอก ซึ่งหากไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแล้วจะเกิดเหตุการณ์ที่ธุรกิจไทยจะไปดำเนินการนอกประเทศไทยแทน ซึ่งเราคงไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เรายังพอมีเวลา แต่ต้องเริ่มใส่ใจและจัดการ และก็จะทำให้เราสามารถไปถึงจุดหมายที่เราต้องการได้