วิชาการไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง(1)

วิชาการไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง(1)

องค์กรส่วนใหญ่ในบ้านเรามักจะมีองค์ประกอบในการพิจารณาผู้สมัครงานเพียงใม่กี่ข้อ อาทิสถาบันการศึกษาของผู้สมัคร หรือคะแนนเฉลี่ยสะสม

ซึ่งเป็นการพิจารณาเบื้องต้นก่อนจะผ่านเข้าสู่รอบถัดไปซึ่งต้องอาศัยการสัมภาษณ์พูดคุย

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ก็คงพอเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาในลักษณะนี้เพราะมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก หากจะให้พิจารณาเป็นรายบุคคลไปก็คงล่าช้าเกินความจำเป็น ดังนั้นไม่น่าแปลกใจอะไรที่เราจะเห็นพ่อแม่ของเราเคี่ยวเข็ญให้ตั้งใจเรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก

มาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่แตกต่างไปจากเดิมนัก จนน่าคิดว่าเรากดดันเด็กมากเกินไปหรือไม่นับตั้งแต่สอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เมื่อเข้าไปได้แล้วก็ยังต้องกดดันให้เรียนได้คะแนนสูงๆ จนหลายๆ ครอบครัวต้องดุด่าทุบตีลูกเพื่อลงโทษที่ผลการเรียนตกต่ำลง

เมื่อลูกเรียนช้าจึงกลายเป็นปัญหาที่ทำให้พ่อแม่กลุ้มใจมากที่สุด เพราะกลัวอนาคตของลูกจะไม่ดีอย่างที่คาดหวัง เพราะพ่อแม่ทุกคนเชื่อว่าหากลูกเรียนเก่ง ก็จะทำให้ได้ศึกษาต่อในสถาบันที่มีแต่คนเก่ง และเมื่อจบมาก็ต้องทำงานเก่ง เติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ในอนาคต

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วลูกของเราอาจไม่เก่งวิชาการ ไม่ได้มีผลการเรียนโดดเด่นกว่าเพื่อนฝูง แต่ชอบทำกิจกรรม ชอบความเป็นผู้นำ ถึงจะเรียนจบช้ากว่าเพื่อน แต่ก็ไม่มีอะไรบอกว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเมื่อเทียบกับเด็กที่เรียนเก่งกว่า

บทพิสูจน์ในเรื่องนี้มีให้เราเห็นมากมาย อาทินายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลที่พาอังกฤษฝ่ามรสุมใหญ่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เคยถูกวินิจฉัยว่าเรียนช้าจนมีผลการเรียนย่ำแย่แต่กลับเติบใหญ่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ

หรือคนดังของโลกที่เรียนไม่จบแต่กลับสร้างผลงานสะท้านโลกก็มีมากมาย เช่นสตีฟ จ็อบส์ผู้ก่อตั้งแอ๊ปเปิ้ล หรือแม้กระทั่ง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ที่เรารู้จักกันดี ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทำให้เราต้องขบคิดกันอีกครั้งว่าความโดดเด่นด้านวิชาการเท่านั้นหรือที่จะทำให้คนๆ นั้นประสบความสำเร็จได้ในชีวิต

ผมเชื่อว่าการศึกษาที่ดีจะดึงศักยภาพของนักเรียนให้ระเบิดออกมาได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นด้านวิชาการเท่านั้น ความสามารถที่แฝงอยู่ในตัวเด็กแต่ละคนจึงต้องถูกจุดประกายให้ฉายแววออกมา ต่อยอดให้เขาพัฒนาขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

นั่นคือวัตถุประสงค์และแก่นแท้ของการศึกษา ซึ่งในแต่ละประเทศอาจไม่เหมือนกัน จึงต้องมีแนวทางที่ต่างกันไปทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว ไปจนถึงประเทศที่รอการพัฒนา ที่มีทรัพยากรและระบบการจัดการที่แตกต่างกันไปตามแต่ฐานะของแต่ละประเทศ

แต่น่าเสียดายที่การศึกษาในบ้านเราเคยชินกับระบบ “สำเร็จรูป” ที่เปรียบเสมือนการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ คือให้แต่อาหารที่เร่งการเติบโต เพื่อให้โตเร็วๆ เพราะคิดว่าได้ราคาดี แต่กลับกลายเป็นว่าเป็ดไก่ที่ผ่านการเลี้ยงแบบธรรมชาติกลับมีราคาสูงกว่าเพราะเนื้อแน่นกว่า

เช่นเดียวกับการเรียนรู้ที่เร่งอัดฉีดวิชาการให้เด็กเพื่อสอบได้คะแนนสูงๆ แล้วหวังให้เข้าสถาบันการศึกษาชั้นนำได้ เมื่อเทียบกับเด็กที่ค่อยๆ เรียนรู้และกลั่นกรองความรู้ของตัวเองขึ้นมาตามความชอบในแต่ละสาขา ก็แน่นอนว่าเด็กกลุ่มหลังย่อมมีความรู้ความเข้าใจสูงกว่าเพราะเป็นความรู้ที่เกิดจากความใฝ่รู้ของตัวเอง

(อ่านต่ออังคารหน้า)