เสียงจาก “เมืองน่าอยู่” ในเทศกาลปีใหม่

เสียงจาก “เมืองน่าอยู่” ในเทศกาลปีใหม่

นักท่องเที่ยว 2 ล้านกว่าคนที่ทะลักเข้าไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไปนี้ เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เดินทางไปถึง 10 เมืองน่าอยู่

จัดอันดับด้วยการวิเคราะห์ดัชนีความน่าอยู่ของเทศบาลเมือง 124 แห่งทั่วประเทศ จำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้นในทันทีทันใดเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ในเมืองน่าอยู่ ทั้ง 10 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมากกว่าชาวต่างประเทศ

เทียบกับเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ ณ เมืองพะเยา อันดับ 6 ใน 10 เมืองน่าอยู่ จำนวนคนและรถที่เพิ่มขึ้นมีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

โรงแรม และโดยเฉพาะโฮมสเตย์ที่กระแสมาแรงต่างรับอานิสงส์การท่องเที่ยวตามเทศกาลจนแน่นทุกแห่ง

จากสี่แยกที่รถไม่ติดนานกว่าไฟแดงหนึ่งครั้ง หรือสองครั้งในช่วงเทศกาลอื่นๆ ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านไปนี้ รถติดไฟแดงนานกว่า 3-4 ครั้งที่ยูเทิร์นสี่แยกประตูชัยจนทำให้ชาวพะเยาบอกกล่าวกันให้เลี่ยงไปอ้อมใช้เส้นทางโน้นเส้นทางนี้

น้ำกว๊านซึ่งขณะนี้เลียบฝั่งเต็มไปด้วยผักตบชวาลอยเกลื่อน มีรถยนต์และรถบัสทัวร์ที่เข้ามาจอดจนถึงถนนชายกว๊านแน่นขนัด

ภูชี้ฟ้า จุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองพะเยา มีคนขึ้นไปจนแทบจะไม่ที่ยืน ณ จุดชมวิว

บ้างก็ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรถคันแรกด้วย จึงทำให้มีรถในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น อีกจำนวนหนึ่งถือโอกาสใช้เทศกาลนี้ขับรถกลับภูมิลำเนาเดิม ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยต่างถิ่นทั้งหลายที่มาจนถึงเมืองน่าอยู่เล็กๆ เหล่านี้ถ้ามาเอง ไม่อาศัยบัสทัวร์เป็นคันรถ ต่างก็ขับรถมาเองเพราะในต่างจังหวัดและเมืองเล็ก เราชาวไทยพึ่งพาขนส่งสาธารณะแทบไม่ได้เลย การจะเช่ารถเหมารถเล็กในท้องที่ก็ไม่ง่ายและราคาค่อนข้างแพง จะไปไหนมาไหนในตัวเมือง เช่น ไปกินข้าว ไปชมสถานที่ต่างๆ และไปชมสินค้า ก็กลายเป็นเรื่องยากถ้าไม่ใช่ยังหนุ่มและสาวมาคนเดียว ยิ่งถ้ามีเด็กมีผู้ใหญ่ผู้สูงอายุด้วย ก็อย่าหวังเลยจะไปไหนมาไหนจากที่พักได้ง่ายๆ ที่จะเดินทางไปอำเภอและตำบลรายรอบก็จงลืมไปเลย กว่าจะไปถึงจุดขึ้นรถสองแถวซึ่งในช่วงเทศกาลรถมีน้อยลง ก็หมดแรงหมดเวลา

จำนวนรถจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นในเมืองน่าอยู่เหล่านี้ได้เพิ่มมลพิษด้านต่างๆ เช่น อากาศ ขยะ น้ำเสีย ในทันทีทันใดสักเท่าไร สาธารณูปโภคพื้นฐานมีสมรรถนะรองรับได้เท่าไร ทันสถานการณ์หรือไม่ นี้เป็นปัญหาใหม่ของเมืองน่าอยู่ 10 แห่งในช่วงเทศกาล

ชาวเมืองน่าอยู่ จึงควรชำเลืองดูเมืองใหญ่ที่นักท่องเที่ยวล้นตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย พัทยา กระบี่ ฯ เสียบ้าง ขนาดเป็นเมืองเทศบาลขนาดใหญ่ มีการเตรียมการรับมือ ปัญหาขยะ อากาศเสีย น้ำเสีย ได้เกิดขึ้นและสะสมนานในบางที่เสียจนชาวบ้านชาวเมืองเดินขบวน รวมตัวกันปิดถนนห้ามรถขยะเข้า ก็เกิดแล้ว เช่น เมื่อเดือนตุลาที่ผ่านมานี้เอง ที่ แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเสียด้วย

