งูเห่า ของ ลุงแซม

งูเห่า ของ ลุงแซม

วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2008 ทำให้สถาบันการเงินและบริษัทต่างๆ ประสบปัญหาขาดทุน และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2008 ทำให้สถาบันการเงินและบริษัทต่างๆ ประสบปัญหาขาดทุน และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง มีอาการว่าจะล่มสลายต่อเนื่องกัน เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้น ก็คือบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของโลก “American International Group” หรือ AIG

อนาคตที่ส่อเค้าว่ากำลังจะดับวูบลง ทำให้ราคาหุ้น AIG ร่วงลงไปถึง 60% ในเวลาเพียงวันเดียว และในยามเป็นยามตายเช่นนั้น รัฐบาลอเมริกัน ได้ต้องตัดสินใจเข้าช่วยเหลือ AIG โดยด่วน ด้วยการปั๊มเงินเข้าไปถึง 182 พันล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเข้าช่วยเหลือและฟื้นฟูกิจการในอเมริกา และทำให้ลุงแซมกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน AIG ถึง 92%

การที่รัฐบาลนำเงินจำนวนมาก ไปประคับประคองสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้ง AIG ในเวลานั้น ทำให้เกิดข้อกังขาอย่างมาก เพราะเงินของรัฐบาลก็คือภาษีของประชาชน จึงถูกตั้งคำถามว่า นายธนาคารซึ่งเต็มไปด้วยความโลภและเป็นต้นเหตุของวิกฤติการณ์ กลับเดินออกไปจาก “Wall Street” ด้วยเงินโบนัสจำนวนมหาศาล ในขณะที่ประชาชนจาก “Main Street” คือเมืองเล็กเมืองน้อย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย กลับต้องมารับภาระช่วยเหลือ ด้วยเงินภาษีของพวกเขา

กระทั่งนำไปสู่กระแสที่เรียกกันว่า “Occupy Wall Street” ที่กล่าวหาว่าคนรวยเพียง 1% ทำให้คนอีก 99% ต้องเดือดร้อนแสนสาหัส

การช่วยเหลือครั้งนั้นทำให้ AIG สามารถประคองตัวอยู่ได้ และค่อยๆ ฟื้นฟูกิจการจนแข็งแรงขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ลุงแซมเองก็ได้รับเงินชำระกลับคืนจาก AIG อย่างต่อเนื่องเช่นกัน รวมทั้งทยอยขายหุ้นที่รัฐบาลถืออยู่ออกไปจนหมด และมีกำไรเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว AIG ได้คืนเงินกู้งวดสุดท้าย ให้แก่ลุงแซมเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งฉลองอิสรภาพ ด้วยการออกประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์และโฆษณาทีวีว่า “ขอบคุณนะ.....อเมริกา”

เป็นพฤติกรรมที่น่ารักอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงการรำลึกบุญคุณของชาวอเมริกัน และประเทศอเมริกา ที่ได้เอื้อมมือเข้าช่วยเหลือในยามที่กระเสือกกระสนจะจมน้ำตาย เพราะถ้า AIG ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือด้วยเงินมหาศาลถึง 182 พันล้านเหรียญ กิจการก็คงดับสูญไปแล้วตั้งแต่ปี 2008 ไม่มีอะไรเหลือหลอให้เห็นในวันนี้ หรอกครับ

อย่างน้อยลุงแซมและคนอเมริกัน ที่ได้รับคำขอบคุณ ผ่านทางสื่อต่างๆ ก็คงมีความรู้สึกที่ดี แม้กระทั่งคนไทยอย่างเรา ก็คงรู้สึกรัก AIG ไปด้วยเช่นกัน เพราะคนไทยเรานั้น เรื่องความกตัญญู เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

แต่อย่าเพิ่งชื่นใจไปมากกว่านั้นนะครับ เพราะหลังจากขอบคุณได้เพียงไม่กี่วัน เมื่อวันจันทร์นี้ก็มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการ หรือ บอร์ด ของ AIG กำลังพิจารณาว่าจะยื่นคำฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจากลุงแซม จากการที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือ AIG ในวันนั้น........

