กรุงศรีขายตราสารหนี้6เดือนยิลด์2.85%

กรุงศรีขายตราสารหนี้6เดือนยิลด์2.85%

บลจ.กรุงศรีขายกองตราสารหนี้ 6 เดือน ลงทุนทั้งใน-ต่างประเทศ คาดผลตอบแทน 2.85%

นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า “บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M50 (KFFIX6M50) อายุประมาณ 6 เดือน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดย ธ.ธนชาต จก. มหาชน สัดส่วนการลงทุน 19% ตั๋วแลกเงินออกโดย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย จก. (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 19% ตั๋วแลกเงินออกโดย บ. อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จก. (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 19% เงินฝากธนาคาร Commercial Bank of Qatar (กาตาร์) สัดส่วนการลงทุน 10% เงินฝากธนาคาร Standard Chartered Bank (สิงคโปร์) สัดส่วนการลงทุน 10% เงินฝากธนาคาร Union National Bank (สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์) สัดส่วนการลงทุน 18% และเงินธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank (สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์) สัดส่วนการลงทุน 5% โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติประมาณ 2.85% ต่อปี และหลังครบกำหนดอายุโครงการบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน (KFCASH) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนต่อไป

"กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M50(KFFIX6M50) เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและต้องการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและสามารถลงทุนได้เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน"

สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย บริษัทยังคงมุมมองต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วง 3 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้าที่ระดับปานกลาง(Neutral) และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับร้อยละ 2.75 โดยมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะปรับขึ้นในระยะถัดจากนี้ และยังมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหากมีความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อชดเชยผลกระทบจากวิกฤติการเงินในยุโรปและสหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทยังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ไทยในปี 2555 และปี 2556 ลงสู่ระดับร้อยละ 5.55 และ 6.73 ตามลำดับ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.68 และ 7.35 ตามลำดับ หากแต่ยังคงสูงกว่าที่ตลาดโดยรวมคาดไว้ โดยยังคงคาดว่าแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยจะมาจากการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