จึงน่าสำรวจดูอย่างยิ่งว่า เมืองน่าอยู่ 10 แห่ง อาทิเช่น อันดับหนึ่ง (เมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี) อันดับสอง (เมืองแม่ฮ่องสอน) อันดับสาม (เมืองน่าน) และอันดับถัดๆ ไป นั้น มลพิษต่างๆ ในช่วงเทศกาลเกินกำลังความสามารถของเทศบาลท้องถิ่นที่จะบริหารจัดการสักเพียงใด จะเกิดการสะสมนานเท่าใด เสี่ยงต่อการสะสมในระยะยาวเพียงใดจนในที่สุดยากจะแก้ไข

นอกจากนั้น ณ เมืองน่าอยู่ 10 แห่งนี้ อนาคตคุณภาพชีวิตประจำวันของประชาชนผู้อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมจะเป็นฉันใดในกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะทำให้บริเวณเมืองชายแดนต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ กำลังจะต้องพบกับอนาคตสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (เมืองน่าอยู่อันดับ 6 เมืองพะเยา) ตลาดอินโดจีน (เมืองน่าอยู่อันดับ 5 เมืองมุกดาหาร และอันดับ 8 เมืองนครพนม) เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ฯ ตลอดจนเมืองน่าอยู่อันดับ 9 เมืองกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษอันเป็นที่ตั้งของทางขึ้นสู่ปราสาทพระวิหาร มีสถานท่องเที่ยว ผามออีแดงซึ่งปัจจุบันยังปิดต่อไปไม่มีกำหนดเพราะกรณีพิพาทเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยต่อไปเมื่อสามารถแก้ไขข้อพิพาทสำเร็จ ก็จะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่จะดึงดูดทั้งรถและคนเข้าไปจำนวนมหาศาล

โครงการพัฒนาและการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น พัฒนากว๊านพะเยาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การจะสร้างสะพานขนาดใหญ่ การจะสร้างแหล่งท่องเที่ยว แบบ “บึงฉวาก” การจะให้กลุ่มทุนต่างชาติ (เช่น ของจีนซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน) เข้ามาลงทุนในเมืองพะเยา กลุ่มทำทัวร์ใหญ่จากกรุงเทพฯเข้ามาลงทุน การจะสร้างโฮมสเตย์ดูแลคนชราชาวญี่ปุ่น ชาวจีน ณ ชายกว๊านฝั่งตำบลแม่นาเรือ บ้านสาง บ้านต๋อม ฯ ก็ดี เหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงความคิด หรือโครงการที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่คนในท้องถิ่นได้ติดตามมีความรู้เท่าทันหรือไม่

สภาพที่คนไทยเราไม่รู้เรื่องไม่รู้ทันความเปลี่ยนแปลงต่าง (ill-informed) นี้มักทำให้เกิดการกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว โดยเฉพาะในด้านมลพิษที่เทศบาลเมืองขนาดเล็กมักไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการอะไรที่ทันกับความเปลี่ยนแปลง

แบบเดียวกับลูกน้ำกว๊านประมงพื้นบ้านที่ถูกผลักห่างออกจากน้ำกว๊านไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีการพัฒนากว๊าน จนในที่สุดแม้แต่ท่าเรือจุดขายปลาขายกุ้งก็ไม่มีให้ น่าห่วงที่สุดก็ คือ คนพื้นเมืองตัวเล็กตัวน้อยที่จะถูกกระแสทุนใหญ่ต่างชาติและกรุงเทพฯร่วมกับคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามากวาดต้อนให้พวกเขาต้องออกไปจากภูมิลำเนาเดิมด้วยการขายที่ดินบ้าง ถูกเวนคืนบ้าง หรือต้องย้ายออกเพราะอยู่ต่อไปไม่ได้ ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยรายได้ไม่เพิ่ม มีโอกาสนิดหน่อยเพียงเป็นแรงงานย่อยๆ รายวันรายเดือนไปตามยถา

มลพิษในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้นเองของกระแสทุนใหญ่ที่จะโหมเข้ามาภายในเร็ววันนี้ เราและลูกหลานของเราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร