เหลื่อมล้ำไท้เก๊ก

เหลื่อมล้ำไท้เก๊ก

นี่คือ ทฤษฎีที่ 3 ของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" โดยปัญหาของความเหลื่อมล้ำนั้นมีมานานแล้วทั้งในประเทศไทย และ ประเทศอื่นๆ

ลองมาดูว่าเราจะแก้ไขปัญหาในจุดนี้ทั้งในมุมมองของเศรษฐกิจ สังคม อย่างไรกันได้บ้าง

ด้วยวิถีไท้เก๊ก คือจะเพิ่มแนวทางจาก 2 กลายเป็น 4 โดยปัจจุบันการพัฒนาประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ "ศูนย์กลาง AEC" อีกด้านก็คือพัฒนาเพื่อ "ลดเหลื่อมล้ำ" แต่ 2 เรื่องนี้ไปด้วยกันได้ยากเหลือเกิน เราจะทำให้ไปด้วยกันได้อย่างไร มาดูวิธีปัจจุบันก่อน

1. การพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง โดยใช้ กทม.เป็นศูนย์กลาง วิ่งไป พิษณุโลก นครราชสีมา ระยอง และ หัวหิน ก็จะพบว่าวิธีนี้จะทำให้ กทม.เป็นศูนย์กลางคมนาคมทั้งทางอากาศ และ ระบบราง อย่างไรก็ดี มีโอกาสทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นไปอีก เพราะ กทม.จะรวมศูนย์ความเจริญเอาไว้ และ ประเทศไทยก็ยังคงเน้นการเติบโตแบบ "โตเดี่ยว" ต่อไปอีกนานในอนาคต

2. การพัฒนาด่านชายแดน และ รถไฟรางคู่ ด้วยวิธีนี้เป็นการกระจายความเจริญออกรอบนอก กทม.และปริมณฑล ไปสู่ชนบทโดยอย่างไรก็ดี ไม่ได้พัฒนาให้ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะเป็นศูนย์กลางของ AEC ได้

และแล้วเราก็มาดูอีก 2 ทางที่เหลือ

3. ไม่พัฒนาเป็น "ศูนย์กลาง AEC" และ ยังเพิ่มเหลื่อมล้ำอีกด้วย เช่น โครงการรถยนต์คันแรก ไม่เพียงไม่พัฒนาการใช้ระบบรางของประเทศไทย ยังทำให้รายได้ภาครัฐลดลง เพิ่มปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษ และ ปัญหาการใช้น้ำมันฟุ่มเฟือยตามมาอีกมาก

4. นี่จึงเป็นน่าจะเป็นคำตอบของประเทศไทย คือ การพัฒนาสู่ศูนย์กลาง AEC และ ยังลดความเหลื่อมล้ำด้วย ซึ่งก็คือ วิธีเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาจาก กทม. แบบโตเดี่ยว เพิ่มเป็น "ไตรนคราแห่งสยาม" โดยวางตำแหน่งให้ "ขอนแก่นมหานคร" เป็นเมืองหลวงของ AEC เหนือ และ "สงขลามหานคร" เป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยงกับ AEC ใต้ ซึ่งมี 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย ซึ่งที่จริงแล้ว AEC ใต้มีขนาดของ GDP สูงกว่า 7 ประเทศที่เหลือถึง 2 เท่าตัว การสร้างเมืองให้เจริญแบบโตคู่ หรือ โต 3 เมือง จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของภูมิภาคลงได้ เช่น กรณีของประเทศญี่ปุ่น มีโตเกียว โอซาก้า ประเทศเกาหลีใต้ ก็มีโซล ปูซาน ประเทศจีน ก็มีปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ กวางเจา

โดย "ขอนแก่น" ควรลากรถไฟความเร็วสูงเข้าไป 3 เส้นทาง คือ 1. เส้นเหนือใต้ จาก คุนหมิง-เวียงจันทน์-ขอนแก่น-กทม.-ทวาย 2. เส้นตะวันออกตก จาก ย่างกุ้ง-พิษณุโลก-ขอนแก่น-สะหวันนะเขต-ดานัง 3.เส้นอาคเนย์จาก ขอนแก่น-นครวัด-พนมเปญ-โฮจิมินห์ แม้จะสร้างเส้นทางยาวขึ้นแต่ประเทศไทยอาจจะจ่ายน้อยลง นี่คือ แนวคิด "สร้างยาวขึ้นแต่จ่ายน้อยลง" เพราะเส้นทางเป็นการเชื่อม 6 ประเทศเข้าด้วยกัน (ไทย จีน ลาว พม่า กัมพูชา และ เวียดนาม) สามารถจะดึงการร่วมทุนจากเพื่อนบ้านทั้งภาครัฐและเอกชนได้ด้วย โดยให้ "ขอนแก่น" เป็นศูนย์กลางทั้งทางอากาศและระบบราง ประชากรก็อาจจะเพิ่มจากล้านกว่ากลายเป็น 5 ล้านคนได้ไม่ยาก นี่เป็นการสร้างความเจริญให้ขยายตัวออกจาก กทม.ไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคลง

สำหรับภาคใต้ "สงขลา" นั้น ควรพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงกับ สิงคโปร์และจาร์กาต้า และ รถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมไปยัง กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ รวมถึง น่าจะจัดเที่ยวบินตรงไปยังเมืองสำคัญของ "อินโดนีเซีย" ที่ถือว่าเป็นพี่เบิ้มของ AEC ด้วย การวางตำแหน่งให้ "สงขลามหานคร" เป็นเมืองหน้าด่านในการรองรับความเจริญของ AEC ใต้เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวจะทำให้ภูมิภาคแถบนั้นเจริญขึ้น ผู้คนอยู่ดีกินดี ปัญหาการก่อการร้าย 3 จังหวัดภาคใต้ก็น่าจะลดลงไปด้วย นอกจากลดความเหลื่อมล้ำแล้ว จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบอีกด้วย โดย 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็อาจจัดตั้งเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ยืมพลังความเจริญด้านทุนและเทคโนโลยีของมาเลเซียมาร่วมพัฒนาด้วยอีกแรง