License (to operate) แบบไหนดี

License (to operate) แบบไหนดี

เป้าหมายการดำเนินงานมุ่งไปที่ ‘สังคมใกล้’ หรือชุมชนที่อยู่รายรอบกิจการ โดยมี ‘ผลกระทบ’ จากการประกอบการ เป็นโจทย์สำคัญ

ปี 2556 การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ยังเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญในสมการธุรกิจ และดูเหมือนจะมีค่าสัมประสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นยิ่งกว่าปีก่อน ด้วยปัจจัยขับดันจากสามกลุ่มสำคัญ คือ ภาคประชาสังคมที่ใช้กลไกและเครื่องมือในการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจที่มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแลที่คาดว่าจะมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น และกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกำลังซื้อหลักในตลาด มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่แบบแผนการใช้ชีวิต ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น


นอกจากการบริหารธุรกิจให้ดำเนินไปตามแผนและบรรลุเป้าประสงค์ทางธุรกิจ กิจการยังต้องใส่ใจกับการบริหารความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในสามกลุ่มสำคัญข้างต้นด้วย ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างกัน แต่ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ทำให้ธุรกิจดำเนินหรือเติบโตต่อไปด้วยความยั่งยืน


ในการบริหารความคาดหวังของภาคประชาสังคม แนวทางหรือกลยุทธ์ที่แนะนำ คือ การสานสัมพันธ์หรือสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่ง “License to operate” เป้าหมายการดำเนินงานจะมุ่งไปที่ ‘สังคมใกล้’ หรือชุมชนที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงานของกิจการ โดยมี ‘ผลกระทบ’ (ทางลบ) จากการประกอบการ เป็นโจทย์สำคัญของการดำเนินงาน


การอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคมในกรณีนี้ ไม่เหมือนกับการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากทางการที่มีความตายตัว และมีผลรองรับตามกฎหมาย แต่เป็นการยอมรับจากสังคมหรือชุมชนที่อยู่รายรอบในตัวของสถานประกอบการที่ไม่ตายตัว (อาจเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเวลาผ่านไป) และอาจไม่มีผลทางกฎหมาย


เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว การสานสัมพันธ์กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อบริหารความคาดหวังที่มีต่อกิจการ บนพื้นฐานของการยอมรับจากสังคมหรือชุมชนเป็นที่ตั้ง


ข้อผิดพลาดประการหนึ่งที่องค์กรธุรกิจมักใช้ในการบริหารความคาดหวังของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คือ การสร้างหรือให้ผลกระทบทางบวก (เช่น เงิน สิ่งของเครื่องใช้ สันทนาการ ฯลฯ) เพื่อมุ่งหมายที่จะให้ชุมชนยอมรับ (ในระยะเวลาอันสั้น) โดยมิได้มุ่งแก้ไขหรือจัดการกับผลกระทบทางลบที่มีต่อชุมชนอย่างจริงจัง (ในระยะยาว)


เมื่อผลกระทบทางลบได้รับการสะสมหรือสร้างปัญหาอย่างเรื้อรัง แก่ชุมชนที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงานของกิจการ การเสริมพลังจากองค์กรภาคประชาชนจากภายนอกก็จะเกิดขึ้นติดตามมา เพราะมีเหตุอันควรที่จะเข้ามาปกป้องสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลต่อการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมขององค์กรธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องหรืออย่างรุนแรง


มาถึงขั้นนี้ การใช้ช่องทางกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 67 โดยภาคประชาชน ดังเช่นที่เคยมีการใช้เพื่อระงับโครงการหรือกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และใกล้เคียง โดยศาลปกครองกลาง เมื่อปี 2552 ก็จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก


แทนที่ธุรกิจจะได้มาซึ่ง License to operate จากชุมชน กลับกลายเป็นว่า ชุมชนและองค์กรภาคประชาชน ได้เหตุซึ่งเป็น License to terminate การประกอบกิจการนั้นๆ ให้พ้นไปจากชุมชนแทน


แนวทางหรือกลยุทธ์การสานสัมพันธ์หรือสร้างข้อผูกพันร่วมกับชุมชน จากบทเรียนข้างต้น ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือวิสัยที่องค์กรธุรกิจจะทำความเข้าใจและดำเนินการ โดยเริ่มจากการจัดการที่ผลกระทบทางลบ ให้เกิดเป็นความเชื่อมั่นและความไว้วางใจสำหรับเป็นฐานในการทำงาน จากนั้นจึงค่อยพัฒนา หรือสร้างผลกระทบทางบวกให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้นไป


ทราบดังนี้แล้ว ก็อยู่ที่ธุรกิจแล้วว่า จะเลือก License แบบไหนดี !!