เศรษฐกิจไทยติดบ่วง"กับดัก"เงินเฟ้อต่ำ?

เศรษฐกิจไทยติดบ่วง"กับดัก"เงินเฟ้อต่ำ?

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ "ไอเอ็มเอฟ" ได้เผยแพร่งานวิจัย

เรื่อง “Shock Therapy! What Role For Thai Monetary Policy?” โดยเป็นรายงานที่ศึกษาเรื่องบทบาทและประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ 3 ครั้ง

ครั้งแรก คือ วิกฤติการเงินโลกช่วงปี 2551-2552 ครั้งที่สอง คือ ช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ส่วนครั้งสุดท้าย คือ ช่วงมหาอุทกภัยในประเทศไทยช่วงปลายปี 2554

ผลศึกษาของรายงานวิจัยฉบับนี้ สรุปออกมาได้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ที่ยึด "กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น" หรือ Flexible Inflation Targeting (FIT) ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะช็อกทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ไอเอ็มเอฟ ยังยกย่องการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ที่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 3.75% มาอยู่ที่ 1.25% หรือลดลงรวมถึง 2.5% พร้อมกับปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด จึงช่วยให้เศรษฐกิจไทยในเวลานั้น สามารถรองรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้อย่างมาก

เช่นเดียวกับผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย "เกลนน์ สตีเว่นส์" ซึ่งกล่าวปาฐกถาชื่นชมการดำเนินงานของ ธปท. ในช่วงระหว่างการเดินทางมาเยือน ธปท. เมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา

สตีเว่นส์ บอกว่า ตลอด 12 ปีที่ประเทศไทยใช้กรอบนโยบายการเงินโดยยึด "เป้าหมายเงินเฟ้อ" ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยกรอบนโยบายนี้มีการดำเนินการที่โปร่งใส ได้รับความน่าเชื่อถือจากสาธารณชน ที่สำคัญยังช่วยรักษาสมดุลเศรษฐกิจให้มีเงินเฟ้อต่ำ และมีเสถียรภาพ ในขณะที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง

เพียงแต่ "สตีเว่นส์" เห็นว่า การประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของธนาคารกลาง ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพด้านการเงินตามไปด้วย เพราะการที่เศรษฐกิจมีเสถียรภาพดีเป็นเวลานาน ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจหรือประชาชนทั่วไปคิดว่า "ถ้าเพิ่มความเสี่ยงการลงทุนอีกนิดก็จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น" คนส่วนใหญ่จึงยอมก่อหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาในท้ายที่สุดถ้าไม่ระมัดระวัง

ปาฐกถาของ "สตีเว่นส์" ในคราวนั้น เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดว่า "นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ" ที่คนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเป็นกรอบนโยบายการเงินที่ดีสุดในเวลานี้ แต่ก็มี "กับดัก" อยู่ภายในตัวเอง และอดทำให้คิดตามไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่บ่วงกับดักนั้นอยู่หรือไม่?

ถ้าดูรายงานข้อมูลภาวะสังคมของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สศช." เกี่ยวกับตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือน พบว่า สัดส่วนเงินฝากต่อหนี้สินครัวเรือนและสถาบันไม่แสวงหากำไร ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 อยู่ที่ 1.4 เท่า ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่องจากปี 2550 ที่อยู่ระดับ 1.7 เท่า สะท้อนชัดว่า ครัวเรือนมีพฤติกรรมก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการสะสมเงินฝาก

นอกจากนี้ถ้าดูยอดคงค้างของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในช่วงเดียวกัน พบว่ามียอดคงค้างรวมกว่า 2.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 20.4% ในขณะที่ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ "เอ็นพีแอล" จากสินเชื่อกลุ่มดังกล่าว เพิ่มขึ้น 25.1% หรือคิดเป็นมูลค่า 56,527 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่าความสามารถในการชำระหนี้คืนของประชาชนเริ่มลดลง โดยเฉพาะหนี้ประชาชนรายย่อย

ตัวเลขการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ ในรายงานของ สศช. บอกเอาไว้ว่า ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินไม่ถาวร และจากความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ที่ลดลงนั้น ก็ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวมากขึ้น ซึ่ง สศช. เห็นว่า เป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวม ราคาอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีตลาดหุ้น ที่ถีบตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เมื่อกวาดสายตามองตัวเลขเหล่านี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่บ่วง "กับดัก" นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหรือไม่!!?