นโยบายการคลังกับนโยบายการเงินสหรัฐ

นโยบายการคลังกับนโยบายการเงินสหรัฐ

ในครั้งที่แล้วผมสรุปประเด็นสำคัญๆ ของข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลังที่ออกมาเป็นกฎหมายได้อย่างรีบเร่ง ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น

ถึง 2-3% ในวันที่ 2 มกราคม ทั้งๆ ที่ข้อตกลงดังกล่าวทำให้นักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ “ผิดหวัง” กับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการขาดวินัยทางการคลัง เพราะมิได้มีการวางกรอบเพื่อแก้ปัญหาทางการคลังแต่อย่างใด บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์มองว่าข้อตกลงดังกล่าวมิได้ทำให้ภาระหนี้สาธารณะลดลงและ “อาจไม่เพียงพอ” ที่จะทำให้สหรัฐสามารถรักษาระดับความน่าเชื่อถือที่ AAA อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเอสแอนด์พีซึ่งได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงไปเมื่อปี 2011 มองว่า มาตรการที่มีอยู่ในข้อตกลง “ยังไม่สามารถทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับที่ยั่งยืนได้ในระยะกลาง” ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือบอกว่าจะรอดูผลการเจรจาเพื่อปรับเพดานหนี้สาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมก่อนที่จะพิจารณาทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ

หากข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อ 1 มกราคมมีจุดอ่อนให้ตำหนิอย่างมากมายดังที่ผมกล่าวถึงในบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คำถามคือทำไมตลาดหุ้นจึงปรับตัวขึ้นและโบรกเกอร์ต่างๆ จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ให้เพิ่มการลงทุนในหุ้นเกือบทุกราย ? คำตอบอาจมีอยู่ 3 ข้อคือ

1. ก่อนที่จะเผชิญหน้าผาทางการคลังนั้นนักลงทุนได้พยายามลดความเสี่ยงโดยการขายหุ้นล่วงหน้าและเมื่อความเสี่ยงดังกล่าวหมดลงก็คงมีการปรับพอร์ตยกเลิกการขายหุ้นล่วงหน้า

2. เป็นที่รับรู้กันก่อนสิ้นปี 2012 ว่าอัตราภาษีที่เก็บจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับขึ้น (Capital gains tax) และภาษีที่เก็บจากเงินปันผล (dividend tax) จะต้องถูกปรับขึ้น ทำให้นักลงทุนรีบขายหุ้นออกไปก่อนที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นและหลายบริษัทก็จ่ายเงินปันผลพิเศษ ต่อมาเมื่อทราบแน่นอนแล้วว่าภาษีอยู่ที่ระดับใดก็อาจจะมีการกลับเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อปรับพอร์ตกลับไปสู่สภาวะปกติ

3. แต่ผมเชื่อว่าสาเหตุหลักที่นักลงทุนมองว่าต้องซื้อหุ้นคือการมองว่ารัฐบาลสหรัฐจะดำเนินนโยบายการคลังที่ขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพราะจะไม่สามารถปรับลดรายจ่ายได้ ดังนั้นการขาดดุลงบประมาณก็น่าจะมีแต่เพิ่มขึ้นไม่น่าจะลดลง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลสหรัฐก็จะต้องออกพันธบัตรและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ผลตอบแทนจากพันธบัตรจะไม่เพิ่มขึ้น (ดอกเบี้ยไม่ปรับขึ้น) เพราะธนาคารกลางสหรัฐยังจะพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรเพื่อกดดอกเบี้ยลง จนกระทั่งการลงทุนในพันธบัตรให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มกับความเสี่ยง ตรงกันข้ามการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลอย่างน้อยก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นได้ (ไม่เหมือนกับพันธบัตรรัฐบาลซึ่งราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว)

4. ข้อตกลงเมื่อ 1 มกราคมนั้นมีความสำคัญคือ ทำให้ภาษีเงินได้ของชาวอเมริกัน 99% (ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 4 แสนดอลลาร์ สำหรับคนโสดและไม่เกิน 450,000 ดอลลาร์สำหรับสามี-ภรรยา) ถูกปรับลดลงอย่างถาวร กล่าวคือก่อนหน้านี้ภาษีที่ระดับต่ำตามกฎหมายที่ออกสมัยประธานาธิบดีบุชนั้นเป็นการลดภาษีชั่วคราวที่ต้องมาต่ออายุกันครั้งละ 1 ปี แต่จากนี้เป็นต้นไป อัตราภาษีดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นอัตราภาษีถาวรตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 1 มกราคม ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าผู้บริโภคจะมีความมั่นใจที่วางแผนการบริโภคเพิ่มขึ้น

บางคนอาจมองด้วยความเป็นห่วงว่าการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลสหรัฐจะเป็นเรื่องดีได้อย่างไร คำตอบคือ

