ปีใหม่กับการเคาท์ดาวน์วันหมดอายุคลื่น 1800MHz

ปีใหม่กับการเคาท์ดาวน์วันหมดอายุคลื่น 1800MHz

ปีมังกรสิ้นสุดไปพร้อมกับการรับวันใหม่กับปีงูเล็ก ซึ่งจะเป็นปีที่ทำให้อุตสาหกรรมสื่อสารและโทรคมนาคมปราดเปรียว

ฉลาดเฉลียวและว่องไวขนาดไหนเราต้องมาดูกันไป

จากการวิเคราะห์ของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่งสถาบันทีดีอาร์ไอ ได้ให้ความเห็นในการประชุมส่งท้ายปลายปีของศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยประเด็นท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ โดยระบุให้เห็นทั้งเรื่องของการให้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของโทรทัศน์ระบบภาคพื้น และเรื่องของการกระจายบริการบอร์ดแบนด์ไปสู่มือผู้บริโภค โดยทั้งสองประเด็นเป็นเรื่องของเจตนาเชิงนโยบายที่ต้องการโอนถ่ายเทคโนโลยีของประเทศให้ดีขึ้นและทันสมัยกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างเทคโนโลยีการสื่อสารให้ทันสมัยมิใช่เป็นเพียงการเพิ่มเติมฮาร์ดแวร์หรือซอฟแวร์เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการยกระดับบรรดาพีเพิลแวร์หรือ "คน" ผู้ใช้บริการเทคโนโลยีเหล่านั้นให้สามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย

ในด้านของโทรทัศน์ดิจิทัลนั้นเป็นที่แน่นอนว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นย่อมมีปัญหาทั้งเรื่องการโอนถ่ายเข้าสู่ระบบดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่มีความพร้อมอยู่แล้ว และในเรื่องของการปรับตัวของภาคครัวเรือน เพื่อรองรับระบบดิจิทัล ที่ย่อมมีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้นในช่วงแรกของการเปิดใช้ระบบดิจิทัลก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงระบบอนาล็อกคู่ขนานไปด้วย เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีการปรับตัวได้อย่างไม่ต้องเร่งรัดจนเกินไปและให้เทคโนโลยีพาคนไทยก้าวสู่ความทันสมัยอย่างเป็นองคาพยบใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่รองรับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อเท่านั้น

นอกจากนี้ สำหรับการตั้งรับความเปลี่ยนแปลงในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่คงหนีไม่พ้นประเด็นของการสิ้นสุดสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ จีเอสเอ็ม 1800 MHz ซึ่งในประมาณเดือนกันยายน 2556 นี้เอง บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด ที่ได้รับสัมปทานคลื่น 1800 กับบริษัท กสท. หรือ CAT Telecom กำลังจะสิ้นสุดสัญญาการใช้คลื่นดังกล่าว โดยทั้งสองบริษัทมีลูกค้าใช้บริการอยู่ประมาณ 17 ล้านราย ดังนั้น โจทย์ใหญ่ใจความของสัญญาสัมปทานที่กำลังจะหมดไปนี้คือ ทำอย่างไรให้การสิ้นสุดสัมปทานในครั้งนี้ไม่กระทบต่อผู้บริโภคที่ยังคงใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าในระบบสองจี

เห็นได้ชัดว่าในปี 2556 อุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคมจำเป็นต้องคิดหนักในเรื่องของการพาคนไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีที่ดีกว่าอย่างมียุทธศาสตร์และเป็นองคาพยบ โดยไม่กระทบสิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้แม้เจตนาของการเปลี่ยนผ่านจะมีความประสงค์ที่ต้องการให้คนไทยได้บริโภคเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่แพ้ใครๆ ในโลก แต่ก็ต้องไม่ลืมทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง เพียงเพราะเขาไม่สามารถอัพเดทตัวเองตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทันกาลกับที่นักนโยบายคาดหวังไว้

ทั้งนี้ ตามมาตรฐานสากลนั้น การเข้าถึงเทคโนโลยีต้องอยู่บนหลักการของการเข้าถึงอย่างถ้วนหน้า (Universal access) ซึ่งต้องไม่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือปัจจัยในเชิงกายภาพที่ปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้คน กล่าวคือ ราคาของเทคโนโลยีใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ดีขึ้นนั้นต้องไม่แพงจนเกินไป อีกทั้งการกระจายคลื่นความถี่ต่างๆ ต้องมีอุปกรณ์รองรับในอยู่ทั่วทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีอันเป็นสมบัติของชาติที่คนในประเทศควรได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มคน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตกยุค ล้าหลัง กลายเป็นปัญหาช่องว่างทางเทคโนโลยีอันเกิดจากความเร่งรัดเชิงนโยบายของอุตสาหกรรมนี้

การถูกทอดทิ้งของผู้บริโภคที่ติดอยู่กับเทคโนโลยีที่ล้าหลังกว่าต้องมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวควรเกิดจากความสมัครใจของผู้บริโภค ที่มีสิทธิเลือกที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีในแบบของตน ไม่ใช่เกิดมาจากการบังคับขู่เข็ญ อันเกิดมาจากความอหังการของนักนโยบายหรือแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมที่อยากจะขยายตลาดของตนไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ

แน่นอนว่า ผู้บริโภคย่อมมีทั้งกลุ่มที่ง่ายต่อการเปลี่ยนผ่านคือเป็นพวก Early adoptor และกลุ่มที่ยากต่อการเปลี่ยนผ่านหรือไปถึงขั้นต่อต้านการเปลี่ยนผ่าน คือพวก late adoptor ซึ่งถือเป็นเรื่องนานาจิตตัง อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีทั้งกลุ่มคนที่ตื่นเต้นและกลุ่มที่เฉยชากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งหากนักนโยบายมีการตระหนักและวางยุทธศาสตร์จัดกลุ่มผู้บริโภคอย่างเป็นระบบแล้ว การผ่องถ่ายผู้บริโภคเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ตามที่ตนหมายมั่นปั้นมือไว้ก็พอจะเห็นถึงเค้าลางของความสำเร็จ

สำหรับปี 2556 ที่จะมาถึงนี้ นักนโยบายอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติของเราคงจะออกนโยบายให้เทคโนโลยีและความคุ้มครองด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมใหม่ๆ กับผู้บริโภคอย่างเราอีกมากมาย ก็หวังใจว่าคงไม่ใจเร็วด่วนได้อัดฉีดเทคโนโลยีอย่างมากมายจนทำให้ประเทศไทยเรามีแต่ความทันสมัย แต่ยังขาดความศิวิไลซ์เพราะมีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่มากเกินไปด้วยเทอญ…สวัสดีปีใหม่ทุกท่าน