ใกล้หายนะให้เพิ่มกฎ ลดกฎเมื่อใกล้เป็นเลิศ

ใกล้หายนะให้เพิ่มกฎ ลดกฎเมื่อใกล้เป็นเลิศ

ในยามที่ผู้บริหารไม่เชื่อมั่นในคนรอบตัว ไม่เชื่อลูกน้อง ไม่เชื่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ไว้ใจคู่ค้า หนทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารคือ

เพิ่มกฎกติกาใหม่ๆ ขึ้นมา สร้างกลไกการควบคุมใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อให้สบายใจในระดับหนึ่งได้ว่าคนรอบตัวนั้นไม่นำพาหายนะมาสู่กิจการโดยไม่รู้ตัว ผู้บริหารที่ชอบใช้กฎกติกาเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานมักเชื่อว่ากฎกติกาที่กำหนดไว้นั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการทำงาน ทำตามที่กติกากำหนดแล้วงานจะดีเอง คนทำไม่ต้องคิดไม่ต้องวินิจฉัยใดๆ แค่ทำตามก็พอแล้ว งานของผู้บริหารที่สำคัญที่สุดกลายเป็นการตรวจสอบติดตามว่าใครคนไหนเดินหน้าทำงานตามกติกา ใครคนไหนออกนอกกฎกติกา จนกระทั่งลืมเลือนไปว่าเป้าหมายหลักของงานการที่มอบหมายให้แต่ละคนแต่ละกลุ่มไปทำนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร ไม่ได้งานตามเป้าหมายไม่ใช่เรื่องสำคัญ งานไม่เสร็จไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญคือได้ทำตามทุกขั้นตอนที่กติกากำหนดไว้อย่างครบถ้วนเท่านั้นเป็นพอ

การเฝ้าติดตามแต่การทำงานตามกฎกติกาอย่างเที่ยงตรงนั้นให้ผลดีในยามที่รอบตัวย่ำแย่ เดินพลาดนิดเดียวเกิดหายนะแน่ๆ แต่นักปราชญ์ฝรั่งคนหนึ่งบอกไว้ว่าไม่มีทางที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศได้ นักปราชญ์ท่านนั้นยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ เรื่องหนึ่งคือการกำกับการทำงานของคนทำความสะอาด ถ้ากำกับแค่ว่าต้องปัดกวาดทำความสะอาดห้องกี่ห้องให้เสร็จในกี่นาทีตามกฎกติกาที่กำหนด กฎกติกาบอกว่ากวาดแค่ไหน เช็ดแค่ไหนก็กำกับไปตามนั้น ผู้บริหารก็มั่นใจว่ามีสถานที่ทำงานสะอาดเท่าที่กฎกติกากำหนด แต่ถ้ามีคนทำความสะอาดคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้อยากเห็นแค่สะอาด แต่อยากเห็นความเจริญตาเจริญใจ ขอเวลาเอาต้นไม้ดอกไม้มาวางเพิ่มขึ้นบ้าง สถานที่ทำงานนั้นก็ไม่ใช่แค่สะอาด แต่เจริญตาเจริญใจเพิ่มขึ้นมาด้วย ถ้าว่าเถรตรงตามกติกา คนทำความสะอาดจะไปวุ่นวายกับต้นไม้ดอกไม้ไม่ได้ ต้องปัดกวาดเช็ดถูอยู่แต่ในห้อง เดินมาเก็บต้นไม้ดอกไม้นอกห้องเมื่อใดหมายถึงผิดกฎกติกาเมื่อนั้น ถ้าสถานที่นั้นไม่ได้อยู่ใกล้ถนนหนทาง ไม่ใช่พื้นที่พลุกพล่านที่ต้องปัดกวาดเช็ดถูกันแทบทุกนาที พอจะมีเวลาให้หาหนทางที่จะสร้างความเจริญตาเจริญใจได้ การลดหย่อนกติกาก็ทำให้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนไปมามากมาย ขยะเยอะแยะแล้วมัวแต่ไปหาต้นไม้ดอกไม้มาประดับก็หมายถึงหายนะของความสะอาด อยู่ใกล้หายนะให้นึกถึงกฎกติกาไว้มากๆ ถ้าใกล้ความเป็นเลิศ ให้ลดกฎกติกาลงไปบ้าง