1. เนื่องจากเศรษฐกิจของยุโรปก็ยังหดตัวอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็ยังเปราะบาง เศรษฐกิจสหรัฐและเงินดอลลาร์ก็ยังมีปัจจัยพื้นฐานที่น่าเชื่อถือมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศหลักอื่นๆ อเมริกาจะไม่ห่วงว่านักลงทุนจะสามารถหันไปลงทุนที่อื่นและทิ้งตลาดสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญได้

2. ตราบใดที่ชาวโลกยังต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก เพราะยังไม่สามารถหาเงินสกุลอื่นๆ มาทดแทนได้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐจะพิมพ์เงินออกมาหลายล้านล้านดอลลาร์ก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาค่าเงินดอลลาร์อ่อนมากนัก เพราะยังมีผู้ที่ยินดีรับเงินดอลลาร์มาเก็บเอาไว้ในจำนวนที่ไม่มีขอบเขตจำกัด

3. แม้รัฐบาลสหรัฐจะสร้างหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังมีธนาคารกลางสหรัฐและนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ในกรณีของนักลงทุนต่างชาตินั้นเข้าใจว่าส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารกลางของประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะธนาคารกลางเอเชีย ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 3 มกราคมมีข่าวว่าเงินวอนแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้หุ้นบริษัทรถยนต์เกาหลีปรับตัวลดลง 5% เพราะเกรงว่าจะส่งรถยนต์ออกไม่ได้ ทำให้มีข่าวว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ต้องเข้ามาแทรกแซงโดยซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินวอนเพื่อให้เงินวอนอ่อนค่า เมื่อธนาคารกลางเกาหลีใต้ถือเงินดอลลาร์มากขึ้น ต่อมาก็คงจะต้องเปลี่ยนเงินสดไปเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพราะอย่างน้อยก็จะยังมีรายได้จากดอกเบี้ยบ้าง แต่หากเก็บเป็นเงินสดก็จะไม่ได้ดอกเบี้ยเลย

กล่าวโดยสรุปคือผมมีความเห็นว่าหลายฝ่ายคงจะเห็นแนวโน้มว่ารัฐบาลสหรัฐน่าจะไม่สามารถรักษาวินัยทางการคลังได้ เพราะกรอบนโยบายการคลังที่ประธานาธิบดีผลักดันอย่างต่อเนื่องคือการเก็บภาษีคนรวยเพื่อคงรัฐสวัสดิการให้กับคนจนและคนชั้นกลาง ปัญหาคือคนรวยที่ว่านี้มีอยู่ 1-2% ของประชากรทั้งหมด แต่รัฐสวัสดิการนั้นแจกเงินให้กับคนทั้ง 100% ของประเทศ สำหรับนักการเมือง “การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน” และ “การเก็บภาษีคนรวยเพื่อให้ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน” นั้นเป็นเรื่องที่ฟังดูผิวเผินแล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้องและจะทำให้ชนะการเลือกตั้ง แต่การจะคาดหวังให้คน 1-2% รับภาระให้กับคน 100% นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังที่กล่าวในครั้งที่แล้วว่าข้อตกลงเมื่อวันที่ 1 มกราคมนั้น ทำให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้น 6 แสนล้านดอลลาร์ใน 10 ปี ข้างหน้า แต่ทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

บางคนอาจมองว่าหากรัฐบาลสหรัฐสร้างหนี้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ภาระย่อมจะต้องตกอยู่กับลูก-หลานของชาวอเมริกันในอนาคต แต่ผมสงสัยว่าภาระนั้นอาจตกอยู่กับเจ้าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐมากกว่า ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐนั้นมีอยู่ 2 เจ้าคือ ธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางต่างประเทศ เจ้าหนี้ตัวจริงคือธนาคารกลางต่างประเทศ เพราะธนาคารกลางสหรัฐจะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาอีกกี่ล้านล้านดอลลาร์ก็ได้ ซึ่งหากทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและเงินดอลลาร์อ่อนค่าก็จะยังสามารถพิมพ์เงินออกมาเพิ่มได้อีกโดยไม่มีข้อจำกัด ดังนั้น ผู้ที่รับภาระแต่เพียงผู้เดียวคือชาวต่างชาติที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพราะสินทรัพย์ดังกล่าวจะเสื่อมค่าลงตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ชาวอเมริกันที่ใช้เงินเกินตัว นำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกจึงได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยการจ่ายเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์ออกมาอย่างไม่จำกัดจำนวน ในขณะที่สหรัฐกำลังเดิมพันว่าไม่มีรัฐบาลหรือธนาคารกลางต่างประเทศใดกล้าไม่ซื้อหรือกล้าขายพันธบัตรสหรัฐและเงินดอลลาร์ออกมา เพราะจะเผชิญกับสภาวะขาดทุนและการส่งออกก็จะต้องทรุดตัวลง เนื่องจากเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าและดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างฉับพลัน

ดังนั้น ประเด็นที่จะทิ้งท้ายเอาไว้คือการใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐนั้นสหรัฐอาจไม่เป็นห่วงมากนัก เพราะเชื่อว่าจะมี “เจ้ามือ” มาจ่ายให้ครับ