หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย:โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย:โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

สวัสดีปีใหม่ 2556 ครับ วันนี้เป็นวันดีเป็นวันเริ่มต้นของพุทธศักราช 2556 ก็ขอให้อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย...

ดลบันดาลให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เจริญก้าวหน้าในกิจการงาน ทำมาค้าขายหรือประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จรุ่งเรืองต่อไป

วันแรกของปีใหม่ ขอเขียนถึงหลักสูตรการอบรมหลักสูตรใหม่เอี่ยม ที่จะเริ่มให้การอบรมตั้งแต่ต้นเดือน มกราคม 2556 นั่นคือ หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย โดยวิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ในบรรดาหลักสูตรการอบรมที่สถาบันของรัฐหรือองค์กรของเอกชน จัดให้มีขึ้น มีมากมายหลายสถาบัน หลายองค์กร แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมกันมาก เช่น หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ที่เรียกกันโดยย่อว่า วปอ. ที่โด่งดังมีชื่อเสียงมานานซึ่งปัจจุบันแยกออกเป็นสามหลักสูตรคือ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ปริญญาบัตร วปอ.) หลักสูตรการป้องกันกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปริญญาบัตร ปรอ.) หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐ เอกชน และการเมือง (ปริญญาบัตร วปม.) ต่อมามีหลักสูตรการอบรมของสถาบันพระปกเกล้า มากมายหลายหลักสูตร หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของสำนักงานศาลยุติธรรม หลักสูตรนักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง (บยป.) ของสำนักงานศาลปกครอง ในส่วนของภาคเอกชนที่เป็นที่นิยม เช่นหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ TEPCoT อันเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับกระทรวงพาณิชย์ และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) เป็นต้น

เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น คงต้องย้อนไปพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรตุลาการ คือ เป็นศาลตามที่บัญญัติในหมวด 10 ส่วนที่ 2 มีอำนาจหน้าที่โดยสังเขปคือ พิจารณาวินิจฉัยคดีตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น การพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของนักการเมืองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการพิจารณายุบพรรคการเมือง เป็นต้น และ นอกเหนือจากการพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังได้ทำหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พื้นฐานที่ประชาชนควรรู้ให้กับประชาชนด้วย โดยเฉพาะสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครอง ช่องทางการร้องขอให้วินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรมที่ประชาชนควรรู้ โดยจัดอบรมสัมมนาทั้งในส่วนกลาง และในต่างจังหวัด หากเป็นการจัดอบรมสัมมนาในต่างจังหวัด จะจัดร่วมกับศาลยุติธรรมในพื้นที่ โดยศาลยุติธรรมจะบรรยายให้ความรู้กฎหมายแพ่งอาญา ตลอดจนขั้นตอนการพิจารณาความคดีอาญาพื้นฐานที่ประชาชนควรรู้ควบคู่กันด้วย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงความเป็นนิติรัฐและการปกครองโดยหลักนิติธรรมกันค่อนข้างกว้างขวาง ที่สำคัญคือ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 3 วรรคสองก็ได้บัญญัติว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงอาจกล่าวได้ว่า การปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนจำนวนไม่น้อย มีความสับสนต่อความหมายของคำว่านิติรัฐ และนิติธรรมว่าแก่นแท้แล้วหมายถึงอะไร บางส่วนก็ไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกับประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีปัญหาว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้น เข้าใจความหมายของคำว่าหลักนิติธรรมแค่ไหนเพียงใด สอดคล้องไปในทางเดียวกันหรือไม่

ดังนั้น หากมีการจัดให้มีหลักสูตรอบรมให้ความรู้กับบุคลากรฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนถึงประชาชน ให้เข้าใจถึงความหมายของคำว่าหลักนิติธรรมอย่างถ่องแท้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างจริงจัง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญ โดย วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จึงจัดทำโครงการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตยขึ้น เริ่มให้การอบรมรุ่นที่ 1 ต้อนรับปีใหม่ 2556 ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2556

ตามเอกสารของโครงการอบรมหลักสูตร หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 1 หลักการและเหตุผลของการจัดทำโครงการ ได้กล่าวถึงหลักนิติธรรมไว้ตอนหนึ่ง น่าสนใจมาก ซึ่งสามารถใช้อธิบายความหมายของคำว่าหลักนิติธรรม ได้อย่างกระชับ สื่อถึงความหมายให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ คือ “หลักนิติธรรม (The rule of Law ) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า “ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมายและกฎหมายต้องตั้งอยู่บนความชอบธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและของมหาชนชาวสยาม” อาจกล่าวได้ว่าหลักการที่สำคัญที่สุดของหลักนิติธรรม คือการใช้อำนาจรัฐจะมีความชอบธรรมก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับกฎหมายที่ตราขึ้นโดยชอบ ซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อปัจเจกชนและประโยชน์ส่วนรวมของรัฐ หลักนิติธรรมจะเป็นหลักประกันผลประโยชน์ของปัจเจกชนและมหาชน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนกำกับอำนาจของภาครัฐในทุกภาคส่วนให้เป็นไปโดยธรรม ตามครรลองวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักนิติธรรมจะนำพาไปสู่การพัฒนาปประชาธิปไตยที่ยั่งยืน มีคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ...”

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม เจ้าของโครงการตั้งความหวังไว้ว่า เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของบุคลากรทั้งในภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกับวิถีการปกครองตามหลักนิติธรรมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเน้นหลักธรรมาธิปไตย หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหลักการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ตามข้อมูลเบื้องต้น ผู้เข้ารับการอบรมรุ่นที่ 1 ประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานแผนกคดีในศาลอุทธรณ์ ตุลาการศาลทหารสูงสุด ข้าราชการระดับ 10 จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง ผู้บริหารองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้บริหารระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม เอกชน ตลอดจนผู้ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควรเป็นผู้เข้ารับการอบรม รวม 51 คน ก็คาดหวังว่าการอบรมหลักสูตรนี้จะสัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม