ปีใหม่ในขวดเก่า

ปีใหม่ในขวดเก่า

ความคาดหวังประการหนึ่งของผู้คนในสังคมไทยที่มีต่อปีใหม่ที่เดินทางมาถึงแล้วก็คือว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองจะสามารถคลี่คลาย

และมองเห็นทางออกจากความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องได้ไม่มากก็น้อย

คงเป็นที่ยอมรับกันไม่น้อยว่าปมปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่เป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงของสังคม ไม่ว่าจะในทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจหรือสังคมวัฒนธรรม ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนานได้สะสมความเกลียดชัง ความไม่วางใจ ความรุนแรง ระหว่างแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายให้เพิ่มพูนมากขึ้น

ในฐานะของคนเขียนบทความคนหนึ่งก็มีความต้องการเฉกเช่นเดียวกับคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความหวังมากขึ้นต่อการจัดการกับความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่

แน่นอนว่าแค่คำอวยพร การส่งความปรารถนาดี การมองโลกแง่บวกอาจมีส่วนทำให้เกิดความหวังในการมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ลำพังเพียงเท่านั้นก็ไม่อาจจะทำให้เงื่อนไขแห่งความขัดแย้งทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งยังไม่ต่างไปจากเดิมแล้วจะสามารถคาดหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่ก็มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก ความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกลุ่มผลประโยชน์ที่ขยายตัวออกกว้างขวาง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งดึงเอาประชาชนกลุ่มใหญ่เข้ามาอยู่ในกระบวนการต่อสู้ต่อรอง ทรรศนะและท่าทีของแต่ละฝ่ายที่มีต่อสถาบันทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

ทั้งกลุ่มคนที่มีเข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะชนชั้นนำแคบๆ เฉกเช่นในอดีต มีบุคคลและกลุ่มจำนวนมากที่เข้ามาสัมพันธ์รวมทั้งผลประโยชน์เกี่ยวข้องซึ่งพร้อมจะปกป้องผลประโยชน์ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตนเพียงอย่างเดียว หากยังหมายถึงทรรศนะหรือรสนิยมทางการเมืองของบุคคลหรือกลุ่มที่มีเสียง “ดัง” ทางการเมือง

(ลองนึกถึงนโยบายไทยเข้มแข็งในช่วงปลายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก็ต้อง “ถลุง” งบประมาณไปในหลักแสนล้านด้วยการพิจารณาแบบชั่วพริบตา แต่ไม่ปรากฏเสียงวิจารณ์อย่างสนั่นเมืองแต่อย่างใด กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเพราะฉะนั้นจึงไม่ควรวิจารณ์นโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด)

ดังนั้น ในความหมายเช่นนี้จึงย่อมไม่ได้จำกัดไว้กับนักการเมืองจากรัฐบาลเท่านั้น นักการเมืองฝ่ายค้าน ข้าราชการระดับสูง สถาบันทางวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ก็ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอย่างสำคัญ

การจะจัดการกับความขัดแย้งที่สั่งสมมาจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะการแตะลงไปที่ปัญหาหนึ่งก็อาจลากไปสู่ปัญหาอื่นๆ จนทำให้เกิดภาวะสับสนกับผู้คนว่าจะเลือกจัดการกับปัญหาบนหลักการใดกันแน่ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งคนจำนวนไม่น้อยอาจมองเห็นว่ามีปัญหาในการจัดวางโครงสร้างทางการเมือง แต่ครั้งพอถูกเอาไปสัมพันธ์กับการนิรโทษกรรมอดีตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นผลทำให้ต้องถอยจากจุดหนึ่งไปยืนในจุดที่กลายเป็นผู้คัดค้านไป (และไม่ว่าเรื่องทั้งสองจะสัมพันธ์กันจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงความพยายามในการขวางการแก้รัฐธรรมนูญก็ตาม)

โดยส่วนตัวผู้เขียนก็คิดว่าเงื่อนไขแวดล้อมของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากมายแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ความคาดหวังว่าเสื้อแต่ละสีจะจางลงก็เป็นเพียงความแค่ความคาดหวังที่ยากจะเป็นจริง

เมื่อเงื่อนไขความขัดแย้งของชนชั้นนำและบริบทแวดล้อมยังไม่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เงื่อนไขของความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงไปได้ก็คือการเปลี่ยนแปลงของสามัญชนในท่ามกลางความขัดแย้งนี้

ความขัดแย้งในห้วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีสามัญชนเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างสำคัญ แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายอาจมีจุดยืน ความเชื่อ อุดมการณ์ ที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยทั้งหลายซึ่งจะประกอบไปด้วยผู้คนอันหลากหลาย แต่สำหรับสังคมไทยในวันนี้ดูเหมือนจะไม่อนุญาตให้ความเห็นต่างสามารถดำรงอยู่คู่กันได้

จำเป็นที่จะต้องถอยออกมายืนอยู่บนหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยก็คือการยอมรับความแตกต่างระหว่างผู้คนแต่ละกลุ่ม ตราบเท่าที่ความเห็นนั้นไม่ได้เป็นอันตรายโดยตรงต่อบุคคลอื่น ต้องให้ความเคารพกติกาพื้นฐานหลักของสังคมคือรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมาย (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถแก้ไขได้ แม้กระทั่งคัมภีร์ทางศาสนาของเหล่าศาสดาต่างๆ ยังถูกตีความให้เปลี่ยนแปลงไปได้ นับประสาอะไรกับกฎเกณฑ์ที่มนุษย์เป็นผู้บัญญัติขึ้น)

ไม่มีสังคมไหนหรอกที่ทุกคนทุกกลุ่มมีความเห็นพ้องต้องกันไปหมด เฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางการเมืองก็ล้วนแต่มีความแตกต่างกันไปได้เพียงแต่ต้องมีกติกาอันเป็นที่ปฏิบัติร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อใดที่ไม่เป็นความเห็นของพวกตนแล้วจะกลายเป็นเรื่องที่ชั่วช้าไปหมด หากเห็นว่าความเห็นของตนถูกต้องกว่าก็ต้องพยายามชี้แจงให้ฝ่ายอื่นๆ มาเห็นพ้องกับตนให้ได้

ปีใหม่นี้จะยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน จะไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวหรือเทวดาองค์ใดสามารถมาโปรดให้สังคมไทยดีขึ้นในชั่วลัดนิ้วมือ จะมีก็ด้วยแต่สามัญชนทั้งหลายอย่างเราๆ ท่านๆ นั่นแหละครับที่จะช่วยทำให้สังคมแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเคารพซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่าเท่าเทียมโดยไม่ได้ต่ำต้อยน้อยค่าไปกว่ากัน