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือเมื่อเราอยู่กับการทำงานแบบเถรตรงตามกติกายาวนานสักระยะหนึ่งแล้ว เราจะลืมความรู้สึกไว้วางใจคนลงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับที่เราจะหวาดระแวงว่าหายนะอยู่ใกล้ตัวเสมอ ไม่ว่าในความเป็นจริงเราจะออกห่างไกลหายนะไปแล้วมากแค่ไหน ผลที่ตามมาคือเราไม่อาจก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศได้ เทียบกับใครๆ รอบตัวก็จะเห็นว่าเขาเดินหน้าเราไปเรื่อย วันวานเขาอยู่หลังเราไกลลิบ แต่พรุ่งนี้กลับไปอยู่ข้างหน้าเราเสียแล้ว อย่างไรก็ตามรอบตัวจะเสมือนแซงหน้าเราไปแค่ไหนก็ตาม แต่การเดินเถรตรงตามกฎกติกาไม่ทำให้เราล้มลงได้ เราไม่ต้องพบกับหายนะ แต่เดินช้ามากหน่อยจนเราเองต้องโวยวายกันเองว่าคนอื่นแซงไปหมดแล้ว พร้อมกับว่าคนนั้นคนนี้ว่าทำไมไม่ทำโน่นไม่ทำนี่ แต่พอจะทำอะไรแบบก้าวกระโดดเข้าจริงๆ เรากลับบอกว่าจะกระโดดไปได้อย่างไร เพราะกติกาบอกให้เดิน พอจะแก้กติกาให้กระโดดได้ เราก็บอกว่าแก้กติกาไม่ได้เพราะเราก้าวหน้ามาด้วยดีจากการเดินโดยห้ามกระโดด เดินโดยไม่ยอมกระโดดนานจนกระทั่งสำนึกอยู่ลึกๆ ว่าถ้าไปทางไหนโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การเดิน จะเป็นหนทางสู่หายนะทั้งสิ้น เราเดินนานจนกระทั่งลืมดูไปว่าเราเดินผ่านพื้นที่อันตรายมานานแล้ว รอบตัวไม่ใช่ทางเดินบนหุบเหวที่เต็มไปด้วยอันตรายอีกแล้ว รอบตัวเป็นที่ราบเรียบจะวิ่งเร็วแค่ไหนก็ไม่อันตราย ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งว่าการเดินหน้าบริหารงานแบบเถรตรงตามกติกาโดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายที่แท้จริงของงานนั้นยังคงมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งต้องใช้สติปัญญาของผู้บริหารในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ผู้บริการต้องมีสติปัญญาพอที่จะแยกแยะได้ว่าวันนี้งานของตนใกล้หายนะ หรือมีโอกาสที่จะมุ่งสู่ความเป็นเลิศ

ความสามารถที่จะแยกแยะได้ว่างานที่เดินหน้าอยู่นั้นใกล้เสี่ยงต่อหายนะหรือมีโอกาสที่จะก้าวสู่ความเป็นเลิศนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็มีความสามารถนั้นอยู่ แต่แท้จริงแล้วต้องใช้ประสบการณ์และสติปัญญามากทีเดียวที่จะสร้างความสามารถนี้ขึ้นมาได้ การจัดการจราจรในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่น แค่ตัดสินใจว่าเมื่อใดจะใช้ไฟสัญญาณจราจรควบคุมกฎกติกาการใช้รถใช้ถนน เมื่อใดจะปล่อยให้คนใช้รถใช้ถนนเดินทางกันได้เองโดยไม่ต้องใช้ไฟสัญญาณก็ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจได้ง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการจราจร แต่ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษก่อนเพิ่มกฎ หรือลดกฎกติกานั้นคือคนที่ทำงานอยู่รอบตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามค้นหาให้เจอว่าที่เรียกว่าคนทำงานดีในวงการของเรานั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่มุ่งแต่จะหาหนทางสร้างกติกาใหม่ หรือคุมกติกาเดิมให้เข้มงวดมากขึ้น ต้องค้นหาต่อไปว่ากติกาแค่ไหน คนดีตามที่เราเชื่อนั้นจะทำงานได้อย่างเป็นเลิศ แล้วลดกติกาลงมาอยู่แค่ในระดับนั้น

อย่างไรก็ตามต้องระวังไว้ด้วยว่าในทุกวงการมีคนไม่ดีอยู่เสมอ และคนเหล่านี้ใช้โอกาสจากการลดหย่อนกฎกติกาสร้างความย่ำแย่ขึ้นได้เสมอ แต่ต้องจัดการคนที่สร้างความย่ำแย่โดยไม่ใช่วิธีเพิ่มกฎกติกาสำหรับทุกคนเพียงเพื่อจัดการคนย่ำแย่บางคนเท่านั้น ส่วนจะจัดการคนย่ำแย่ที่ฉวยโอกาสจากการลดหย่อนกติกาเพื่อสร้างประโยชน์เฉพาะตนเองอย่างไรนั้นขอเตือนว่าต้องใช้สติปัญญาของผู้บริหารมากกว่าการลดหย่อนกติกาให้คนดีได้สร้างความเป็นเลิศเสียอีก