ทำไมเหตุการณ์จึงโอละพ่อ ไปได้ขนาดนี้? ก็ถ้ารัฐบาลปล่อยให้ AIG ล้มไปตั้งแต่วันนั้น AIG ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปตั้งสี่ปีแล้ว ไม่มีบอร์ดที่จะมานั่งประชุม เพื่อเตรียมตัดสินใจฟ้องลุงแซม เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้หรอก

สองสามวันที่ผ่านมา คนอเมริกัน และลุงแซม กำลังคิดถึงนิทานอีสป เรื่อง ชาวนากับงูเห่า และโกรธแค้นเจ็บปวดอย่างยิ่ง ที่ได้รับคำขอบคุณเพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวเช่นนี้ออกมา

AIG ไม่ได้ตั้งใจฟ้องเรื่องการที่รัฐบาลเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรอกครับ แต่จะฟ้องในเรื่อง วิธีการและเงื่อนไขของการเข้าช่วยเหลือ เช่นการที่รัฐบาลเข้าไปถือหุ้นสูงถึง 92% หรือ เรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เป็นต้น โดยมองว่าทำให้ ผู้ถือหุ้นของ AIG ได้รับความเสียหายมากเกินไป นับพันล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังขัดต่อ Fifth Amendment ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งห้ามรัฐนำทรัพย์สินของเอกชนไป โดยไม่จ่ายค่าชดเชยในราคาที่ยุติธรรม อีกด้วย

ข่าวนี้แพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์นี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงทั้งจากประชาชน และนักการเมือง และมีสำนวนที่เปรียบเปรยออกมาแล้วว่านี่คือการ “ฉกมือที่เลี้ยงแกมา” (Biting the hand that feeds you) แต่นักวิเคราะห์ ก็พยายามมองว่าเรื่องนี้บอร์ดของ AIG น่าจะกังวลเรื่อง “ธรรมาภิบาล” คือ กังวลว่าถ้าไม่ฟ้องรัฐบาล บอร์ดอาจจะถูกผู้ถือหุ้นฟ้องก็ได้ ว่าไม่รักษาผลประโยชน์ ของผู้ถือหุ้น

แต่มองอีกแง่หนึ่ง ถ้ารัฐบาลไม่เข้าช่วยเหลือในวันนั้น ความเสียหายของผู้ถือหุ้น ก็หนักหนากว่านี้ คือล่มสลายไปแล้วทั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2008 นอกจากนั้นทฤษฏีวิชาการเงิน ก็กล่าวว่าในยามวิกฤติ และรัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือบริษัทเอกชน รัฐบาลไม่ควรตั้งเงื่อนไขที่โอนอ่อนต่อผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมากจนเกินไป เพราะรัฐบาลกำลังนำเงินของประชาชนผู้เสียภาษีมาช่วยเหลือ

ผมตามข่าว “งูเห่า ของ ลุงแซม” มาตลอดสัปดาห์ จนเช้าตรู่วานนี้เอง ที่บอร์ดของ AIG ก็ประกาศว่าจะไม่ดำเนินการฟ้องรัฐบาลแล้ว เหตุผลข้อหนึ่ง น่าจะเกิดจากการที่จะต้องต่อสู้กับกระแสสังคมอย่างหนักนั่นเอง.....เรื่องนี้จึงจบไปเมื่อวานนี้เอง และเหมือนจะพิสูจน์ว่า ความกตัญญู ก็ยังคงมีความหมายอยู่บ้าง

ผมนำเรื่องนี้มาเล่า เนื่องจากเป็น คดีในตลาดทุน ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง รวมทั้งยังเป็นการดึงความสนใจของคุณผู้อ่าน ออกมาจากคดีฟ้องร้องมากมาย ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ระหว่าง “ผู้เคยมีอำนาจ” กับ “ผู้มีอำนาจ”

เพราะตอนนี้ คดีพวกนั้นเราติดตามแทบไม่ค่อยจะทัน แล้วละครับ