ประชามติหรือเดินหน้าวาระ 3 ? : มติพรรคเพื่อไทยคือ “ไม่มีมติ” !

ประชามติหรือเดินหน้าวาระ 3 ? : มติพรรคเพื่อไทยคือ “ไม่มีมติ” !

เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2556 สื่อ INN ได้ออกข่าวว่า “มติพรรคเพื่อไทยให้สถาบันการศึกษาดูแก้รัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน”

และมติชนออนไลน์ลงข่าวว่าพรรคเพื่อไทยเล็ง “ขอสถาบันการศึกษา คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ สถาบันชั้นนำมาช่วยกันศึกษาว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ประเด็นใดบ้าง โดยจะใช้การศึกษาประมาณ 45-60 วัน จากนั้น จะนำข้อศึกษาดังกล่าวมาหารือกันอีกครั้ง ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็จะดำเนินการทุกประการ”

มติข้อเสนอดังกล่าวทำให้อดนึกถึงช่วงที่คุณทักษิณต้องเผชิญกับการต่อต้านประท้วงในปี 2549 ไม่ได้ เพราะนักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัวคุณทักษิณเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุมาจากตัวรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วย นั่นคือ รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อหวังให้ฝ่ายบริหาร-พรรคการเมืองใหญ่มีความเข้มแข็ง แต่เมื่อบวกเข้าวิธีการของคุณทักษิณแล้ว เลยทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป องค์กรอิสระและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ คุณทักษิณเลยเสนอแนวทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ขึ้น โดยให้ “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปทำข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540” (http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1631) ซึ่ง ศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อสังเกตต่อแนวทางในครั้งนั้นไว้ว่า “แต่ตอนนั้นผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างคนก็ต่างทำ เลยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติและพอมีการรัฐประหาร ทุกอย่างก็จบสิ้นลง…” (http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1631)

มาคราวนี้ พรรคเพื่อไทยก็ใช้แนวทางเดิมเหมือนสมัยคุณทักษิณ แม้บริบทอาจแตกต่างกัน แต่เป้าหมายไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะในขณะนั้น คุณทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีกำลังเผชิญกับการชุมนุมประท้วงของพี่น้องพันธมิตรฯอย่างหนักหน่วง การเสนอให้ สกอ. ไปทำข้อเสนอ อาจถูกตีความว่าเป็นการซื้อเวลา ซึ่งในที่สุดแล้ว สกอ. ก็ไม่มีผลอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนตามข้อสังเกตของ ศ. ดร. นันทวัฒน์ข้างต้น ส่วนบริบทของพรรคเพื่อไทยขณะนี้ แม้ว่าพี่น้องพันธมิตรฯก็ยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสเรียกร้องจากพี่น้องมวลชนคนเสื้อแดงให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 โดยไม่ต้องทำประชามติ ทำให้พรรคเพื่อไทยตกอยู่ในสภาวะทางสองแพร่ง นั่นคือ หากเดินหน้าลงมติวาระ 3 ก็ต้องเจอกับกระแสชุมนุมต่อต้านของพันธมิตรฯ+อีกหลายกลุ่มการเมืองและการเสี่ยงต่อการถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในแก้ไขมาตรา 291 โดยเพิ่มเงื่อนไขการมี ส.ส.ร. ซึ่งเปรียบเสมือนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำแนะนำไปแล้วว่า หากจะให้มี ส.ส.ร. เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรทำประชามติเสียก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เกิดขึ้นได้เพราะผ่านประชามติ

