ชักเข้าชักออกสำหรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ชักเข้าชักออกสำหรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้รัฐบาลที่พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำมีเสียงเบ็ดเสร็จในสภา ก็ไม่อาจจะ "ฟันธง"

ว่าจะทำประชามติอย่างไร หรือจะสวนศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการโหวตวาระ 3 ไปเลย "รัฐธรรมนูญ" กลายเป็นของแสลงสำหรับพรรคเพื่อไทย สำหรับรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ไม่กล้าเดินบุ่มบ่าม สุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาล

>>>หากให้ประเมินการประคองอายุรัฐบาลต่อไป กับการเสี่ยงแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะทำให้รัฐบาลอายุสั้นได้ นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องเลือกทางแรกอยู่แล้ว เพราะในปี 2556 จากต้นปีถึงกลางปี (ม.ค.-มิ.ย.) มีเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทที่จะต้องใช้จ่ายผ่านโครงการแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน ยังไม่นับรวมในปีนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังจะออกพระราชบัญญัติกู้เงิน ที่มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ 2.2 ล้านล้านบาท

>>> พรรคเพื่อไทย เคยโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ ว่า "กู้มาโกง" จะต้องปิดช่องโห่วนี้ให้ได้เช่นกัน และในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ วันนี้ (3 ม.ค.) จะมีการพิจารณาเรื่องการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท รวมถึงมาตรการที่จะรับมือกับการขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

>>> จากเรื่องค่าแรงไปดู ความเคลื่นอไหวของประธานชมรมนักกฎหมายพิทักษ์ผลประโยชน์รัฐ ธนเดช พ่วงพูล ได้มีหนังสือร้องทุกข์ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ดังนี้

>>> 1) กรณี ประธานกรรมการ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) สุรพล นิติไกรพจน์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยได้มีการยกเลิกคำสั่ง ที่ 30/2553 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2553 และแต่งตั้งให้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สิทธิศักดิ์ เอกพจน์ เป็นประธานกรรมการในฐานะผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด มีสาเหตุใดที่จะต้องยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

>>> 2)เหตุใดบอร์ด อสมท.จึงได้มีมติให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ให้เสนอผลประโยชน์เพิ่ม จาก 2,000 ล้านบาท อีก 405 ล้านบาท

>>>3) เหตุใด อสมท.ได้เคยมีหนังสือเตือนเรื่องการผิดสัญญาของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ แล้ว 2 ครั้ง ในเรื่องของทรัพย์สินที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ต้องโอนให้กับ อสมท.แต่ไม่มีการดำเนินการโอน และกรณีที่บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ได้ให้บริษัท บีอีซีเวิลด์ เป็นผู้ดำเนินการรายการออกอากาศ โดยสัญญาระบุให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น เพราะเป็นคนละนิติบุคคล แต่ อสมท. กลับให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ต่อสัญญาอีก

>>> หลังรับหนังสือ อธิบดีดีเอสไอ ธาริต เพ็งดิษฐ์ มอบหมายให้ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ธานินทร์เปรมปรีดิ์ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการทุจริต สืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงได้มีหนังสือเชิญกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ วิชัย มาลีนนท์ และสุรพล นิติไกรพจน์ มาให้ถ้อยคำ16 ม.ค.นี้