จะเกิดอะไรขึ้น หากยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 50

จะเกิดอะไรขึ้น หากยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 50

การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 309

ที่บัญญัติว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” ทำให้เกิดประเด็นคำถามขึ้นว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 วันนี้จะหาคำตอบในเรื่องนี้ โดยพิจารณาเทียบเคียงจากข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้

1. การตรากฎหมาย

(1) ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ มีผลเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ แม้พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นจะเสด็จสวรรคตแล้ว เว้นแต่จะมีกฎหมายมายกเลิกในภายหลัง พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ ที่ยังถือว่าเป็นกฎหมาย ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกา เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 2023-2024/2552 ที่วินิจฉัยจากพงศาวดารเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทว่า พระเจ้าทรงธรรม ได้มีพระบรมราชโองการอุทิศถวายที่ดินที่มีสภาพเป็นป่า ออกไปเป็นบริเวณโดยรอบ หนึ่งโยชน์ (400 เส้น) ให้วัดพระพุทธบาท พระบรมราชโองการดังกล่าวมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าพระราชกฤษฎีกา ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของวัดพระพุทธบาท

(2) หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย การตรากฎหมายเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น รัฐสภา เมื่อได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในขณะนั้น ก็มีผลสำเร็จเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์ ใช้ได้ตลอดไป แม้จะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปในภายหลัง หรือรัฐสภาที่ตรากฎหมายนั้นถูกยุบหรือสิ้นสภาพไปแล้วก็ตาม เพราะความเป็นกฎหมายมีผลเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ตรากฎหมายนั้นออกใช้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้ยกเลิกในภายหลัง

(3) ในสมัยที่มีการปฏิวัติหรือปฏิรูปการปกครอง ประกาศที่ออกมาโดยคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูป ที่มีผลเป็นกฎหมาย เมื่อประกาศแล้วมีผลสำเร็จเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ตลอดไป แม้คณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปจะสลายไปแล้ว เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 (การควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว) มีผลใช้บังคับมาจนถึงปี 2542 จึงถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ ศ. 2542

2. การยกเลิกพระราชบัญญัติ หากมีพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งฉบับใด การยกเลิกพระราชบัญญัตินั้นมีผลสมบูรณ์ในนาทีที่พระราชบัญญัติฉบับที่ให้ยกเลิกมีผลใช้บังคับ แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับที่ให้ยกเลิก ก็ไม่มีผลย้อนไปทำให้พระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ฟื้นขึ้นมามีผลใช้บังคับใหม่ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พ.ศ. 2535 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ต่อมามีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ออกใช้บังคับ ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พ.ศ. 2535 ที่ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ก็ไม่มีผลย้อนไปทำให้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ฟื้นขึ้นมามีผลใช้บังคับอีก เพราะผลการยกเลิกสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่นาทีที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ

3. การนิรโทษกรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

การนิรโทษกรรม หรือรับรองการออกคำสั่ง ประกาศ การดำเนินของคณะปฏิวัติ มีผลสมบูรณ์ทันทีที่บทบัญญัตินั้นมีผลบังคับใช้และมีผลตลอดไป แม้จะมีการยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองนั้นในเวลาต่อมา เช่น

(1) บทบัญญัติตามาตรา 21 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ที่บัญญัติว่า “บรรดาประกาศของคณะปฏิวัติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างการปฏิวัติวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จนถึงวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นประกาศ หรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย” ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 แทน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 และแม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีบทบัญญัติตามมาตรา 238 รองรับเฉพาะคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 เท่านั้น ที่ยังให้มีผลบังคับอยู่ แต่ก็ไม่มีผลทำให้การนิรโทษกรรมหรือบรรดาประกาศของคณะปฏิวัติสิ้นผลไป เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 (ควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยฯ) ปัจจุบัน ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ หรือ

(2) บทบัญญัติของมาตรา 32 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 ที่บัญญัติว่า “บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ได้กระทำ ประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติในทางบริหาร หรือในทางตุลาการให้ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นเป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ต่อมาเมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ออกใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 แทน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 และก็มีบทบัญญัติตามมาตรา 206 รองรับเฉพาะคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 หรือตามมาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 ที่ยังให้มีผลบังคับต่อไป เท่านั้น ทำนองเดียวกันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 แต่การนิรโทษกรรมและบรรดาประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติก็ไม่ได้สิ้นผลไป เพราะมาตรา 32 ได้รับรองไว้มีผลโดยสมบูรณ์แล้ว เช่น คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ เป็นต้น

บทสรุป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า การตรากฎหมายออกใช้บังคับ การยกเลิกกฎหมาย การนิรโทษกรรม หรือรับรองการใดๆ ถือว่ามีผลโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่บทบัญญัติของกฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ แม้ภายหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจหรือบทบัญญัติในการตรากฎหมาย หรือมีการยกเลิกกฎหมายที่ให้ยกเลิกกฎหมาย หรือบทบัญญัติที่ให้นิรโทษกรรมหรือรับรองการดำเนินการถูกยกเลิกหรือสิ้นสภาพไป ก็ไม่ทำให้การตรากฎหมาย การยกเลิกกฎหมาย การนิรโทษกรรม หรือการรับรองการดำเนินการโดยบทบัญญัตินั้น สิ้นผลไป เพราะมีผลโดยสมบูรณ์ไปแล้ว เมื่อเทียบเคียงจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงเห็นว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และยกเลิกมาตรา 309 หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ทั้งฉบับ ก็ไม่มีผลกระทบต่อ บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 309 ได้รับรองไว้มีผลสมบูรณ์แล้ว นอกจากนี้โดยบทบัญญัติของมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ก็ได้รับรองไว้ก่อนแล้วด้วย อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรา 309 ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดผลอะไรเลย เพราะอย่างน้อยก็ ทำให้รัฐธรรมนูญสั้นลงไปหนึ่งมาตรา