ที่ผ่านมา สื่อได้นำเสนอข่าวว่า คุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์เห็นควรให้ทำประชามติเพื่อเป็นทางออกต่อความเห็นที่ขัดแย้ง แต่ถ้าฟังแกนนำเสื้อแดงปราศรัยผ่านโทรทัศน์ช่องของเขา จะพบว่า แกนนำก็ดีและการให้ความเห็นของพี่น้องเสื้อแดงก็ดี มุ่งไปที่การเดินหน้าวาระ 3 โดยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติ เพราะพวกเขาถือว่า ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เป็นประชามติมหาชนอยู่แล้ว มติของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า “ไม่สามารถมีมติในทางใดทางหนึ่งระหว่างเดินหน้าวาระ 3 หรือเดินหน้าทำประชามติ” แต่โยนให้ “สถาบันการศึกษา คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ สถาบันชั้นนำมาช่วยกันศึกษาว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ประเด็นใดบ้าง โดยจะใช้การศึกษาประมาณ 45-60 วัน” ซึ่งถือว่าเป็นการมุ่งเป้าไปที่การซื้อเวลาไม่ต่างจากสมัยคุณทักษิณ เพียงแต่คราวนี้ ไม่ใช่เพียงวิตกกลุ่มพันธมิตรฯกับศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังวิตกต่อพลังมวลชนคนเสื้อแดงด้วย ดังนั้น จึงซื้อเวลาต่อไปอีกสัก 3 เดือนไปพลางๆ ก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที และหากถึงกำหนดเวลา ผลออกมาเหมือนกับสมัยคุณทักษิณ นั่นคือ “มหาวิทยาลัยต่างๆ ต่างคนก็ต่างทำ เลยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ” ก็หมายความว่า ไม่มีบทสรุปที่จะเป็นข้อยุติให้กับพรรคเพื่อไทยได้ ถ้าจะถามว่า แนวโน้มของข้อสรุปของสถาบันการศึกษา-รัฐศาสตร์-นิติศาสตร์-สถาบันชั้นนำต่อประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญนี้ ดูๆ แล้ว ก็ไม่ง่ายนักที่จะหาข้อสรุปที่ต้องตรงกันเป็นเอกภาพ ไปๆ มาๆ อาจจะกลายเป็นต่างคนต่างทำเหมือนเดิมก็ได้ ! ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็น่าจะต้องลองคิดถึงข้อสรุปที่ไร้ข้อสรุปไว้เสียตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อหาทางแนวทางเสริมที่ปฏิบัติได้จริงและไม่สร้างปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตอันใกล้ต่อไป

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ฝ่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์โยนให้สถาบันการศึกษาไปศึกษา จะพบว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 40 คือ ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ ส่วนปัญหาของรัฐธรรมนูญ 50 ในสายตาคุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือ “รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 50 มีเจตนารมณ์ ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจพื้นฐานประชาธิปไตย....รัฐธรรมนูญมีความพยายามเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ และชัดเจนว่าผู้บริหารองค์กรอิสระไม่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 50 ใช้อำนาจเกินขอบเขต และมุ่งทำลายพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจ ด้วยความพยายามยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดาย รัฐธรรมนูญยังสร้างอุปสรรคปัญหาและทำความคล่องตัวในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศจนเกิดความล่าช้าในการสร้างความร่วมมือ” (มติชนออนไลน์ 6 มกราคม 2556 เวลา 20.00 น.) เข้าใจว่า แม้ว่าดูเผินๆ ข้อวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 40 ของคุณจารุพงศ์จะไปซ้ำกับที่มีผู้วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 40 ไว้ในประเด็นปัญหาเรื่องการไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ แต่เข้าใจว่า ผู้วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 40 ต้องการบอกว่า องค์กรอิสระและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ ส่วนคุณจารุพงศ์ต้องการบอกว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 ฝ่ายบริหารและนักการเมืองถูกองค์อิสระใช้อำนาจตรวจสอบเกินขอบเขต ไม่ถือว่าถ่วงดุลกัน เพราะฝ่ายบริหารและนักการเมืองไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระได้ อีกทั้งองค์กรอิสระก็ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน

นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 40 ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารและนักการเมือง ส่วนรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารและนักการเมืองได้ แต่มากไป ที่มากไปเพราะองค์กรอิสระไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของนักการเมืองที่เป็นตัวแทนการใช้อำนาจของประชาชน แต่ถ้าให้นักการเมืองแต่งตั้ง ก็จะกลับไปเหมือนเดิม คือไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 50 ก็ถูกมองว่าจะแก้เพื่อลบล้างผลของมาตรา 309 เพื่อช่วยคุณทักษิณ ส่วนฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ก็ถูกมองว่า ต้องการเก็บไว้เพื่อปกป้องการทำรัฐประหารและผลพวงของรัฐประหาร ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่เช่นนี้ ไม่ต้องเดินหน้าไปไหนกันมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม การเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะนำไปสู่การล้างผลพวงรัฐประหาร ก็ถือว่ามีเหตุผลชอบธรรม แต่ขณะเดียวกัน ข้อกังขาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของ พ.ต.ท. ทักษิณก็คงคั่งค้างคาใจอยู่ด้วย ดังนั้น หากจะให้เกิดความยุติธรรมที่นำไปสู่การปรองดองและพัฒนาทั้งประชาธิปไตยและพัฒนาคุณภาพของนักการ เมืองจริงๆ ก็ต้องหาทางแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรที่จะสามารถนำบุคคลทั้งสองที่เป็นตัวปัญหาในสายตาของประชาชนแต่ละฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นั่นคือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน จะต้องขึ้นถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความปรองดองจึงจะเป็นไปได้ !

(ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555 ความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง “การพัฒนาระบอบการเมืองประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมและเสมอภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” (HS1068A) สนับสนุนโดย สกอ. ตุลาคม 2554-กันยายน 2555)