50 ปีวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ และวรรณกรรมปัจจุบัน

50 ปีวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ และวรรณกรรมปัจจุบัน

ชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ในรอบ 50 ปี มีบทบาทบนเส้นทางวรรณกรรมมากพอสมควร ถ้านับรวมชาวธรรมศาสตร์ที่สนใจเรื่องวรรณศิลป์ การอ่าน การเขียน

การทำหนังสือ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2477 เกือบ 30 ปีก่อนที่จะมีการตั้งชุมนุมวรรณศิลป์อย่างเป็นทางการ นักคิดนักเขียนชาวธรรมศาสตร์ที่สร้างผลสะเทือนต่อสังคมนั้นมีมาก เท่าที่นึกได้เป็นชื่อแรกๆ คือ ศรีบูรพา เสนีย์ เสาวพงศ์ อัศนี พลจันทร์ (นายผี) นักคิด นักเขียน นักทำหนังสือ ชาวธรรมศาสตร์ ในรอบ 78 ปี ไม่ได้มีบทบาทเฉพาะในเส้นทางวรรณกรรมเท่านั้น พวกเขายังมีบทบาทในเส้นทางการเมืองและสังคม ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมอย่างมากด้วย

ชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมการเมืองภายนอกอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกัน ในบางยุค นักเขียนชาวธรรมศาสตร์ก็เป็นคนริเริ่มเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสังคมของประเทศด้วยเช่นกัน ชุมนุมวรรณศิลป์ในช่วง 4 ปีแรก (2506-2509) ก่อนที่ผมและพรรคพวกจะเข้าไปทำกิจกรรมในปี 2510 เป็นผลต่อเนื่องมาจากยุคเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม ที่จับกุมคุมขังนักคิดนักเขียนก้าวหน้า และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน นักศึกษาในยุคนั้นทั้งธรรมศาสตร์ จุฬา และที่อื่นๆ จึงสนใจเขียนแต่เรื่องใกล้ตัว เช่น เรื่องความรักของคนหนุ่มสาว แต่นักเขียนธรรมศาสตร์หลายคนก็เป็นศิลปินที่มีฝีมือ และความเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบธรรมชาติ ชอบวิถีชีวิตและสังคมที่ดี ทำให้พวกเขามีแนวคิดเชิงมนุษยธรรมรวมอยู่ด้วย เช่นในกลอนบางชิ้นของ นิภา บางยี่ขัน ดวงใจ รวิปรีชา และคนที่ต่อมาจะพัฒนามาเป็นกวีเพื่อสังคมมากที่สุด ก็คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

กลุ่มนักคิดนักเขียนในรุ่นของผมเป็นกลุ่มคนที่อ่านหนังสือกว้างขึ้น ดูหนังต่างประเทศดีๆ มากขึ้น ได้สัมผัสปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองที่เริ่มปะทุให้เห็นมากขึ้น พวกเราจึงเขียนและแปลหนังสือที่ตั้งคำถามถึงปัญหาในชีวิตและสังคมมากขึ้น คนที่มาสนใจทางวรรณศิลป์คือคนที่ชอบอ่านหนังสือ การอ่านหนังสือ คือ การเปิดโลกกว้าง จะเห็นได้ว่านักกิจกรรมรุ่นแรกๆ ในขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ส่วนใหญ่มาจากนักเขียน นักทำหนังสือ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นกิจกรรมที่จะนำไปสู่ปัญญา ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงแรกๆ เรายังทำอะไรกันไม่ได้มาก นอกจากอ่าน คิด อภิปราย เขียน และพิมพ์เผยแพร่ โดยเฉพาะการทำวารสารรวมผลงานพวกเราทำกันเอง เพราะโอกาสที่นักเขียนหน้าใหม่จะเขียนงานใหม่ๆ ไปลงในนิตยสารที่มีแนวคิดจารีตนิยมและเล่นพรรคเล่นพวกเป็นไปได้ยาก

ช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นช่วงของการตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษา ประชาชน สูงมาก มีการพิมพ์ อ่านหนังสือ วิจารณ์หนังสือ กิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือเพิ่มขึ้นมาก การที่แนวคิดวรรณกรรมเพื่อชีวิตและแนวคิดสังคมนิยม ได้พัฒนาเป็นกระแสสำคัญในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ไม่ใช่เรื่องการชี้นำ ล้วนๆ เป็นเรื่องจิตสำนึกของนักเขียนยุคนั้นด้วย คำว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับการตีความ และขึ้นอยู่กับความลุ่มลึกและฝีมือของนักเขียน ถ้าเราตีความแบบกว้างหน่อย ว่าวรรณกรรมคือเรื่องของชีวิตอยู่แล้ว และถ้านักเขียนเขียนได้อย่างมีศิลปะก็จะเป็นผลงานที่คนยอมรับได้นานหน่อย หรือมีฝีมือด้อย ก็จะเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา

