ปิดฉากนโยบายรถคันแรก

ปิดฉากนโยบายรถคันแรก

ปิดฉากกันไปแล้วสำหรับนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล โดยมียอดผู้ขอใช้สิทธ์คืนเงินจำนวนกว่า 1 ล้านคัน

เป็นเงินคืนกว่า 7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 100%

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายยอดฮิตเลยก็ว่าได้ เพราะคงมีผู้ซื้อจำนวนไม่น้อย ที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ และมีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ก็ยังคิดที่จะซื้อเพิ่มอีกคัน ด้วยเหตุผลที่ว่า คงจะไม่มีรัฐบาลใด หรือ นโยบายใด ที่"ให้"มากกว่านี้แล้ว เพราะมียอดเงินคืนแก่ผู้ซื้อนับแสนบาทต่อคัน ซึ่งไม่เคยมีสักครั้งในประวัติศาสตร์นโยบายประชานิยมของไทยที่จะจูงใจหรือให้มากกว่านี้

แม้นโยบายนี้จะจบลง แต่ผลพวงของนโยบายจะไม่จบแค่นี้ แค่ลองคิดว่า รถยนต์จำนวนกว่า 1 ล้านคันจะเข้ามาวิ่งบนถนนที่มีจำนวนเลนรถยนต์เท่าเดิม ขณะที่ ทุกวันนี้ คนในเมืองต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ชั่วโมงกว่าจะถึงที่ทำงานหรือเดินทางกลับบ้าน หรือ เด็กนักเรียนต้องใช้เวลาบนถนนเพื่อกินข้าวหรือนอน แทนที่จะทำกิจกรรมดังกล่าวที่บ้าน คาดการณ์ได้เลยว่า ปัญหาการจราจรติดขัดจะสร้างความปวดหัวแก่ผู้ใช้ถนนแค่ไหน

อีกผลพวงที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ต้องจับตา คือ จำนวนรถในโครงการที่ถูกไฟแนนซ์ยึด ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะระยะเวลา 1 ปี ภายหลังจากที่ผู้ซื้อได้รับเงินคืนจากรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว กรณีนี้ถือว่า จงใจให้ไฟแนนซ์ยึด แต่กรณีไม่จงใจ ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้สูงอีกเช่นกัน ด้วยเหตุที่ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระ

โดยทั้งสองกรณีที่ทำให้ถูกไฟแนนซ์ยึดนั้น จะไม่มีปัญหาที่ต้องหาเงินคืนให้แก่รัฐบาล เพราะได้ถือครองรถยนต์ครบ 1 ปี และ กรรมสิทธิ์ก็ตกอยู่กับไฟแนนซ์ตั้งแต่ต้น จึงไม่ผิดเงื่อนไขเรื่องการโอนก่อน 5 ปี แต่สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ด้วยเงินสด และ มีความจำเป็นต้องขายหรือเปลี่ยนมือ ซึ่งจะต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์เกิดขึ้น ก็จะต้องมีภาระนำเงินที่ได้มาคืนแก่รัฐ และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง โดยมีรัฐเป็นคู่กรณี หากไม่สามารถนำเงินมาคืนแก่รัฐได้

สำหรับประเด็นเรื่องปัญหาการผ่อนชำระนี้ มีผู้บริหารสถาบันการเงินรายหนึ่งให้ความเห็นว่า รัฐบาลได้สร้างบาปกรรมแก่ประขาชนผู้เข้าโครงการดังกล่าว โดยบาปกรรมที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้นโยบายที่จูงใจ โดยสร้างแต่ภาพที่ดี ไม่ว่า จะเป็นจำนวนเงินที่จะได้คืน หลอกล่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงที่ซบเซา เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจริง ก็จะกระทบต่อเงินในกระเป๋าของประชาชน กำลังที่จะผ่อนชำระค่างวดก็อาจจะมีปัญหา ถึงตอนนั้น ความทุกข์แก่ผู้ใช้นโยบายจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อมองผลพวงในแง่บวก แน่นอนว่า ความสะดวกสบายจากการเดินทางของผู้ซื้อรถจะดีขึ้น รัฐบาลได้ภาษีมูลค่าเพิ่มนับหมื่นล้านบาท และ ได้รับภาษีเงินได้จากธุรกิจรถยนต์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะสามารถทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปเกือบแสนล้านหรือไม่ แต่ที่แน่ๆธุรกิจรถยนต์ขนกำไรออกนอกประเทศไม่ใช่น้อย เพราะดูจากโบนัสที่ให้แก่พนักงานเฉลี่ยมากกว่า 6 เดือน และ สูงสุดที่ 8 เดือนครึ่งของค่ายรถยนต์บางแห่งแล้ว ก็พอจะเดาได้

เมื่อนโยบายดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่ผลพวงของนโยบายอาจไม่ได้จบลงได้สวยตามตัวเลข ถึงเวลานั้น ความรับผิดชอบที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลจะอยู่ที่ใด ต้องรอลุ้นกัน