หมดหวังเจรจาโลกร้อน ถึงเวลาสร้างโลกเย็นด้วยตนเอง

หมดหวังเจรจาโลกร้อน ถึงเวลาสร้างโลกเย็นด้วยตนเอง

ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ติดตามประเด็นโลกร้อน ต้องคิดใหม่เรื่องวิธีการและช่องทางการแก้ปัญหากันเสียที

คงผลการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 18 หรือ COP18 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ยำชัดว่าเราไม่สามารถปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจและเหล่าผู้นำประเทศเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของผืนพิภพนี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว

ความสำเร็จประการเดียวของการประชุมครั้งที่ผ่านมาคือการรักษาเวทีเจรจาให้ดำเนินต่อไปได้เท่านั้น ขณะที่เนื้อหาการเจรจาไม่มีความคืบหน้าในจะทำให้โลกหยุดร้อนแต่อย่างใด ซ้ำร้ายหลายประเด็นกลับพบกับความถดถอย ตัวอย่างเช่นไม่มีความตกลงชัดเจนใดๆ เรื่องการช่วยเหลือด้านการเงินจากประเทศร่ำรวยทั้งที่เคยตกลงกันไว้เมื่อสองปีก่อนในรูปของกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) แม้จะมีการต่ออายุพิธีสารเกียวโตระยะสอง ระหว่างปี ค.ศ. 2013 - 2020 ซึ่งดูเหมือนเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากการเจรจาครั้งนี้ แต่ความเป็นจริงกลับยังไม่สามารถกำหนดเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขที่ประเทศพัฒนาแล้วอ้างถึงก็จะพบว่า มีการระบุว่าจะลดการปล่อยก๊าซฯ ลงเพียงร้อยละ 18 ภายในปี 2020 จากร้อยละ 40 ที่ควรจะเป็นเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่าจะกู่ไม่กลับ ซ้ำร้าย ยังมีเพียง 35 ประเทศเท่านั้นที่ตกลงเข้าร่วมในการลดการปล่อยก๊าซฯ ภายใต้พิธีสารเกียวโตระยะสอง รวมปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ของประเทศเหล่านี้ได้เพียงร้อยละ 15 ของการปล่อยรวมของโลก เพราะประเทศใหญ่ๆ อย่าง รัสเซีย และญี่ปุ่น ก็ไม่ยอมเข้าร่วมพิธีสารเกียวโตระยะที่สอง ส่วนแคนาดาก็ถอนตัวจากพิธีสารฯ แล้ว และยังไม่นับสหรัฐอเมริกาที่ไม่เคยยอมเข้าร่วมพิธีสารฯ และพยายามเตะถ่วงการเจรจาเสมอมาว่าไปแล้วจะประชุมกันกี่ครั้งก็เหมือนเดิมทุกครั้ง

กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปก็หลีกเลี่ยงมาโดยตลอดกับความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมานับศตวรรษอย่างไร้ยางอาย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือแม้แต่ไทยเอง ก็ท่องคาถาบทเดิมว่าจะไม่ผูกพันการลดการปล่อยก๊าซฯ เนื่องจากเป็นประเทศที่ยังมีคนจนอยู่มาก จำเป็นที่จะต้องพัฒนาในรูปแบบต้นทุนต่ำต่อไป (พัฒนาไปปล่อยมลพิษไป) ทั้งที่การพัฒนาที่ว่านี้ดูเหมือนจะยังผลประโยชน์ให้กับคนรวยในประเทศมากกว่าคนจน ที่น่าเสียดายคือ หากจริงจังกับการลดการปล่อยก๊าซฯ แล้ว นอกจากจะเป็นไปได้โดยไม่ยาก ยังจะช่วยเพิ่มสวัสดิการให้คนจนอีกเสียด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยที่สามารถลดการก่อโลกร้อนผ่านการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (พ.ศ. 2554-2573) ที่รัฐบาลเองก็เป็นผู้อนุมัติ อันจะนำไปสู่ค่าไฟที่ถูกลง พร้อมทั้งลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ ซ้ำยังเดินหน้าเร่งการปล่อยก๊าซฯ ต่อไปผ่านแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2555 กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การเจรจาในเวทีสหประชาชาติ แม้ดูจากภายนอกเหมือนว่าจะทะเลาะและหาข้อยุติระหว่าง “ประเทศพัฒนาแล้ว” และ “ประเทศกำลังพัฒนา” ไม่ได้ แต่เมื่อมองทะลุลงไปจะสังเกตได้ว่าความ “ไม่คืบหน้า” ในการเจรจาคือผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนำทั้งในซีกโลกเหนือและใต้ การยืดเวลาแก้ไขปัญหาออกไปให้นานที่สุดเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเร่งขูดรีดทำกำไรจากโลกให้ได้มากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ยิ่งมีการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และ ก๊าซ มากขึ้นเท่าไร คนกลุ่มหนึ่งก็ยิ่งรวยขึ้นเท่านั้น เหล่านี้สะท้อนอยู่ในยุทธศาสตร์การเจรจาของรัฐบาลต่างๆ นั่นคือทำอย่างไรจึงจะสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบให้ได้มากที่สุด (คือไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซฯ) แทนที่จะทำอย่างไรจึงจะรักษาโลกใบนี้ไว้ได้ (คือยอมลดการปล่อยก๊าซฯ) ถึงที่สุดแล้ว เวทีสหประชาชาติซึ่งเคยเป็นความหวังจึงกลับกลายเป็นเพียงสนามแห่งการถ่วงเวลา

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพยายามขาย “ทางออกปลอม” อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นทางออกเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของคนไปจากปัญหาที่แท้จริง เช่น อุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดแรงกดดันต่อประเทศต้นเหตุของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นตลาดคาร์บอน กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) การขายศักยภาพการดูดซับก๊าซฯ ของป่า (REDD+) ฯลฯ

ซึ่งกลไกเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์เลยว่าจะแก้ไขหรือแม้แต่บรรเทาปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังได้ ซ้ำยังก่อปัญหาให้กับประชาชนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันจากโรงไฟฟ้าชีวมวล มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ติดชื่อใหม่ว่าถ่านหินสะอาด หรือการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่อาศัยอยู่กับป่า เป็นต้น และในพิธีสารเกียวโตระยะที่สองนี้ นอกจากจะคงกลไกต่างๆ เหล่านี้ไว้โดยไม่แก้ไขแล้ว ยังมีความพยายามในการเพิ่มกลไกใหม่เข้ามาอีก โดยมีตัวอย่างที่น่าเป็นห่วงคือการซื้อขายคาร์บอนระหว่างภาคเศรษฐกิจ (Sectoral Trading) ซึ่งรวมถึงภาคการเกษตรด้วย

ดังนั้น การรอคอยเหล่าผู้นำประเทศให้เป็นผู้กอบกู้โลก หรือฝากความหวังไว้กับการเจรจาภายใต้กรอบของสหประชาชาติเพียงอย่างเดียว จึงไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป ปฏิบัติการของฝ่ายประชาชน และผู้ที่ “ห่วงใย” โดยตรงต่อรัฐบาลของตนเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอันนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดและก็เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ความคิดสำคัญที่ต้องมองกันใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงระดับชาติ ไม่ต้องรอความคืบหน้าของการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศอีกต่อไป และรัฐบาลไทยเองก็สมควรเลิกอ้างคนจนเพื่อหลบเลี่ยงหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเสียที เพราะรู้ทั้งรู้ว่าการเดินบนเส้นทางเดิมที่เน้นแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณนั้นใกล้ถึงทางตันแล้ว