หลังจากความพ่ายแพ้ของขบวนการสังคมนิยม นักศึกษาทยอยออกจากป่าในราว ปี 2523-2524 ทั้งสังคมนิยมและวรรณกรรมเพื่อชีวิตถูกปฏิเสธ คนกลับไปสนใจวรรณกรรมแนวเสรีนิยมปัจเจกชนตามแนวประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมตะวันตกมากขึ้น คนรุ่นหลังสนใจเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทุกด้าน ทั้งเรื่องเพศ การใช้คำหยาบ การแสดงความก้าวร้าว รุนแรง การหมกมุ่นกับเรื่องของตัวเองแบบไม่สนใจคนอื่นมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยพัฒนาแบบทุนนิยมตะวันตก ชนบทกลายเป็นเมืองมากขึ้น คนคิดถึงตัวเองแบบแก่งแย่งแข่งขันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองที่เข้มแข็ง นิยมตามตะวันตกมากเกินไป เช่น เย้ยหยัน ตามแนวเสรีนิยมปัจเจกชนนิยมแบบคนชั้นกลางตะวันตก ทั้งๆ ที่สังคมไทยยังมีส่วนที่เป็นชนบท คนส่วนใหญ่ยังมีความสัมพันธ์กับคนชนบท และวรรณกรรมไม่ใช่สมบัติส่วนตัว เมื่อคนเขียนงานเพื่อเผยแพร่ งานเขียนนั้นเป็นของสาธารณะ มีผลต่อสาธารณะ มันคือจิตสำนึกรวมหมู่ของชุมชน ซึ่งแม้จะถูกทุนนิยมอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปมาก แต่ชุมชนไทยยังมีวัฒนธรรมแบบเครือญาติ แบบพุทธ ฯลฯ ตกค้างอยู่ในซอกใดซอกหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่านักเขียนจะมองเห็นหรือไม่

วรรณกรรมที่ดี ไม่ใช่เพื่อมุ่งให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่คือการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน นอกจากการเสนอสิ่งที่งาม สิ่งที่จริง สิ่งที่น่าประทับใจ ให้แรงบันดาลใจแล้ว ควรช่วยให้คนร่วมยุคสมัย และคนรุ่นหลังเข้าใจในเรื่องชีวิตและสังคม ช่วยเพิ่มสติปัญญา รสนิยม ของผู้อ่านด้วย นี่คือการเพิ่มความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ การเขียนเรื่องปัจเจกชนแบบเสรีนิยม อาจเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสมัยใหม่จริง แต่นักเขียนที่ดีน่าจะเชื่อมโยงเรื่องของปัจเจกชนกับภาพใหญ่ คือสังคมที่เป็นจริง และสังคมที่ควรเป็น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

วรรณกรรม ไม่ใช่การบันทึกความจริงที่เน้นแต่ตัวเอง หรือเสนอเรื่องที่โหดร้าย น่าเกลียด หดหู่ เศร้าหมอง ในสังคมอย่างทื่อๆ แต่คือการสร้างสรรค์จินตนาการ เพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตและโลก ที่มีทั้ง 2 ด้าน คือ ความสวยงาม และความน่าเกลียด ที่จะเผยแพร่อารมณ์ ความรู้สึก ทั้งประทับใจ ดีใจ และเสียใจ เศร้าใจ ให้เพื่อนในสังคมได้รับรู้ ในชีวิตจริงของมนุษย์ เราบางคนมีโอกาสจะพบโศกนาฏกรรมได้เป็นธรรมดา แต่วรรณกรรมที่เป็นโศกนาฏกรรมที่ดี น่าจะเป็นโศกนาฏกรรมที่สวยงาม มีเหตุผลในตัวเอง ให้ข้อคิด บทเรียน กับเราว่าทำไมพฤติกรรมหรือชะตากรรมบางอย่างจึงนำไปสู่โศกนาฏกรรม ไม่ใช่การนำเสนอแบบตอกย้ำเรื่องเลวร้ายแบบคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างหดหู่ อ่านแล้วอยากฆ่าตัวตาย หรือเกลียดชัง หวาดระแวงมนุษย์มากขึ้น

วรรณกรรมที่ดี ไม่ควรเป็นแค่งานเขียนที่มีศิลปะในการใช้ภาษาที่ดีหรือมีความคิดแปลกใหม่ไม่เหมือนงานรุ่นก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ควรเป็นวรรณกรรมที่ช่วยยกระดับให้คนเข้าใจชีวิตอย่างมีวุฒิภาวะเข้าใจและเห็นใจกันและกันมากขึ้น ช่วยให้ความหวังกับคนในสังคมด้วย ไม่ควรสุดโต่งแบบพาฝัน มองโลกแง่สวยงดงามแบบน้ำเน่าเกินไป หรือ รายงานเรื่องชีวิตส่วนตัวมองโลกแง่เห็นแก่ตัวหรือแง่ร้ายมากเกินไป เพราะชีวิตจริงก็น้ำเน่า หรือมีปัญหามากพออยู่แล้ว วรรณกรรมควรจะเป็นของสวยงามที่เหนือชั้นกว่านั้น